รีวิว Factor O2: ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

ราคาเฟรมเซ็ต 169,000 บาท
ผู้นำเข้า: Champion Cycle

“ตอนที่ AG2R หมดสัญญากับจักรยาน Focus แล้วทีมกำลังหาจักรยานใหม่เพื่อแข่งในฤดูกาลหน้า ฝ่ายเทคนิคของทีมถามโรมัน บาเดต์ว่าเขาอยากขี่จักรยานอะไร? คือให้เลือกยี่ห้อไหนก็ได้เอามาลองปั่นดูว่าชอบคันไหน ทีมจะได้ไปดีลสปอนเซอร์ให้ บาเดต์บอกว่าอยากลอง Factor ทีมก็เลยติดต่อเรามา เราส่งรถเดโมไปให้บาเดต์ขี่ แล้วเราก็กลายเป็นสปอนเซอร์ทีมอย่างที่คุณเห็นนี่หละครับ”

คือสิ่งที่บาเด็น คุ๊ก อดีตเจ้าของเสื้อเจ้าความเร็วใน Tour de France และหุ้นส่วนของจักรยาน Factor บอกกับผมในงานเปิดตัว Factor Bike ในประเทศไทย คงบอกไม่ได้ว่าสิ่งที่เขาพูดนี่จริงหรือโม้ แต่ก็ดูจะไม่ใช่ปัญหาสำหรับบาเดต์ที่ได้อันดับ 3 ในตูร์ปีนี้ครับ

คุณรู้จักจักรยาน Factor หรือเปล่า?

ชื่อ Factor นี้มีความหลังครับ ก่อนจะเป็นแบรนด์ Factor อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้จริงๆ แล้วแบรนด์นี้เป็นโปรเจ็คเล็กๆ ของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถสูตร 1 BF1System จากสหราชอาณาจักร เมื่อหกปีก่อน BF1 เคยออกจักรยาน Factor Vis Vires และ Factor 001 ซุปเปอร์ไบค์หน้าตาสุดอวกาศ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในตลาด เพราะทาง BF1 ไม่เชี่ยวชาญการผลิตจักรยานแบบ mass production เพื่อขายทั่วโลก ถนัดแต่โปรเจ็คที่ผลิตน้อยและใช้งานแบบ one-off เช่นชิ้นส่วนรถแข่ง

แต่ชื่อเสียงของ BF1 นั้นก็เป็นที่เคารพในวงการ ทำให้บาเด็นและเพื่อนชื่อร็อบ กิเทลิสซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานผลิตชิ้นส่วนจักรยานในจีนซื้อแบรนด์​ Factor มาทำจักรยานแข่งขันเองซะเลย จักรยานคันแรกของ Factor ภายใต้เจ้าของใหม่ก็คือ Factor O2 นั่นเอง

 

โรงงานของตัวเอง

พักหลังๆ นี่คนอ่าน DT จะเห็นว่าเราพูดถึงแบรนด์สตาร์ทอัปบ่อยครับ ไม่ว่าจะเป็น Knight Composites, Aliied Cycle, Chapter 2 และล่าสุดคือ Factor – แต่ถ้าจะบอกว่าผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์เหล่านี้เป็นมือใหม่ไร้ความรู้ก็ผิดมหันต์ ส่วนใหญ่เป็นคนในวงการเช่นนักออกแบบหรือวิศวกรที่อาจจะเอือมกับบริษัทใหญ่ เลยหันออกมาทำอะไรเอง

เจ้าของ Factor นี่โหดกว่านั้น ร็อบเข้ามาตั้งรกรากในฝั่งการผลิตจักรยานในไต้หวันตั้งแต่ปี 1996 และลงทุนซื้อโรงงานผลิตชิ้นส่วนคาร์บอนของตัวเองในปี 2000 นอกจาก Giant และ Merida แล้วก็มีร็อบ กิเทลิสคนนี้ที่พูดได้เต็มปากว่าเขามีโรงงานผลิตจักรยานคาร์บอนไฟเบอร์ของตัวเองอย่างแท้จริง ที่ผ่านมาโรงงานของร็อบเป็น subcontractor ให้ Cervelo, ENVE, Zipp, Trek, Focus, Canyon, BH, Santa Cruz, Argon 18 และอีกมากมาย ซึ่ง Factor ทดสอบและผลิตจักรยานในโรงงานของตัวเองทุกขั้นตอน

Factor เคลมว่าการที่มีโรงงานของตัวเองทำให้บริษัทไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่างและโสหุ้นที่ต้องจ่ายให้โรงงาน 3rd party เหมือนแบรนด์อื่นๆ รายจ่ายตรงนั้นก็เอามาทุ่มให้กับการวิจัย วัสดุและการผลิตได้เต็มที่

เมื่อร่วมเอาประสบการณ์แข่งขันในโปรทัวร์ของบาเด็นร่วม 13 ปีกับประสบการณ์ฝั่งการผลิตของร็อบ 21 ปี เราก็น่าจะได้จักรยานที่ประสิทธิภาพดีพอสำหรับผู้ท้าชิงแชมป์ตูร์เดอฟรองซ์อย่างโรเมน บาเดต์และทีม AG2R

Factor O2 Design

Factor O2 เป็นจักรยานแข่งขันในสไตล์ all-rounder หรือที่เราชอบเรียกกันว่าเสือหมอบไต่เขาครับ เน้นน้ำหนักเบา การตอบสนองแรงที่ดี และการบังคับควบคุมที่มั่นคงเฉียบคม ดูเผินๆ หน้าตาจะคล้ายๆ Cervelo R5 หรือ Cannondale Supersix Evo และมีดีไซน์แบบอสมมาตร (asymetric) บริเวณตะเกียบและกระโหลกเพื่อรับแรงกระทำจากฝั่งที่เราติดตั้งชุดขับเคลื่อน

ตัวเฟรมน้ำหนักชั่งจริงได้ 758 กรัม มากกว่าที่เคลม 740 กรัมเล็กน้อย น้ำหนักระดับนี้อยู่หัวแถวของวงการแต่ก็ยังไม่ใช่เฟรมที่เบาที่สุดในรถราคานี้ครับ

ถึงจะเป็นเฟรมทรงคลาสสิค แต่ก็ยังมีส่วนผสมของแอโรไดนามิก ท่อนั่งและท่อล่างใช้ทรง truncated airfoil ตามสมัยนิยมคล้าย S-Works Tarmac, Scott Addict, และ Cervelo R Series ทรงแอโรนั้นไม่ได้ยาวและลึกเหมือนเสือหมอบแอโร แต่ก็ทำให้เฟรมน้ำหนักเบาและปรับรูปทรงท่อให้ตอบสนองแรงได้ดีกว่าครับ อีกจุดที่น่าสนใจคือท่อต่างๆ ของเฟรม O2 นั้นมีขนาดกระชับเมื่อเทียบกับเฟรมไต่เขาจากค่ายอื่น ไม่มีส่วนเหลี่ยมมุมที่จะขวางกระแสลม ซึ่งพอมองห่างๆ แล้วก็ได้เฟรมที่ดูคอมแพคกระทัดรัดดีครับ

รายละเอียดปลีกย่อยก็มาเต็มแบบเสือหมอบแข่งขันสมัยใหม่ เฟรมซ่อนตัวรัดหลักอาน, ใช้ซีทสเตย์แบบดรอปที่ช่วยให้หลักอานมีระยะให้ตัวมากขึ้น, เดินสายเบรคและเกียร์ภายใน, รองรับยางหน้ากว้างสุด 28mm, และถ้าเลือกใช้แฮนด์/สเต็ม Integrated ของ Factor ก็สามารถซ่อนกล่อง Di2 Junctionbox ไว้ใต้สเต็มได้ด้วย

ด้วยราคาค่าตัวระดับพรีเมียม Factor ก็แจกของแถมมาเยอะครับ เฟรมเซ็ตมากับหลักอานคาร์บอน, แฮนด์และสเต็มคาร์บอน, กระโหลก CeramicSpeed, ถ้วยคอ Cane Creek, ดรอปเอาท์ตีนผีสำรอง 1 ชิ้น

ความลับที่อยู่ข้างใน

การที่ Factor ผลิตจักรยานในโรงงานของตัวเองมีประโยชย์หลายอย่างครับ หนึ่งในนั้นคือการเลือกใช้วัดสุในการผลิตด้วย DT มีโอกาสได้คุยกับวิศวกรของ Factor ซึ่งแน่นอนว่าเขาต้องบอกว่าวัสดุคาร์บอนที่ Factor ใช้นั้นดีที่สุด แพงที่สุด สติฟที่สุด… (แล้วแบรนด์ไหนจะไม่พูดอย่างนี้บ้าง…) แต่มันมีที่มาครับ เพราะ Factor นั้นใชคาร์บอนที่มาจากวัตถุดิบคนละแบบกับจักรยานคาร์บอนจากค่ายอื่น

ต้องบอกก่อนว่าคาร์บอนไฟเบอร์ที่เรานำมาใช้ทำจักรยานนั้นมาจากวัตถุดิบสองแบบ คือ PAN และ PITCH แบบแรกคือโพลิอะคริโลไนทริล (polyacrylonitrile) หรือเรียกสั้นๆ ว่า PAN Fiber เมื่อได้วัตถุดิบตัวนี้มาแล้วเขาก็จะนำมาอบด้วยความร้อนสูงมากจนเผาสสารที่ไม่ใช่คาร์บอนไปจนหมด สุดท้ายเหลือแค่เส้นใยคาร์บอนบางๆ ยาวๆ ซึ่งผู้ผลิตก็จำนำไป process ต่อจนได้เป็นคาร์บอนชีทสำหรับจำหน่ายต่อไป

จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกาในปี 2010 กว่า 90% ของคาร์บอนไฟเบอร์ในโลกนี้มาจากแค่ 6 บริษัทเท่านั้น ซึ่งมี Toray, Toho Tenax, Mitsubishi Rayon, Zoltek, Hexcel, และ Cytek สามบริษัทแรกเป็นบริษัทญี่ปุ่นและผลิตคาร์บอนไฟเบอร์กว่าครึ่งหนึ่งของที่ใช้ทั้งหมดในโลก จักรยานส่วนใหญ่ก็ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ที่มาจาก PAN ครับ

วัสดุอีกแบบที่ใช้ทำคาร์บอนไฟเบอร์คือพิทช์ (Pitch) หรือของเหลวเข้มข้นที่ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมัน คาร์บอนไฟเบอร์ที่ทำจากพิทช์จะมีจุดเด่นเรื่องความแข็งแรงดัด (flexural strength) โดยรวมแล้วจะได้เส้นใยที่มีความสติฟสูงกว่าคาร์บอนที่ทำจาก PAN ปัญหาอยู่ที่ว่าคาร์บอนที่ทำจากพิทช์ใช้เวลาในการผลิตยากยาวนานกว่า PAN ทำให้มีราคาสูงกว่าด้วย

Pitch-base carbon fiber มีค่า Young’s Modulus สูงกว่า PAN Carbon fiber, และโลหะหลายๆ ประเภท ข้อดีคือน้ำหนักเบาและให้ความสติฟสูง แต่ราคาก็สูงกว่าด้วย (อ้างอิง: Nippon Graphite Fiber Corporation)

Factor ใช้คาร์บอนไฟเบอร์ประเภทนี้ในการผลิตเฟรม ซึ่งเขาอ้างว่าต้นทุนการผลิต Factor แต่ละเฟรมนั้นสูงกว่าคู่แข่งเกินเท่าตัว

ถามว่ามีคนเคยใช้ pitch-based fiber ในการผลิตจักรยานมั้ย ก็ต้องบอกว่ามี แต่มีน้อยมากครับ ตัวอย่างหนึ่งคือ Cervelo R5CA ที่ใช้ส่วนผสมระหว่าง PAN-based แต่เสริมความสติฟบางส่วนด้วย pitch-based fiber โดยเฉพาะบริเวณผนังด้านข้างของท่อล่างเพื่อให้การตอบสนองแรงกดเวลายืนโยกดีขึ้น และลดน้ำหนักได้อีกนิดหน่อย

เมื่อเลือกวัสดุได้แล้ว Factor ก็จำลองการวางเรียงชั้นคาร์บอนในจุดต่างๆ ของเฟรมผ่านโปรแกรม Fiberism ซึ่งช่วยคำนวนว่าต้องใช้แผ่นคาร์บอนขนาดไหน ปริมาณไหน บริเวณไหนถึงจะประหยัดการใช้วัสดุมากที่สุด (ลดน้ำหนัก) โดยที่ยังคงประสิทธิภาพการใช้งานตามโจทย์ที่ตั้งไว้ นั่นหมายความว่าคนที่รับหน้าที่เรียงชั้นคาร์บอน (layup) ไม่ต้องเสี่ยงวางแผ่นคาร์บอนทับซ้อนตามจุดรอยต่อต่างๆ ซึ่งเพิ่มน้ำหนักโดยไม่จำเป็น

The Ride

Factor O2 คันที่เราทดสอบมากับสเป็คแบบไม่อั้นงบ ชุดขับ Shimano Dura-Ace 9100, ชุดจานเป็นใบ Dura-Ace บนขาจานพาวเวอร์ Quarq D-Zero, ล้อ Black Inc Thirty C ที่ใช้ดุม CeramicSpeed ตบท้ายด้วยยาง Vittoria Corsa G+ 25c ขึ้นตาชั่งแล้วออกมาที่หกกิโลกลางๆ เท่านั้น

Geometry: กางดู geo chart ของ Factor O2 แล้วก็ชัดเลยว่ามันคือรถแข่งอย่างแท้จริงครับ สัดส่วน stack:reach ในไซส์ 49 สูงแค่ 1:37 พอๆ กับ Canyon Aeroad ที่ผมใช้อยู่ (ท่อคอสั้น, ก้มต่ำ) องศาท่อนั่งที่ 73 และท่อคอที่ 70.5 ให้ท่านั่งที่ก้มเหยียด, เชนสเตย์ยาวแค่ 405mm ในทุกไซส์ หมายถึงช่วงสามเหลี่ยมหลังที่กระชับ ขยับยืนโยกได้คล่องแคล่ว ถูกใจขาซิ่งแน่นอน

Response: เรื่องฟีลลิ่งตัวนี้ก็เหมือนรถไต่เขาครับ ขึ้นคร่อม ลองกดสปรินต์ ลองโยกขึ้นเนินชัน สิ่งที่เด่นชัดขึ้นมาสองอย่างแรกเลยคือการตอบสนองแรงที่ดีมากระดับหัวแถวของวงการ บวกกับตัวเฟรมที่น้ำหนักเบาและอะไหล่ก็เบาอยู่แล้วทำให้มันพุ่งติดเท้าดีเป็นพิเศษ

Handling: หรือการบังคับควบคุม คม ไว ลงเขาลงเนินสนุก แต่ต้องสติดีตั้งใจบังคับรถนิดนึง บางจังหวะผมว่ามันคมไป มีเสียวๆ เหมือนกัน แต่ถ้าทักษะการบังคับดีอยู่แล้วก็หมดห่วงครับ รวมๆ แล้วรถนิ่ง มั่นคง สมดุลดีแทรคโค้งดีไม่มีปัญหา จากที่ช่วงหน้ารถสติฟมาก

Comfort: ความสบายนั้นก็พอใช้ได้ ละมุนกว่าเสือหมอบ all round หลายๆ รุ่น ไม่กระด้างเหมือนเสือหมอบแอโร เฟรมไม่ได้ใช้ลูกเล่นในการซับแรมีแค่ซีทสเตย์ที่บางและเป็นแบบดรอป (เชื่อมกับท่อนั่งต่ำกว่าจุดรัดหลักอาน) ยังไม่นิ่มพริ้วเท่า Canyon Ultimate CF SLX (มีหลักอานผสมบะซอลต์) หรือ Lapiere Xelius (ดีไซน์ seat cluster แบบให้ตัวขยับได้)

คนที่อยากให้รถมันนิ่มๆ เลยก็ลองใส่ยาง 25-28c ขี่เส้นทางได้หลากหลายขึ้น สะท้านน้อยลงและเกาะถนนดีขึ้นครับ (แต่ถ้าใส่ยาง 28c ต้องดูด้วยว่าขอบล้ออ้วนแค่ไหน ไม่งั้นใส่แล้วมันอาจจะออกมากว้างเกิน 30c ซึ่งจะติดเฟรมครับ)

สรุป

ถ้าอ่านรีวิวนี้แล้วมันดูไม่ค่อยต่างกับเสือหมอบแข่งขันแนว all rounder คันอื่นๆ ใน DT ก็ไม่ต้องแปลกใจครับ ว่ากันตามตรงรถราคาระดับนี้ ดีไซน์แบบนี้ มันก็ขี่ไม่ต่างกันนัก ประสิทธิภาพ Factor O2 อยู่ในระดับต้นของวงการอย่างไม่ต้องสงสัย จะขาดก็แค่เรื่องแอโรไดนามิก แต่ถ้าคุณสนใจเฟรมทรงคลาสสิคคงไม่มองเรื่องความลู่ลมอยู่แล้ว

จุดติมีบ้างเช่นสีมีให้เลือกน้อย มีแค่สีดำ สีเทา และสีฟ้าทีม และงานสีดูโอเคแต่ยังไม่พรีเมียมเทียบกับราคารถ และแน่นอนถ้าคุณร่างกายไม่ยืดหยุ่นอาจจะเซ็ตรถออกมาไม่สวยเท่าไรเพราะ stack เตี้ยแบบรถแข่งต้องใส่แหวนรองพอประมาณครับ

อีกเรื่องที่หลายคนอาจจะคิดคือ Factor เองเป็นแบรนด์ใหม่ แต่ตั้งใจวางตำแหน่งเป็นแบรนด์พรีเมียม บาเด็น คุ๊กบอกกับเราว่าเราจะไม่ขายจักรยานราคาถูก เผลอๆ อาจจะไม่มีจักรยานรุ่น mid-range ด้วยซ้ำ จะมีแต่รถแข่งไฮเอนด์อย่างเดียว กระนั้นตัวแบรนด์​ Factor ก็ยังไม่ได้มีประวัติศาสตร์ผลงานยาวนานเหมือนหลายๆ แบรนด์​ ถ้าคุณแคร์เรื่องชื่อเสียงของแบรนด์โดยเอามาพิจารณาคู่กับราคาค่าตัวด้วย Factor อาจจะไม่ตอบโจทย์ (อย่างน้อยตอนนี้ก็มีผลงานอันดับสามใน Tour de France ของโรเมน บาเดต์ล่ะนะ)

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าประสิทธิภาพไม่แพ้จักรยานในแกรนด์ทัวร์คันอื่นๆ ครับ Factor ทำการบ้านมาดี ก็และก็ขี่ดีอย่างที่เขาอ้างไว้ครับ

  • ประสิทธิภาพดีไม่มีกั๊ก พุ่ง นิ่ง มั่นคง
  • น้ำหนักเฟรมเบา
  • ดีไซน์ร่วมสมัย
  • ของแถมเยอะ (ชุดแฮนด์ integrate Factor น้ำหนักแค่ 212  กรัม, กระโหลก CeramicSpeed, หลักอานคาร์บอน)
  • รองรับยางกว้าง 28c

  • มีสีให้เลือกน้อย

  • ราคาสูง

เฟรมที่ให้ความรู้สึกคล้ายกัน: Bianchi Specialiisima, Storck Aernario, Specialized S-Works Tarmac, Axman Aiolos SL5, Cervelo New R5 

ข้อมูลเพิ่มเติม: factorbikes.com

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

1 comment

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *