John Ebsen Kronborg ชื่อนี้เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงจักรยานอาชีพ เพราะเขาคือนักปั่นชาวเดนมาร์กวัย 30 ปีที่ขึ้นชื่อเรื่องความสามารถในการไต่เขาสูงชันได้เร็วกว่าคู่แข่งคนอื่นๆ เขาเป็นเจ้าของผลงานแชมป์รายการ Taiwan KOM Challenge ถึงสามสมัย และเคยได้รางวัลเสื้อเจ้าภูเขาใน Tour de Langkawi แต่ถ้าคุณไม่ได่ติดตามการแข่งขันเท่าไรก็อาจจะไม่รู้จักเขามาก่อน
หลังจากอำลาวงการนักปั่นอาชีพแล้ว จอห์นเข้ามาทำงานกับบริษัทจักรยาน Factor และปีนี้เขาก็เพิ่งจะมีลูกสาวด้วย แต่ก็ยังมีเวลาฝึกซ้อมจนคว้าแชมป์รายการ Inthanon Challenge หรืออินทนนท์ คนพันธุ์อึดประจำปี 2562 ได้สำเร็จ เรื่องราวของเขาเป็นยังไง DT สัมภาษณ์มาให้ฟังกันครับ
* * *
คุณเป็นคนเดนมาร์กแต่ทำไมถึงมาปักหลักที่เอเชียได้ครับ? ดูจากทีมที่คุณเคยแข่งด้วยก็เป็นทีมเอเชียหลายทีมเลยทีเดียว
จริงๆ แล้วผมเคยมาแข่งที่เมืองไทยตั้งแต่ปี 2012 ตอนนั้นผมแข่งให้ทีมชาติเดนมาร์กในสนาม Tour of Thailand ครับ จำได้ว่าปีนั้นผมได้เสื้อเหลือง จบรายการด้วยอันดับ 5 overall แต่ชนะรางวัลเจ้าภูเขานะ แล้วปีนั้นมีงาน KOM Challenge ที่ไต้หวันพอดี
ร็อบ จิเทลิส เจ้าของแบรนด์ Factor เชิญผมไปแข่งเพราะเห็นเป็นคนที่ไต่เขาได้ดี เขาบอกผมว่าถ้าไม่ได้แชมป์คุณต้องเดินลงจากยอดเขากลับโรงแรมเอง ผมก็ไม่อยากเดินอะ ตั้งร้อยกิโลเมตร ปีนั้นผมได้แชมป์ครับ ชนะปีเตอร์ พูลลี
คุณเริ่มปั่นจักรยานอย่างจริงจังตั้งแต่อายุเท่าไร เล่าให้ฟังหน่อยครับ
ผมเริ่มตอนปี 2010 นะตอนนั้นผมอยู่ทีมชาติเดนมาร์ก แต่ย้ายไปสังกัดทีมที่โปรตุเกสชื่อ Crédito Agrícola ปี 2012 ผมย้ายมาอยู่กับทีม CCN ของร็อบ 2013 ย้ายไป Synergy Baku เป็นทีมคอนติจากอาเซอร์ใบจาน 2015 ไปอยู่กับ Androni Giocattoli ในอิตาลี แต่ทีมนั้นสภาพแวดล้อมแย่มากครับ มีนักปั่นแอบโด้ปหลายคนซึ่งผมไม่โอเคเลย การจัดการทีมก็แย่ ก็ย้ายออกมา
ปี 2016 ผมไปอยู่กับ One Pro Cycling จากอังกฤษ แต่ทีมถูกลดดิวิชัน แล้วมีปัญหาเรื่องสปอนเซอร์ พอ 2017 ผมก็มาอยู่ทีม AIS Infinite กับปีเตอร์ พูลลี ปีนั้นผมได้แชมป์เจ้าภูเขาใน Tour de Langkawi ที่มาเลเซีย แต่จบปีนั้นผมก็ตัดสินใจเลิกเป็นนักปั่นอาชีพเพราะเบื่อแล้วที่จะต้องย้ายทีมไปมา เป็นโปรมันอยู่ยากเหมือนกันนะครับ ผมหาทีมที่ยอมจ่ายค่าตัวที่ผมต้องการไม่ได้ ผมเลยเข้าไปทำงานกับ Factor เป็นเซลล์ในทวีปเอเชียและช่วยเรื่องการทดสอบผลิตภัณฑ์ ก่อนรถใหม่จะลงตลาดผมก็เป็นคนช่วยเทสต์ครับ
ผมเป็นคนตรงๆ นะ ปัญหาของทีมระดับ Continental หลายๆ ทีมเนี่ยคือผู้จัดการไว้ใจไม่ค่อยได้ครับ แทบทุกทีมที่ผมเคยอยู่ด้วย (แต่ไม่ใช่ทุกทีม) มักจะเจอผู้จัดการทีมที่คอยยักยอกเงินสปอนเซอร์เข้ากระเป๋าตัวเอง ไม่ได้จริงจังกับนักแข่งหรือผลการแข่งขันเท่าไร เหมือนเขาสร้างทีมมาขอสปอนเซอร์เพื่อหาเงินเข้าตัวแค่นั้น มันไม่ใช่แค่ในเอเชียนะครับ ในยุโรปก็เจอปัญหานี้เยอะมาก
แทบทุกรายการที่คุณลงแข่งคุณมักจะทำผลงานในสเตจภูเขาได้ดีเสมอ จริงๆ แล้วคุณคือแชมป์รายการ Taiwan KOM ถึงสามสมัย ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในสนามขึ้นเขาที่ยากที่สุดในโลก คุณไต่เขาดีตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า?
จะว่าอย่างนั้นก็ได้นะ ผมมีโอกาสได้เข้าค่ายซ้อมกับทีมชาติตอนอายุ 14 บนทางราบเนี่ยผมตามพวกเขาไม่ได้เลยนะ พวกนี้คือนักกีฬาที่เป็นทั้งทีมชาติและเป็นโปรมีสังกัดแล้ว อายุ 18-21 ปี แต่พอถึงจังหวะขึ้นเขา ผมแซงทุกคนเลย ผมเลยรู้ว่าผมน่าจะมีความสามารถในการปั่นขึ้นเขาได้เร็วกว่าคนอื่น ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นการเป็นนักปั่นอาชีพ ผมรู้ว่าผมคงอยู่ที่เดนมาร์กไม่ได้ มันไม่มีความท้าทาย ก็เลยได้ไปเข้าสังกัดกับหลายๆ ทีมจากหลายๆ ประเทศเหมือนที่เล่าให้ฟังข้างต้น เลยทำให้ได้ไปแข่งในหลายประเทศทั้งไทย อินโด เม็กซิโก บราซิล สหรัฐอเมริกาครับ
ไม่รู้จะอธิบายยังไงเหมือนกัน เวลาเห็นภูเขาแล้วผมรู้สึกขนลุกน่ะ เหมือนมันมีพลังขึ้นมาจากข้างใน คือพูดไปก็ดูประหลาดน่ะนะ แต่ผมไม่รู้สึกแบบนี้กับทางราบยาวๆ หรือวันที่ต้องปั่นแล้วเจอลมข้างแรงๆ ผมรู้เลยว่าวันแบบนี้ผมหลุดกลุ่มแน่
สนามแข่งไหนท้าทายที่สุดที่คุณเคยแข่ง?
Taiwan KOM ก็ถือว่าโหดมากๆ นะ แต่ไม่ใช่รายการที่ยากที่สุด สเตจเรซที่แข่งหลายๆ วันยากกว่าครับ อย่างสนาม Tour of Qinghai Lake ในจีน หรือบางรายการในโปรตุเกสที่เราต้องแข่งระยะทาง 200 กิโลเมตร แต่ต้องปีนเขา elevation รวมๆ 4,000-5,000 เมตรในสเตจเดียว ปั่นกัน 6-7 ชั่วโมง มันบ้ามาก
แล้วคุณจัดให้ดอยอินทนนท์ยากแค่ไหน เทียบกับภูเขาที่เคยขึ้นทั้งหมด?
อืม ถ้าสมมติยากสุดคิดเป็น 10 คะแนน ผมให้อินทนนท์ 6 คะแนนครับ ทำไมถึงได้แค่ 6? เพราะว่ามันขึ้นไปสูงแค่ 2,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มันสูงนะ แต่ยังไม่สูงพอจะทำให้รู้สึกหมดแรง เหมือนพวกเขาในเม็กซิโกหรือโคลอมเบียที่ขึ้นไป 4,000 เมตร จนเราหายใจไม่ออก
อีกอย่างอินทนนท์ มันไม่ได้ชันมากครับ มันยาวก็จริง แต่จุดที่ชันจริงๆ คือช่วงท้าย ช่วงกลางๆ มันมีหลายจุดที่ชันแค่ 3-4% ซึ่งสำหรับนักปั่นอาชีพมันเป็นเหมือนทางราบ (แบบหลอกๆ) ด้วยซ้ำ ถ้าไม่ชันถึง 7% ต่อเนื่องยาวๆ ก็ยังไม่เรียกว่าภูเขาในความคิดผมนะ
ผมเคยอยู่เชียงใหม่อยู่ปีนึง ทางภาคเหนือมีหลายภูเขาที่คนไม่รู้จัก แต่ชันมาก อย่างตอนแข่ง Tour of Thailand ผมจำได้ว่ามีสเตจนึงในเชียงรายที่เราต้องข้ามเขาชัน 15% นิ่งๆ ยาว 7-8 กิโลเมตร มันไม่ง่ายเลยครับ แล้วก็มีอีกสเตจที่เราต้องปีนเขา elevation 2,500 เมตรในระยะทางแค่ 25 กิโลเมตร เคยคุยกับปีเตอร์ พูลลีเขาบอกว่ายังไม่อยากไปซ้อมเส้นนั้นเลย มันโหดมาก
คุณวางแผนจะชนะอินทนนท์ ปีนี้ตั้งแต่แรกเลยหรือเปล่า?
ใช่ ผมตั้งใจมาชนะ ปีที่แล้วผมพยายามจะทำลายสถิติเวลาของปีเตอร์ แต่ปีเตอร์ฟอร์มดีเกินไป เขาโจมตีหนักในช่วงท้ายซึ่งผมเอาไม่อยู่ครับ ปีนี้ผมเลยตัดสินใจว่าไม่เอาเวลาละ ขอชนะอย่างเดียว ก็เลยไม่รีบโจมตีหรือไม่เร่งเกินไป เก็บพลังไว้ไปโจมตีตอนท้าย แล้วอีกอย่างปีเตอร์ดูฟอร์มไม่สดเหมือนปีที่แล้วด้วย มันเลยง่ายกว่าปีทีแล้วอยู่หน่อยนึงครับ
คุณเตรียมตัวซ้อมรายการนี้ยังไง? คุณเป็นพนักงานประจำของบริษัท Factor แล้วก็ได้ข่าวว่าเพิ่งมีลูกสาวด้วย ไม่น่าจะมีเวลาซ้อมมากนัก?
วิธีของผมก็คือ ผมตื่นมาซ้อมตอนตีห้าครึ่งทุกวันครับ เริ่มปั่นหกโมงเช้า เสร็จเก้าโมง กลับบ้านมาอาบน้ำแล้วเข้าทำงานตอนสิบโมง ที่บริษัทเขาไม่ซีเรียสเรื่องเวลามากน่ะ แล้วจริงๆ ผมต้องดูแลธุรกิจฝั่งยุโรปด้วย ทำให้ต้องทำงานดึกครับ (ออฟฟิศ Factor อยู่ไต้หวัน) แต่ก็มีช่วงเช้านี้แหละที่ผมพอจะว่างซ้อม
เดี๋ยวนี้ผมซ้อมไม่เยอะเท่าตอนเป็นนักปั่นอาชีพ สัปดาห์นึงปั่นไม่เกิน 400 กิโลเมตร สมัยเป็นโปรผมซ้อมสัปดาห์ละเกือบ 700-1,000 กิโลเมตร แต่ถึงจะซ้อมน้อยลง ผมซ้อมหนักและเข้มงวดครับ
มีคำแนะนำสำหรับคนที่อยากจะทำเวลาขึ้นอินทนนท์ ให้ดีกว่าเดิมมั้ยครับ?
อย่างแรกเลย สิ่งที่ผมเห็นเยอะที่สุดคือ หลายๆ คนพยายามตามกลุ่มตอนเริ่มแข่งครับ ซึ่งมันเร็วเกินไป ทำให้คุณหมดแรงในช่วงท้าย เขาลูกนี้เพซซิ่งสำคัญที่สุด คุณต้องรู้ว่าคุณจะขี่ที่ความหนักเท่านี้ได้นานกี่ชั่วโมง อย่าไปเร่งตามคนอื่นตั้งแต่เริ่ม พยายามล็อกวัตต์หรือหัวใจเอาไว้ไม่ให้มันเกินลิมิตตัวเอง ถึงจะหลุดกลุ่มก็ตาม ถ้าทำได้ช่วงท้ายมันจะไม่ยากจนเกินไปครับ
เรื่องการกิน ก็แน่นอนว่าต้องกินน้ำให้พอ ส่วนเสบียงนั้น ถ้าเอาอย่างผมคือ ผมกินบาร์ชั่วโมงละแท่ง แต่ผมไม่แนะนำให้ใช้เจล เจลมันซึมเข้ากระแสเลือดเร็ว บางทีมันทำให้คุณคลื่นไส้ มวนท้อง จนปั่นไม่ไหว แล้วมันให้พลังงานแบบ spike ระยะสั้นๆ ถ้าคุณกินแล้วยังต้องปั่นอีกนาน พลังคุณตกคุณจะร่วงเลย เพราะงั้นเก็บเจลไว้ใช้ชั่วโมงสุดท้ายหรือ 45 นาทีสุดท้ายจะเซฟกว่า
เป้าหมายต่อไปคืออะไรครับ มีรายการไหนที่ยังอยากลงแข่งอีกมั้ย?
ผมยังอยากแข่งรายการพวก Hill climb ไต่เขานะ แต่สนามต่อๆ ไปผมอยากไปลงรายการใหญ่ในยุโรป อย่าง L’etape, Stelvio หรือ La Marmotte Granfondo พวกนี้
แต่ถ้าจะไป ผมตั้งใจไปชนะ ไม่เอาที่สอง ต้องมีฟอร์มพร้อมจะชนะครับ ทั้งนี้ก็ต้องดูว่าจะว่างพอหรือเปล่า เพราะทาง Factor เอง ปีนี้ก็มีโปรเจ็คใหม่เยอะเลยครับ
* * *
ภาพ: Champion Cycle