จักรยานแบรนด์ไหนชนะแกรนด์ทัวร์เยอะที่สุด?

จากที่ DT รวมข้อมูลแบรนด์ที่ชนะเยอะที่สุดในปี 2018 ไปเมื่อไม่นานมานี้ เลยคิดขึ้นมาสนุกๆ ได้ว่า แล้วแบรนด์ไหนในรอบ 31 ปีที่ผ่านมาที่มีผลงานเป็นแชมป์สนามแกรนด์ทัวร์เยอะที่สุดฦ

พอถึงเวลาค้นข้อมูลเราพบว่า ไม่เคยมีใครรวบรวมข้อมูลพวกนี้ไว้เลยครับ ต้องมานั่งเช็คว่าแชมป์อยู่ทีมไหน แล้วทีมนั้นขี่จักรยานอะไร จนได้ออกมาเป็นข้อมูลชุดนี้ครับ

ทำไมถึงนับแค่ 31 ปี? ถ้าไกลกว่านั้นจะเริ่มดูยากว่าแบรนด์ที่นักปั่นขี่นั้นเป็นจักรยานที่แบรนด์ผู้สนับสนุนให้จริงๆ หรือเปล่า เพราะตั้งแต่ยุค 60s เป็นต้นมาหรือก่อนหน้านั้นอีก มีหลายทีมหรือนักปั่นเองที่ขี่จักรยานที่ช่างฝีมือดีทำให้ แต่ปะยี่ห้อสปอนเซอร์แทน อีกอย่าง 30 ปี ก็คือ 3 ทศวรรษ ซึ่งมันตรงกับยุคเปลี่ยนผ่านของวัสดุที่ใช้ทำจักรยานด้วยครับ

ตอนแรกดูแค่ชาร์ท 31 ปีอย่างเดียว เราอาจจะเห็นแค่ภาพรวมระยะยาว แต่ถ้าลองแบ่งออกทีละสิบปี ก็จะเห็นอีกภาพที่น่าสนใจครับ

ลองดูช่วง 11 ปี แรก 1987-1997

Pinarello เจอห่านทองคำในมิกูเอล อินดูเรนที่คนเดียวก็กวาดแชมป์ Tour de France 5 สมัย และ Giro อีก 2 สมัย

พอมาถึงช่วง 1998-2007 ยุคนี้ต่างไป Pinarello ไม่ได้นำโด่งอยู่รายเดียวแล้ว ชัยชนะเริ่มกระจายตัวไปหลายๆ แบรนด์ ซึ่งก็สะท้อนถึงช่วงเวลาที่ไม่ได้มีตัวเต็งสุดเฟี้ยวกวาดแชมป์ทุกงานอย่างอินดูเรน

และช่วงนี้ก็เป็นยุคที่แบรนด์ใหม่จากฝั่งอเมริกาเริ่มเข้ามาตีตลาดในยุโรป Trek, Cannondale, Specialized เริ่มมีผลงานระดับแกรนด์ทัวร์ จริงๆ ถ้าเรานับยอดชัยชนะของแลนซ์ด้วย Trek จะชนะขาดในตารางนี้ครับ จาก 3 แชมป์จะขึ้นมาเป็น 10 แชมป์ (แลนซ์ได้แชมป์ตูร์ 7 สมัย)

ช่วง 10 ปีล่าสุด ก็เป็นอีกระยะที่น่าสนใจครับ

ผู้นำแบบเด็ดขาดสองรายคือ Pinarello และ Specialized แต่วิธีการสปอนเซอร์ต่างกันมาก

ชัยชนะของ Pinarello มาจากทีม Sky 6 ครั้ง และ Movistar 1 ครั้งในขณะที่ชัยชนะของ Specialized มาจากนักปั่นหลายคนจากหลายทีม (แอนดี้ ชเล็ค, วินเชนโซ นิบาลี, อัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์, ฟาบิโอ้ อารู) ก็อาจจะอนุมานได้ว่า Pinarello โชึดีเลือกสปอนเซอร์ถูกทีม เพราะว่าตามตรงแบรนด์เองก็คงไม่รู้ว่าฟรูมจะกลายมาเป็นผู้ชนะหลายครั้งขนาดนี้ ขณะที่ Specialized เดิมพันกับตัวเต็งหลายคน ทั้งมือเก๋า (คอนทาดอร์, นิบาลี) และดาวรุ่งอย่าง อารูและชเล็ค

 

เรานับชัยชนะยังไง?

  1. นับจากผลชนะรายการ (Overall Classification) ของ Giro d’Italia, Tour de France, และ Vuelta a Espana
  2. นับจากแบรนด์จักรยานที่เป็นผู้สนับสนุนทีมของผู้ชนะอย่างเป็นทางการ
  3. ไม่นับผลชนะ Tour de France ของแลนซ์ อาร์มสตรองระหว่างปี 1999-2005 (ยึดจากผลแข่งขันทางการและไม่นับแบรนด์จักรยานของอันดับสองระหว่างปีดังกล่าว เพราะผลทางการถือว่าไม่มีผู้ชนะ)

รายชื่อผู้ชนะแกรนด์ทัวร์ระหว่างปี 1987-2017, ช่องซ้ายสุด = Giro d’Italia, ช่องกลาง = Tour de France, ช่องขวาสุด = Vuelta a Espana 

 

แล้วเราได้อะไรจากข้อมูลนี้บ้าง?

  1. แบรนด์เก่าแก่ได้เปรียบเมื่อดูข้อมูลระยะยาวแบบนี้ เพราะแน่นอนว่ามีโอกาสสนับสนุนทีมที่ได้แชมป์มากกว่าแบรนด์ใหม่ๆ
  2. แต่ความเก่าแก่ของแบรนด์ก็ไม่ได้การันตีว่าจะได้ชัยชนะ ไม่มีอะไรการันตีว่าสนับสนุนทีมแล้วจะได้แชมป์ บางทีนักปั่นเก่งมาก แต่ดวงไม่ดี ไม่เคยได้แชมป์เลยหรือได้ไม่กี่ครั้งก็มี
  3. ความทุ่มเทของบางแบรนด์ที่ยึดมั่นต้องอยู่สปอนเซอร์วงการทุกๆ ปี ไม่ว่าจะเศรษฐกิจแย่หรือยอดขายเป็นยังไงก็ตามส่งผลดีในระยะยาว (โอกาสได้แชมป์เยอะกว่าแบรนด์อื่นๆ อาทิเช่น Pinarello ในยุคก่อน และ Specialized / Trek ในยุคนี้) นั่นคือได้ brand awareness ในกลุ่มคนที่ติดตามการแข่งขันจักรยาน โดยเฉพาะ Specialized ที่ช่วงปี 2000s สนับสนุนอย่างน้อย 2-3 ทีมทุกๆ ฤดูกาล

จะตีความอะไรมากกว่านี้ก็คงไม่มีประโยชน์เท่าไร เช่นยอดชัยชนะไม่ได้แปรผันกับประสิทธิภาพของจักรยานเสมอไป เพราะแบรนด์ไหนสปอนเซอร์เยอะก็โอกาสชนะเยอะเป็นต้น หรือสปอนเซอร์เยอะก็ใช่ว่ายอดขายจะดี มีอีกหลายปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดเรื่องพวกนี้ (หรือถ้ามองเห็นมุมอื่นที่น่าสนใจลองคอมเมนต์ดูก็ได้นะครับ)​

◈ ◈ ◈

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *