พาเที่ยว Cycle Mode International ตอนที่ 2: Look, De Rosa, Canyon, SRAM, ax-lightness

ในตอนที่ 1 เราได้แนะนำไปว่านิทรรศการจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นนั้นคืองานที่ผู้นำเข้ามาช่วยตัวแทนโปรโมตสินค้า ด้วยการนำสินค้าตัวอย่างมาให้ลองขี่และลองสวมใส่ แต่ไม่มีของอะไรขายในงาน ถ้าถูกใจก็สามารถติดต่อตัวแทนใกล้บ้านได้เลย

เมื่อได้ชมสินค้าตัวอย่างสำหรับทดลองกันไปแล้ว ในตอนที่ 2 นี้จะมาดูสินค้าจัดแสดงกันบ้างครับ

  • Look 785 Huez RS คันนี้ 5.7 กก. ไม่รวมบันได สวยงามและเบาหวิว
  • ความคลาสสิค
  • ขาจับกระติกคาร์บอนแต่มีแถบยางเป็นริ้ว ๆ อยู่ตรงน็อตตัวล่าง ฉลาดดีครับ เพราะด้วยธรรมชาติของคาร์บอนที่ยืดหดไม่ค่อยได้ ถ้าทำมาให้จับแน่นก็เสียบขวดแทบไม่เข้า ถ้าทำมาให้ดึงออกง่ายบางทีก็ขวดหลุดกระเด็น แถบยางนี้น่าจะช่วยจับขวดได้อีกแรง
  • Look 795 Blade RS เมื่อเทียบกับ 795 Aerolight แล้วสิ่งที่เห็นได้ชัดคือใช้เบรคมาตรฐาน ไม่ได้ฝังในตะเกียบแล้ว ใช้ขาจานมาตรฐานกับกะโหลก BB386EVO ไม่ได้ใช้ขาจาน Zed3 คู่กับ BB65 ของ Look แล้ว และหลักอานเป็นแบบปรกติไม่ใช่เสากระโดงแล้ว รวมกันทุกประการดูแลง่ายกว่ากันเยอะทีเดียว (ขออภัยที่โฟกัสไม่เข้าครับ)
  • เบรคหลังไม่ได้ยึดกับตะเกียบหลัง แต่ยึดกับท่อนั่งแทน เพื่อให้ตะเกียบหลังที่ถ่างกว้างออกได้ทำหน้าที่ของมันตามที่ออกแบบมา คือให้ตัวเมื่อเจอแรงกระแทก ถ้ามีสะพานเชื่อมไว้ยึดเบรคหลัง ตะเกียบจะให้ตัวได้ไม่ดีเท่าที่วิศวกรตั้งใจ คิดว่าเป็นการออกแบบที่น่าสนใจดี
  • Look 785 รุ่นดิสก์เบรคก็มีสำหรับคนที่ชอบดิสก์
  • Cannondale เอา Topstone Carbon มาโชว์ ซึ่งเป็นจักรยานรุ่นใหม่ล่าสุดของ Cannondale และเป็นจักรยานกราเวล
  • เลิกหวังพึ่งการให้ตัวของโครงสร้างที่แข็งทื่อ แล้วยึดตะเกียบหลังกับท่อนั่งด้วยจุดหมุนให้รู้แล้วรู้รอดกันไป รูดทางกรวดทางหินฉลุยแน่นอน
  • De Rosa นี่ดังพอประมาณในญี่ปุ่นต่างจากบ้านเรา บูธใหญ่โตและมีคนเข้าออกตลอดเวลา จากที่เคยคุยกับคนญี่ปุ่นมา ผู้ใช้หลายคนชอบรูปหัวใจในโลโก้ของ De Rosa เพราะน่ารักและมีเอกลักษณ์ดี อีกส่วนหนึ่งเพราะสปอนเซอร์ทีม Nippo-Vini Fantini-Faizanè ทีมลูกครึ่งอิตาลี-ญี่ปุ่นที่มีทั้งนักปั่นอิตาลีและญี่ปุ่นแข่งอยู่ในระดับ Pro Continental แต่น่าเสียดายที่ทีมจะปิดตัวสิ้นฤดูกาลนี้ (ก็คือเพิ่งปิดไปหมาด ๆ) ในภาพนี้เป็นจักรยานไทเทเนียมรุ่น Treduecinque ซึ่งไม่มีสต๊อกขาย สั่งตัดตามออเดอร์เท่านั้น แน่นอนว่าทำในอิตาลีทุกคันครับ
  • ส่วนคันนี้เป็นจักรยานเหล็ก Nuovo Classico ซึ่งมีทั้งสต๊อกไซส์ และคัสตอมไซส์ตามเจ้าของ ทำจากท่อ Dedecciai Zerouno (01) ทั้งคัน สวยงามมาก ๆ
  • Dizo เป็นแบรนด์จักรยานจากเมืองเกาสงในไต้หวัน รับทำสินค้าคาร์บอนให้แบรนด์อื่น ๆ มาเกือบ 30 ปี แต่เพิ่งสร้างแบรนด์ของตัวเองโดยเริ่มมาโปรโมตญี่ปุ่นเป็นที่แรก ๆ (แต่ในเว็บไซต์ของ Dizo วิดิโอโปรโมตแบรนด์ถ่ายที่ดอยปุยนะ ฮา) เห็นสีแล้วสะดุดตาเลยต้องเดินมาดูสักหน่อย
  • งานสีสวยงามมาก ๆ เห็นแล้วรักเลย พวกบริษัทที่รับทำ OEM มายาวนานมักทำจักรยานได้เนี๊ยบ งานดีทั้งข้างนอกและข้างใน (ถ้าผ่าเฟรมเข้าไปดู “มัก” จะสวย) และได้มาตรฐาน
  • มีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่ด้านใน
  • Canyon เอา Ultimate CF SLX ของริชาร์ด คาราพาซ ที่ชนะ Giro d’Italia ปีล่าสุดมาจัดแสดง ชมพูได้ใจจริง ๆ
  • รวมถึงเอาเฟรม Ultimate CF EVO ที่ทำสีแล้วและติดดร็อปเอาท์เสร็จแล้วมาแขวนให้ดูกันจะ ๆ ด้วยว่า 630 กรัมเท่านั้น เบาสุด ๆ
  • Pinarello F12 ของเอแกน เบอร์นาล พร้อมลายเซ็นฟาอุสโต พินาเรลโล เขียนว่า Grazie Egan (ขอบคุณนะเอแกน)
  • ส่วนคันนี้ F12 สีแชมป์สหราชอาณาจักรของเบ็น สวิฟต์
  • คันนี้ของใคร ถ้าทายถูก… ไม่มีคะแนนให้ครับเพราะง่ายเกิน ฮา
  • Factor O2 VAM Disc คันนี้ 6.67 กก. ทั้งที่เป็นจักรยานดิสก์ เบากว่าน้ำหนักขั้นต่ำ UCI ได้โดยไม่ต้องพยายามอะไรมาก ยางก็ยางซ้อม Vittoria Rubino Pro และชุดขับ SRAM RED eTap AXS ก็ไม่ได้เบาที่สุด แต่เวลาจอดติดไฟแดงห้ามลงมานั่งตรงท่อบนนะครับ ฮา (มีคำเตือนแปะอยู่ว่าห้ามนั่ง)
  • ฝาปิดเฮดเซ็ตสวยงามและกลมกลืนกับรถมาก ๆ
  • Factor เลือกใช้กะโหลก BBright ซึ่งผมว่าน่าสนใจ เพราะเป็นมาตรฐานกะโหลกที่ Cervelo เป็นคนเสนอ และจนกระทั่ง Factor เข้าสู่ตลาด ก็มีแค่ Cervelo คนเดียวที่ใช้
  • สำหรับรุ่นริมเบรค ใช้เบรคไดเร็คเมานท์ทั้งหน้าและหลัง แต่เบรค SRAM S900 แม้จะเข้าเซ็ตกันกับชุดขับ SRAM แต่ทุกสำนักข่าวที่ได้ลองบอกว่าเบรคไม่ได้เรื่องเลย (อย่างว่า “S900” ก็คือ non-series ในภาษา SRAM นั่นแหละ) และสู้ Ultegra หรือ Dura-Ace direct-mount ไม่ได้เลย เหมือนทำมาเพื่อแค่ให้ Katusha-Alpecin ใช้กับ Canyon Aeroad เท่านั้น จะได้ไม่ต้องเอาเบรคชิมาโน่มาขีดทับด้วยปากกาเมจิค
  • Factor Vista CHPT3 คันนี้น่าสนใจตรงติดตั้งเกียร์ไฟฟ้า D1x ของ Archer Components ซึ่งไม่ใช่กรุ๊ปไฟฟ้าเสียทีเดียว แต่มันคือมอเตอร์ที่ทำหน้าที่ดึงลวดแทนเรา (กล่องดำ ๆ ตรงตะเกียบโซ่) ใช้คู่กับตีนผียี่ห้ออะไรก็ได้ ควบคุมด้วยรีโมตไร้สาย (รัดไว้ด้วยเคเบิลไทที่ชิฟเตอร์ขวา มองไม่เห็นจากมุมนี้) ข้อเสียคือใช้ได้กับเฉพาะระบบ 1x เท่านั้น
  • CHPT3 เป็นสตูดิโอออกแบบจากเมืองจิโรนา ประเทศสเปน ก่อตั้งโดยเดวิด มิลลาร์ อดีตโปร เน้นออกผลิตภัณฑ์คอลแล็บกับแบรนด์ต่าง ๆ ด้วยสีสันและลวดลายสนุก ๆ และสวยงาม
  • ของเบาจริงต้อง ax lightness Vial Evo Ultra คันนี้ครับ 4.18 กก. เท่านั้น ลองเอานิ้วชี้นิ้วเดียวยกก็ยังไหว ท้าทายแรงโน้มถ่วงยิ่งนัก รีดน้ำหนักขนาดนี้ ทุกกรัมมีค่า ขนาดลมยางยังไม่เติม สงสัยอากาศหนักไปหน่อย (ฮา)
  • ที่สุดแห่งความบูทีค ขาจาน THM Clavicula ใบจาน Carbon-Ti แม้แต่น็อตยึดใบจานกับขาจานยังใช้น็อต CNC จาก Farnear
  • Darimo แบรนด์น้องใหม่จากสเปนที่สร้างเสียงฮือฮาในเว็บบอร์ด Weight Weenies ในปีนี้ได้เดินทางมาถึงญี่ปุ่นแล้ว พร้อมด้วยหลักอานกลมหนัก 85.9 กรัม ลิมิตน้ำหนักที่ 90 กก. (หารเลขแล้ว วัสดุ 1 กรัมรับน้ำหนักได้มากกว่า 1 กิโลกรัมเสียอีก….) เพื่อให้ทุกท่านที่ไม่ใช่สาวกลัทธิตาชั่งเห็นภาพ หลักอานคาร์บอนปรกติน้ำหนักประมาณ 200-220 กรัม
  • แฮนด์ Ellipse Road ตัวนี้ 126 กรัมเท่านั้น (แฮนด์คาร์บอนปรกติประมาณ 250 กรัม ชนิดเบาพิเศษแบบซีรีย์ LTD ของ 3T ก็ประมาณ 190-200 กรัม)
  • Praxis Works 2 ใบจาน มาพร้อมสไปเดอร์ 4 แฉกแบบพิเศษของ Praxis Works เอง น้ำหนัก 615 กรัม ถึงไม่ได้เบาที่สุดในตลาด แต่ modular มาก ๆ (คือสามารถถอดแยกส่วนได้หมด เลือกไปใช้เฉพาะที่ต้องการได้)
  • เช่นเมื่อพลิกมาด้านหลังนี้ ตัวสไปเดอร์ยึดกับขาจานด้วยน็อต 3 ตัวเหมือน SRAM รุ่นเก่า หมายความว่าเอา Power2Max หรือ SRM สำหรับ SRAM มาใส่ได้
  • หรือจะเลือกเซ็ตที่ติด 4iiii ที่ขาจานซ้ายมาจากโรงงานเลยก็ได้เช่นกัน อเนกประสงค์จริง ๆ
  • ล้อคาร์บอน TNI พร้อมซี่ล้อจากเส้นใย Dyneema ซึ่งเป็นโพลีเมอร์ชนิดหนึ่งที่เบามากและไม่ยืดเมื่อโดนดึงให้ตึง เลยสามารถเอามาทำซี่ล้อได้
  • เส้นใยถักเน้น ๆ
  • Elite Fly เป็นขวดน้ำที่ Elite เคลมว่าน้ำหนักเบาที่สุดในโลก ขวดขนาด 550 มล.หนักแค่ 54 กรัม (แต่ขนาดมันเล็กกว่าปรกตินะ ขวดที่ขาย ๆ กันมักจะประมาณ 620-650 มล.)
  • ถึงไซส์เล็กจะเล็กกว่าชาวบ้านเขา แต่ไซส์กลางก็ 750 มล.เท่าคนอื่น แต่ที่น่าสนใจคือมีไซส์ 950 มล.ขายด้วย! ไม่ค่อยเห็นใครทำไซส์นี้ขายเท่าไหร่นัก สายออแดกซ์ถูกใจสิ่งนี้
  • ผนังบางเฉียบ ตอนบีบเพื่อดื่มแทบไม่ต้องออกแรง
  • นอกจากขวดน้ำหนักเบาแล้ว ก็มีรุ่นเก็บความร้อนความเย็นด้วย
  • …ซึ่งข้างในเป็นขวดซ้อนในขวดอีกที
  • …โดยมีชั้นฉนวนกั้นอยู่ตรงกลางเพื่อช่วยเก็บความร้อนและความเย็น
  • ใครชอบสีฉูดฉาดขอเชิญบูธ Supacaz
  • …และบูธ Muc-Off ซึ่งอยู่ใกล้กัน แสบตาเหลือเกิน
  • ล้อ Zipp Super-9 ลาย Canyon//SRAM ทั้งสวยทั้งซิ่งในวงเดียว
  • ของมันต้องขาย! เมื่อรถของแชมป์โลก แมดส์ เพเดอร์เซ็นใช้ SRAM RED eTAP AXS มีหรือ SRAM จะพลาดโอกาส
  • เฟืองท้าย SRAM RED นี่จะรุ่นก่อน (11 speed) หรือรุ่นปัจจุบันก็ยังเป็นงานวิศวกรรมและการผลิตที่สวยงามเสมอจริง ๆ คือเฟือง 11 วงถูกกลึงจากเหล็ก (steel) ทรงโดมแค่บล็อกเดียว แล้วเอามาประกบกับเฟืองวงที่ 12 ซึ่งเป็นวงใหญ่สุดอีกที รวมแล้วมีชิ้นส่วนแค่ 2 ชิ้น ทั้งเบา ทั้งสวย ทั้งใช้งานได้จริง
  • AXS Power Spider สำหรับ Red และ Force AXS ที่ไม่ใช่พาวเวอร์มิเตอร์รุ่นเรือธง ถ้าเป็นรุ่นเรือธง พาวเวอร์กับใบจานจะเป็นชิ้นเดียวกัน พอใบจานสึกต้องทิ้งพาวเวอร์แล้วเปลี่ยนใหม่ทั้งชุด ซึ่งสุดขั้วมาก ยังดีที่ SRAM ทำตัวนี้ออกมาให้เป็นตัวเลือกที่เมคเซนส์ขึ้นหน่อย แยกใบจานกับพาวเวอร์อย่างที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ทุกคนจะมีเครื่องพิมพ์ธนบัตรที่บ้านนะ

ตอนที่สองก็ขอจบตรงนี้ก่อนครับ แล้วตอนต่อไปพบกับสินค้าญี่ปุ่นแท้ ๆ ทั้งตอน !

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott