จิโน บาร์ทาลี นักปั่นผู้ช่วยชาวยิวให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของนาซี

ก่อนที่การแข่งขัน Giro di Italia ปีนี้จะเริ่มขึ้น ก็มีเรื่องราวพิพาทกันบนโลกออนไลน์ไม่น้อย เนื่องจากหลายคนไม่เห็นด้วยกับการที่ไปจัดการแข่งขันสามวันแรกในประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ Giro ที่ไปเริ่มแข่งนอกยุโรป

ฝ่ายต่อต้านโต้แย้งว่าเป็นการสนับสนุนรัฐบาลอิสราเอล ข้ามหัวชาวมุสลิมหลายชาติ ที่มองชาวปาเลสไตน์เป็นพี่น้องของตัวเอง นอกจากนี้นครเยรูซาเลมก็ไม่ได้เป็นเพียงแค่ศูนย์กลางศาสนายิว (ยูดาย) แต่ยังเป็นเมืองสำคัญสำหรับศาสนาอิสลามไม่แพ้กัน

หากตัดเรื่องประเด็นการเมืองระหว่างประเทศออกไปแล้ว การจัด Giro di Italia ที่ประเทศอิสราเอลครั้งนี้ มีความหมายสำคัญต่อชาวอิสราเอล รวมไปถึงชาวยิวในชาติอื่นมาก หลายครั้งที่การดึงเอาการแข่งขันกีฬาใหญ่ๆ ไปจัดในประเทศตัวเอง คือการพยายามหารายได้เข้าประเทศ แต่เจตจำนงค์ในการจัดแข่งครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการยกย่องนักปั่นอิตาเลียนคนหนึ่ง ที่เป็นฮีโร่สำหรับชาวยิวก็ว่าได้

 

ฮีโร่ของชาวอิตาเลียน

นักปั่นคนที่ว่าคือ จิโน บาร์ทาลี (Gino Bartali)

ในฐานะนักปั่นคือหนึ่งในตำนานของวงการจักรยานอิตาลีในช่วงคาบเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สอง ถ้าสมัยนี้เราชอบชมการดวลกันระหว่างนักปั่นเก่งๆ อย่างคริส ฟรูม (Sky) ปะทะอัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์ (รีไทร์แล้ว) สมัยนั้นก็มีคู่หยุดโลกเช่นกัน โดยเฉพาะสำหรับชาวอิตาเลียน นักปั่นคู่นนั้นคือ ฟาอุสโต้ คอปปี้ และจิโน บาร์ทาลี
ทั้งสองคนมีคาแรคเตอร์ต่างกันสิ้นเชิง บาร์ทาลีเกิดและโตที่ฟลอเรนซ์ เป็นชาวใต้แบบอนุรักษนิยมจากครอบครัวชาวนา ขณะที่คอปปี้เป็นเสมือนตัวแทนของคนหัวใหม่จากทางตอนเหนือ อิตาลีในสมัยนั้นแทบจะแยกฝั่งกันเชียร์ทั้งสองคน

แม้ชื่อเสียงบาร์ทาลีจะเป็นรองคอปปี้ แต่เขาก็คว้ารางวัลมากมายเช่นกัน ทั้ง Tour de France สองครั้ง Giro di Italia สามครั้ง และยังไปคว้าแชมป์สนามคลาสสิก Milan — San Remo สี่ครั้ง และ Giro di Lombardia สี่ครั้ง รวมไปถึงแชมป์เสือหมอบอิตาลีอีก 4 สมัย จึงไม่แปลกที่เขาก็เป็นขวัญใจมหาชนชาวอิตาเลียนเช่นกัน

ทว่า เหรียญรางวัลที่สำคัญที่สุดของเขา ไม่ได้ประดับอยู่บนอกหรือถ้วยรางวัลสวนหรู หากแต่อยู่ในใจเขานั่นเอง

 

ฟาอุสโต้ คอปปี้ (ซ้าย) และจิโน บาร์ทาลี (ขวา) นักปั่นคู่หยุดโลกที่ผลัดกันชิงชัยชนะในช่วงปี 1940-1949
คอปปี้และบาร์ทาลีบนนภูเขาสูงชันใน Tour de France 1949

 

ตัวแทนของความถูกต้อง

ย้อนเวลากลับไปปี 1938 ที่บาร์ทาลีชนะ Tour de France ครั้งแรก อิตาลีอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลฟาสซิสม์ของเบนิโต มุสโสลินีที่มีแนวคิดนิยทชนชาติอารยัน ยกให้เหนือกว่าชนชาติอื่นๆ โดยเฉพาะ ยิว ที่กลายเป็นชนชาติไม่พึงประสงค์

แม้ชาวยิวในอิตาลีจะเป็นชาวอิตาเลียนเต็มตัว แต่ก็โดนรัฐกดขี่ ยึดสัญชาติ ริบทรัพย์สิน และจำกัดพื้นที่ ชัยชนะของบาร์ทาลีในสนามแข่งทำให้มุสโสลินีมองว่าเป็นโอกาสดีที่จะนำนักปั่นชื่อดังมาโปรโมทค่านิยมชนชาติอารยันที่เขาเชื่อมั่นว่าเหนือกว่าชาติอื่น จึงเชิญ (เรียกตัว) บาร์ทาลีเข้าทำเนียบเพื่อทำการฉลอง แต่บาร์ทาลีกลับปฏิเสธอย่างไม่สนใจอะไร และยังประกาศกร้าวว่ามนุษย์เท่าเทียมกัน ถือว่าเขากล้ามากที่ตบหน้าเผด็จการที่ปกครองประเทศอยู่และพร้อมใช้อำนาจจัดการกับทุกคนที่ไม่เห็นด้วยแท้ๆ

โชคดีที่หลังจากนั้น อิตาลีก็เป็นชาติอักษะที่แพ้สงครามไปก่อนเยอรมันและญี่ปุ่น และ มุสโสลินีก็สิ้นอำนาจ แต่ชะตากรรมของชาวยิวในอิตาลีก็ยังไม่ดีขึ้น เยอรมันบุกเข้ามาทางอิตาลีตอนเหนือ และเดินหน้าจัดการกับชาวยิวต่อไปเหมือนกับในทุกประเทศที่เยอรมันบุกได้ ชาวยิวถูกล้อมจับ และส่งตัวไปที่ค่ายกักกันเอาท์วิตช์เพื่อถูกฆ่าอย่างเป็นระบบ และใครให้การช่วยเหลือชาวยิวก็จะได้รับโทษสถานหนักไม่ต่างกับชาวยิวเลย

ฮีโร่ของชาวยิว

ในช่วงเวลานั้นเองที่บาร์ทาลีถูกหัวหน้าบาทหลวงแห่งฟลอเรนซ์เรียกตัวไปเพื่อภารกิจหนึ่ง ด้วยความที่เขาเป็นนักกีฬาชื่อดังและเป็นฮีโร่ของคนในชาติ จึงสามารถไปไหนมาไหนได้ตามใจ ด้วยการบอกว่า เขาต้องการออกปั่นจักรยานเพื่อซ้อม เจ้าหน้าที่ก็พร้อมจะปล่อยให้เขาผ่านด่านตรวจได้ หัวหน้าบาทหลวงจึงต้องการให้เขาช่วยงาน ทำหน้าที่คนรับส่งเอกสารแสดงตนปลอมเพื่อให้ชาวยิวสามารถหนีผ่านด่านตรวจได้ และชาวคาธอลิกที่ศรัทธาในศาสนาอย่างบาร์ทาลีก็ไม่ปฏิเสธโอกาสในการช่วยเพื่อนมนุษย์ต่างศาสนาเหล่านั้น

หน้าที่ของเขาคือ ออกปั่นจักรยาน โดยยัดเอารูปถ่ายของชาวยิวหลายต่อหลายคน ซ่อนไว้ในท่อเฟรม แล้วออกปั่นจักรยานข้ามเมืองโดยบอกเจ้าหน้าที่ว่าเป็นการ “ฝึกซ้อม” ก็ถือว่าไม่แปลกอะไร และใครจะกล้าขัดฮีโร่ของประเทศที่แปะชื่อตัวเองไว้บนเสื้อปั่น แล้วเขาก็ปั่นข้ามเมืองจากฟลอเรนซ์ไปอัสซีซีเพื่อส่งรูปให้กับฝ่ายจัดทำเอกสารปลอมที่มีโรงพิมพ์อยู่ที่นั่น เมื่อเสร็จแล้วเขาก็นำเอกสารกลับไปให้หัวหน้าบาทหลวงอีกครั้ง

เขาทำแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา บางทีก็เปลี่ยนเมืองที่ต้องส่งเอกสาร จัดว่าเป็นความเสี่ยงอย่างมาก เพราะว่าหากถูกจับได้ว่าช่วยเหลือชาวยิว แม้จะเป็นฮีโร่ของชาติ แต่โทษที่เขาจะได้รับคือความตายเท่านั้น ทำให้เขาต้องระวังตัวเป็นอย่างดี โชคดีที่ชื่อเสียงของเขาเป็นบัตรผ่านชั้นดี และถ้าหากตำรวจนาซีจะตรวจจักรยานเขา เขาก็จะบอกว่า นี่คือจักรยานที่ได้รับการปรับแต่งมาเป็นอย่างดี หากให้มือสมัครเล่นไปยุ่งกับมันแล้วก็อาจจะมีปัญหาได้ ทำให้ตำรวจได้แต่ปล่อยเขาไปเท่านั้น

แต่จริงๆ แล้ว ตัวบาร์ทาลีเองก็เสี่ยงตายมาก่อนนั้นแล้ว เพราะว่าก่อนที่จะมารับภารกิจนี้ เขายังได้ช่วยเหลือครอบครัวชาวยิวด้วยการซ่อนพวกเขาไว้ในชั้นใต้ดินของบ้าน และนอกจากนั้น ระหว่างทางการปั่นซ้อมของเขา เขายังเจาะจงเลือกพักที่สถานี Terontola จุดเปลี่ยนรถสำคัญระหว่างสายเหนือกับสายใต้ ที่เต็มไปด้วยทหารนาซีเตรียมพร้อมจะจับกุมชาวยิวที่หลบหนีทางรถไฟและมาเปลี่ยนรถที่นี่ เขากะจังหวะเข้าสถานีใกล้กับช่วงที่รถไฟเข้าจอด และพอฮีโร่เดินเข้าไปในสถานีเพื่อหากาแฟดื่ม ทุกคนก็อยากจะเข้ามาพบ พูดคุย ขอลายเซ็น หรือจับมือกับเขา ทำให้ภายในสถานีวุ่นวายจนเจ้าหน้าที่และทหารต้องเข้ามาจัดการไล่คน เปิดโอกาสให้ชาวยิวที่หลบหนีสามารถเปลี่ยนรถไฟได้โดยปลอดภัย

นักปั่นผู้ปิดทองหลังพระ

ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าภารกิจของบาร์ทาลีได้ช่วยเหลือชาวยิวไปเท่าไหร่ เพราะไม่สามารถวัดได้แน่ชัด ที่สำคัญคือ แม้สงครามจะสงบแล้ว เขาก็ไม่เคยออกมาพูดถึงสิ่งที่ตนเองได้ทำเลย เขาก็กลับมาเป็นนักปั่นจักรยานจริงจัง กลับมาคว้าแชมป์ Tour de France ได้อีกครั้ง และหลังจากเลิกปั่นก็ใช้ชีวิตอย่างสงบ จนกระทั่งหลังจากเขาเสียชีวิตได้ 10 ปี ในปี 2010 ที่ลูกของชาวยิวที่เขาเคยช่วยไว้ในบ้าน ก็ออกมาพูดถึงสิ่งที่เขาทำ รวมถึงสมาชิกของฝ่ายต่อต้านนาซีที่ร่วมงานกับเขาก็ค่อยๆ ออกมาเผยความจริง

หลังจากตรวจสอบข้อมูลต่างๆ บาร์ทาลีก็ได้รับการประกาศเกียรติคุณย้อนหลัง ชื่อของเขาได้รับการยกย่องในประเทศอิสราเอล เข้าหอเกียรติยศที่ Yad Vashem ศูนย์รำลึกการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พร้อมได้รับสถานะประชาชนกิตติมศักดิ์ของประเทศอิสราเอล ก่อนที่การแข่งขัน Giro di Italia ครั้งนี้จะเริ่มต้นขึ้นอีกด้วย

ซิลวาน อดัมส์ ชายผู้ยู่เบื้องหลังการการยก Giro มาจัดแข่งที่อิสราเอลกล่าวถึงบาร์ทาลีว่า

“บาร์ทาลีคือนักปั่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสมัยของเขา แต่เมื่อเทียบกับความยิ่งใหญ่ในฐานะนักปั่นแล้ว เขายิ่งเป็น มนุษย์ ที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่านั้น”

จิโน บาร์ทาลีคือฮีโร่ของประชาชน คือคนดังที่มีครบทุกอย่าง ชื่อเสียง เงินทอง สถานะ แต่ทั้งหมดนั้นคือสิ่งนอกกาย ที่เขาเลือกใช้มันเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ต่างศาสนาด้วยซ้ำ และชาวคาธอลิกที่เข้มงวดอย่างเขาก็ไม่เคยออกมาพูดถึงความยิ่งใหญ่ที่เขาได้ทำลงไป หรือออกมาเรียกร้องการยอมรับอะไรเลยแม้แต่น้อย เหมือนกับที่เขาพร่ำสอนลูกของตัวเองว่า

“ความดี คือสิ่งที่เรากระทำ ไม่ใช่สิ่งที่เราพูดถึง”

By ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล

นัท - สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประเทศญี่ปุ่น ชอบปั่นจักรยาน ฟังเพลง อ่านหนังสือ และเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่ชอบ มีผลงานหนังสือกับสำนักพิมพ์แซลมอนมา 3 เล่มแล้วจ้า

1 comment

  1. มีใครเคยเจอโครงกระดูก 6666666 โครง ด้วยเหรอ??????

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *