DT กลับมาแล้วครับ

เห็นเว็บเงียบไปพักหนึ่ง แต่ตอนนี้กลับมาทำงานตามปกติแล้วครับ ขออภัยหลายๆ คนที่เข้ามาติดตามอ่านทุกวัน เหตุผลก็คือแอดมินเกิดอาการ burn out ครับ เหนื่อยล้าและสมองตัน! จริงๆ ทำเว็บนี้มาเกือบสองปีแล้ว (ขาดอีกเดือนนิดๆ) ด้วยความที่เราตั้งใจ หวังมากอยากให้มันสำเร็จ เป็นเว็บที่ดี ผมก็เลยทำทุกวัน จนแทบไม่มีวันหยุดเลย หยุดราชการ เสาร์อาทิตย์ก็ยังอัปเดตตลอด ซึ่งสุดท้ายคนหนึ่งคนมันมีลิมิตครับ แบตหมด สมองตัน สุดท้ายผมพบว่างานสร้างสรรค์อย่างงานเขียนมันบังคับรีดออกมาเหมือนไลน์ผลิตสินค้าในโรงงานไม่ได้

สิ่งที่ยากที่สุดคือการคุมมาตรฐานครับ ความตั้งใจของผมคืออยากให้ Ducking Tiger เป็นเว็บไซต์จักรยานที่มาตรฐานดีที่สุดในประเทศไทย เพราะเราไม่เคยมีอะไรแบบนี้ มาตรฐานที่ว่าไม่ได้มาง่ายๆ เนื้อหาทุกอย่างที่ไม่ใช่ข่าวผมไม่เคยคิดจะแปลของคนอื่นมาตรงๆ หลายคนอาจจะไม่รู้ แต่การแปลมาโดยไม่ได้รับอนุญาตมันคือการละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างน้อยเราต้องมีเอกลักษณ์ มีมุมมอง และรู้ถึงเรื่องที่จะเขียนจริงๆ รูปภาพที่ใช้ซื้อถูกต้องตามลิขสิทธิ์ทุกอย่าง ไม่งั้นก็ถ่ายเอง หรือได้รับอนุญาตให้ใช้จากผู้ถ่ายแล้ว เนื้อหาที่ DT ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้แบบไม่จำกัดเลยก็คือวิดีโอของ GCN (Global Cycling Network) ครับ

เมื่อต้องทำเนื้อหาขึ้นมาเองทุกอย่าง แน่นอนว่ามันต้องใช้สมองครับ ต้องคิดมุมมองขึ้นมา คิดธีมที่ทำให้น่าสนใจ จะพูดเรื่องเทคนิคัลยังไงให้ทุกคนย่อยได้ แต่ไม่ตกหล่นเรื่องสาระและความถูกต้อง? ไหนจะเรื่องการ proof read เช็คคำผิดที่ผมยอมรับว่าตกหล่นจนมีเพื่อนคนอ่านอาสาจับผิดให้ เรื่องหลายๆ เรื่องที่มีคนอยากรู้ถามกันเข้ามามากเช่นการทำ Bike Fitting การรีวิวสินค้าหลายๆ อย่าง (สังเกตว่า DT มีรีวิวน้อยมาก) เหตุผลที่ยังไม่ทำนั้นเพราะว่าคนเขียนออกไปหาความรู้อยู่ครับ ผมเริ่มการทำเว็บจากคนที่ชอบดูการแข่งขันจักรยานอย่างเดียว เรื่องอุปกรณ์นั้นไม่ได้สนใจเลย แถมจะงกเกิดความรู้สึกขี้เหนียวไม่อยากลองอีก ทำให้มันไม่มีความรู้พอจะบอกเล่าได้ว่าของดีไม่ดียังไง

แต่สุดท้ายผมก็เปลี่ยนทัศนคติ จากที่พี่หลายๆ คนแนะนำ เราทำมาขนาดนี้แล้วทำไม่ไม่ลองซะหละ มีห้างร้านบริษัทหลายเจ้าเสนอสินค้ามาให้ทดสอบมากมาย ไม่ใช่ว่าผู้บริโภคทุกคนจะได้โอกาสแบบนี้ ซึ่งเมื่อเรามีโอกาสแล้วก็ควรจะรีวิว เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่คนอ่านที่เขาอาจจะมีโอกาสได้ใช้จักรยานแค่คันเดียว เขาควรจะมีข้อมูลให้ได้เยอะที่สุด (รีวิวสินค้าบน DT ไม่เคยรับเงิน ไม่มีโฆษณาแฝง ไม่มีการจ้างทำรีวิว เดี๋ยวโพสต์หน้าจะพูดเรื่องนโยบายการรีวิวอีกทีครับ ผมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่คนไทยเข้าใจผิดมากๆ)

นอกจากรีวิว เรื่องเทคนิคหลายๆ อย่างผมใช้เวลาปีที่ผ่านมาไปศึกษากับผู้รู้หลายคน โชคดีได้เจอทั้งนักออกแบบอุปกรณ์จักรยาน วิศวกร กระทั่งเจ้าของแบรนด์ตัวจริง พยายามสะสมมาเพื่อสุดท้ายจะกลั่นกรองออกมาเป็นเนื้อหาในเว็บครับ หลายๆ อย่างที่ผมคิดว่ารู้ทีแรกแล้วปรากฏว่าเมื่อเจอคนเบื้องหลังจริงๆ มันแทบไม่ใช่อย่างที่เราเข้าใจเลย จะอ่านในนิตยสาร ในเว็บ หรือฟังเขามาแค่ไหน มันมีเรื่องที่ลึกกว่าเสมอ ซึ่งอยากจะเอาข้อมูล ข้อเท็จจริงเหล่านี้มาเล่าสู่กันฟัง พูดง่ายๆ ต้องแตกฉานระดับหนึ่งก่อนนั่นหละครับ อาจจะใช้เวลา แต่ผมไม่ชอบทำอะไรเพียงแค่เพื่อกระแส หรือยอดเพจวิว

แต่อย่างที่เห็นครับ งานทำเว็บไซต์ (ที่ดี) นั้นไม่ง่ายเลย แถมมี Social Media ที่ต้องดูแลซึ่งก็ใช้กระบวนความคิดและการจัดการต่างกันกับเว็บโดยสิ้นเชิง เหมือนกับทุกอาชีพครับ งานที่ดีย่อมใช้เวลาและความพยายาม งาน Ducking Tiger ไม่ใช่งาน Full Time ของผมซะทีเดียว (แต่กินเวลาชีวิตประมาณ 70%) ซึ่งสองปีที่ผ่านมานั้นต้องบอกว่าได้เรียนรู้และได้เพื่อนที่ไม่เคยคิดว่าจะได้มากมายครับ สิ่งที่ผมคิดตอนเริ่มทำเว็บ กับเวลานี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง เราเริ่มจากเว็บรายงานการแข่ง มาตอนนี้เนื้อหาค่อนข้างครอบคลุมเกือบทุกมิติของการขี่จักรยานถนน แน่นอนว่ามีอีกหลายด้านที่ยังขาดไปบ้าง แต่ก็จะพยายามเติมให้เต็มขึ้นเรื่อยๆ (เช่นรีวิวสินค้า สัมภาษณ์คนในวงการ – อยากทำมากๆ เทคนิคการปั่น การซ้อม เป็นต้น)

อย่างไรก็ดี Ducking Tiger ไม่ได้ต้องการจะเป็นเว็บไซต์จักรยานสำหรับทุกคนครับ เราชัดเจนว่าเนื้อหาก็ยังค่อนข้างโฟกัสกับจักรยานถนนอยู่ดี และเป็นเนื้อหาในเชิงที่อาจจะลึกและเฉพาะทางสักหน่อย (แต่อ่านง่ายนะ)   ผมว่าถ้าเราอยากทำให้ทุกคนชอบ มันคงเป็นทางลัดไปสู่ความล้มเหลวครับ ขอเลือกสิ่งที่ตัวเองถนัดและสนใจและทำให้ดีที่สุดดีกว่า

ปณิธานของ Ducking Tiger มี 4 ข้อครับ

  1. ยกระดับมาตรฐานงานสื่อออนไลน์จักรยานของไทย: การออกแบบ การรายงาน เนื้อหา กลยุทธ์การใช้ Social Media การทำโฆษณารูปแบบใหม่
  2. ให้ความสำคัญกับเรื่องของ “คน”:  ไม่ว่าจะเป็นคนปั่น คนเบื้องหลังการแข่งขัน เบื้องหลังแบรนด์จักรยาน ผมอยากให้มันมี Human Connection ไม่ใช่วิชาการจัด เทคนิคจัด แล้วคนอ่านไม่สนุก ไม่ได้อะไร
  3. Comprehensive & Authoritative Content: เนื้อหาต้องลึก ไม่ฉาบฉวยและมีประโยชน์ ควรจะใช้อ้างอิงได้
  4. โปร่งใส: ในยุคที่ทุกคนเชื่อมต่อกันได้ ความลับไม่มีในโลกครับ เว็บเราเป็นธุรกิจ แต่ไม่มีการโฆษณาแฝง ไม่มีดีลใต้โต๊ะ ไม่มีลอกงานคนอื่นแล้วแอบอ้าง ทุกอย่างตรวจสอบและเปิดเผยได้
VIRB0295

A Day in Life of Ducking Tiger

ทำเว็บจักรยานวันหนึ่งต้องทำอะไรบ้าง?

ตื่นนอน 6:00: เช็ค Editorial Calendar และเดดไลน์บทความหรืองานโฆษณาของลูกค้าที่ต้องทำในวัน/สัปดาห์นี้

เช้า 6:30-7:30: เสพข่าว! ผมบุ๊กมาร์หน้าข่าวจักรยานไว้เยอะมาก Cyclingnews / Velonews / Cyclingtips / Bikeradar/ Bikerumor / BicycleIndustry / Road.cc / Cyclingweekly จากนั้นก็อ่านๆ และอ่าน ย่อยข่าวทำความเข้าใจ แล้วเขียนข่าว Daily Spin ทีนี้ข่าวมันมีเยอะครับ มี่ไม่น่าสนใจก็เยอะ ก็จะพยายามคัดมา บางวันอาจจะไม่มี Daily Spin ก็ไม่แปลก เพราะบางเรื่องก็ไม่น่าสนใจ

สาย 8:00-11:00: เริ่มทำบทความใหญ่ เช่น Feature Story/ รีวิว / บทความเชิงเทคนิค บางเรื่องอาจจะเขียนไม่ได้ทันทีต้องรีเสิร์ชกันพอสมควร

บ่าย 12:17:00: บางวันต้องทำงานอื่น (อีกอาชีพหนึ่งของผม) วันไหนว่างก็ประชุมลูกค้าเว็บ วางแผนและงานโฆษณา

เย็น 17:30-19:00 – ปั่น! อยากแรงก็ต้องซ้อมนะ….แต่บางวันปั่นมาก บางวันปั่นน้อย แต่ไม่ต่ำกว่า 30 นาทีและไม่เกิน 2 ชั่วโมง

กลางคืนถึง 23:00 – ทำงานเว็บต่อ อ่านเพิ่มเติม เว็บบอร์ด Weight Weenies, Cyclingnews, Twitter ข้อมูลวงในหลายๆ อย่างบางทีไม่ได้มาจากนิตยสารหรือเว็บข่าวครับ แต่มาจากการสื่อสารของผู้คนในเน็ต ผมทำงานได้มีสมาธิที่สุดเวลาเช้ากับกลางคืน บางทีก็จะนั่งปั้นบทความต่อตอนดึกๆ

ยังมีอีกหลายอย่างที่ไม่ได้รวมอยู่เช่นไปปั่นทริปที่มีคนชวนไป ไปแข่ง ออกสถานที่ทำบความ สัมภาษณ์ ต่างๆ นาๆ แต่ก็ประมาณนี้ หายใจเข้าออกเป็นจักรยานครับ สนุกดี!

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *