ความเจ็บปวดทำให้เราอยากก้าวข้ามพ้นมัน: บทเรียนจากนักปั่นทีม Movistar (1)

วันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์นักปั่นจากทีม Movistar 3 คน ในงาน Garmin x Movistar Exclusive Fanmeet ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทีมจักรยานอาชีพระดับสูงสุดในโลกได้มาจัดงานพบปะแฟนๆ ในประเทศไทย และนักปั่นที่มาร่วมงานทั้งสามคน – คุณ หลุยส์ แมส (สเปน), แดนเนียล เบนนาต (อิตาลี) และเยอร์เกน โรแลนท์ (เบลเยียม) ก็ได้เล่าถึงประสบการณ์การเป็นนักปั่นอาชีพในหลายๆ มิติทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดีรวมถึงวิธีการรับมือกับมัน ผมคิดว่าน่าเสียดายถ้าคนที่ได้รับฟังจะมีแค่ผู้เข้าร่วมงาน เลยอยากสรุปเรื่องราวที่ทั้งสามคนเล่าออกมาเป็นบทความลงเว็บไซต์ไว้ โดยจะแบ่งเป็นหลายตอนหน่อย แยกทีละประเด็นครับ

อย่างที่เราทราบกัน กีฬาจักรยานถนนเป็นกีฬาที่มีความเสี่ยงอยู่พอประมาณ เราปั่นกันด้วยความเร็วพอสมควร แถมปั่นเป็นกลุ่มบนถนน โอกาสจะเกิดอุบัติเหตุก็มีพอสมควร แล้วยิ่งนักปั่นอาชีพที่เรียกได้ว่าการล้มบาดเจ็บนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาชีพเขาไปแล้ว ผมถามทั้งสามคนว่า:

“ในฐานะนักปั่นอาชีพ คุณต้องล้มบาดเจ็บหลายต่อหลายครั้ง หลายๆ ครั้งก็เป็นการบาดเจ็บหนักที่ต้องทำให้หยุดแข่งขันไปหลายเดือน และต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีกนานกว่าจะกลับมาฟิตพร้อมแข่งทำผลงานเหมือนเดิม คุณรับมือกับมันยังไง?”

ทั้งสามคนตอบในลักษณะคล้ายๆ กัน ซึ่งผมว่าเป็นแนวคิดที่เราไม่พบในกลุ่มนักจักรยานสมัครเล่นทั่วไป เขาตอบว่า “เราต่างมีความเชื่อมั่นว่า ทุกครั้งที่เราเล้มบาดเจ็บไป เราจะกลับมาปั่นได้ดีกว่าเดิม” ฟังดูย้อนแย้งไม่น้อย เพราะอาการบาดเจ็บหลายๆ อย่างที่เขาอธิบายไม่ใช่แค่ล้มถลอก แต่หนักถึงขั้นกระดูกคอ กระดูกสันหลังร้าว แต่ดูจากสีหน้าและความมั่นใจในการตอบแล้ว ก็เห็นว่าพวกเขาเชื่อในเรื่องนี้จริงๆ ทั้งสามคนก็บอกว่า ถ้าไม่คิดแบบนั้นก็คงไม่สามารถเป็นนักปั่นอาชีพได้ เพราะคุณจะท้อและถอดใจไปในที่สุด ​ในการแข่งขันระดับสูงสุดมันไม่มีเวลาและพื้นที่ให้คุณได้สงสัยความสามารถของตัวเอง

แดนเนียล เบนนาต สปรินเตอร์ชาวอิตาเลียนวัย 39 ปี เจ้าของผลงานแชมป์สเตจในทุกแกรนด์ทัวร์

แดนเนียลยกตัวอย่างกรณีของเขาว่า เขาล้มหนักหลายปีก่อน เจ็บจนหมอบอกว่าเขาไม่น่าจะแข่งขันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีก ไหปลาร้าหัก กระดูกสันหลังร้าว และอาการบาดเจ็บก็ยังมีมาจนถึงทุกวันนี้ แต่เขาก็บอกว่า จริงว่าหลังเกิดอุบัติเหตุไม่กี่วันก็รู้สึกสับสนและไม่มั่นใจพอสมควรว่าจะกลับมาซ้อมและแข่งต่อได้ไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระดูกสันหลังที่ส่งผลต่อการมองเห็นและการได้ยินของเขา พอกลับมาปั่นได้อีก เขาก็บอกว่า “ช่วงเวลาที่อยู่ในสนามแข่ง อดรีนาลีนและความรู้สึกอยากจะชนะมันก็ช่วยลดทอนความรู้สึกประหม่าและไม่มั่นใจไปได้…แต่คุณต้องจำไว้ว่า ถึงวันที่ความกลัวและภาพจำของอุบัติเหตุมาวนกลับมาหาคุณบ่อยๆ จนคุณลบมันออกจากใจไม่ได้ วันนั้นแหละที่คุณควรจะเลิกแข่ง เพราะคุณจะทำประโยชน์ให้ทีมไม่ได้อีกแล้ว”

พอทั้งสามคนพูดจบคุณ เจบี โมลิเนโร หรือเราเรียกสั้นๆ ว่าเจบี เป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดก็เล่าเรื่องของอดริอาโน มาลอรี นักปั่นชาวสเปนของทีมที่เคยล้มเจ็บหนักในสนามแข่งในอาร์เจนตินาช่วงเดือนมกราคมปี 2016 ระหว่างที่เขากำลังนำเปโลตองอยู่ ล้อของเขาตกไปในร่องถนน ทำให้เจ้าตัวล้มไถล หัวฟาดกับพื้นที่ความเร็ว 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และตกอยู่ในสภาวะโคม่าหนึ่งเดือนเต็ม หลังตื่นขึ้นมาแพทย์บอกว่าเขาน่าจะพิการถาวรครึ่งตัว คือเดินไม่ได้และต้องใช้รถเข็นวีลแชร์ไปทั้งชีวิต

คุณเจบี โมลิเรโน ผู้จัดการทีมฝ่ายการตลาด

เจบีกล่าวว่า นาทีที่มาลอรีตื่นขึ้นมาและเริ่มได้สตินั้นเขาถามแพทย์ว่าเมื่อไรผมจะกลับไปซ้อมและปั่นได้อีก ถึงแพทย์หลายคนจะบอกว่าเขาพิการครึ่งตัวช่วงล่างและเดินไม่ได้แล้ว แต่เจ้าตัวก็ไม่เชื่อ และหาทางเข้ารับการบำบัดจนกลับมาแข่งได้อีกครั้งในเดือนกันยายน (9 เดือนจากอุบัติเหตุ หรือ 8 เดือนเท่านั้นจากวันที่ตื่นจากโคม่า) เขาให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Cyclingnews ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน

“ผมนอนร้องไห้อยู่หลายเดือน ระหว่างที่ทำกายภาพบำบัดมันมีหลายครั้งมากที่มันยากเกินจะทนจริงๆ ผมอยู่ในสภาวะที่พบว่าตัวเองเดินไม่ได้ แต่ใจก็ไม่พร้อมจะยอมรับ ผมเดินไปห้องน้ำเองไม่ได้อยู่หลายเดือน ล้มกลิ้งเหมือนลูกส้มตกพื้น มันเป็นความเศร้าที่ยากจะกล่าวออกมาเป็นคำพูด อีกครึ่งหนึ่งผมก็อยากจะลุกกลับขึ้นมารักษาตัวเองและปั่นให้ได้อีกครั้ง”

“ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากๆ ไม่ถึงปีผมก็กลับมาเดินได้อีกครั้ง ผมจะกลับมาแข่งได้ในเดือนกันยายนในขณะที่คนอื่นๆ ที่ประสบชะตาเดียวกันไม่สามารถทำงานที่พวกเขารักไปได้ตลอดชีวิต ระหว่างที่อยู่โรงพยาบาลผมเห็นหลายๆ คนต้องก้าวข้ามปัญหาเดียวกับผม มันทำให้คุณรู้สึกขอบคุณที่ยังมีชีวิตอยู่ ผมไม่ใช่คนที่พิเศษอะไร ก็แค่นักแข่งจักรยานวัย 27 ปี แต่ผมไม่ยอมรับว่าตัวเองจะต้องนั่งรถเข็นไปตลอดชีวิต ผมได้ยินว่ามีเด็กชาวเยอรมันที่เขาก็มีปัญหาแบบผม แต่ก็ตั้งใจทำกายภาพจนเอาชนะคำเตือนของแพทย์ได้ กลับมาเดินและใช้ชีวิตได้เป็นปกติอีกครั้ง ซึ่งมันเป็นแรงบันดาลใจให้ผมมากๆ เลย แพทย์ทุกคนบอกผมว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอก มันยากมากที่คุณจะกล้าคิดต่างกับแพทย์ และพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาต่างหากที่ตัดสินผิด”

“ผมจะไม่ยอมให้ร่องถนนโง่ๆ มาทำลายชีวิตและอาชีพที่ผมรัก”​

มาลอรีกลับมาแข่งต่อได้อย่างที่เขาต้องการ และแข่งต่อได้อีกครึ่งปีก่อนจะตัดสินใจอำลาวงการในระหว่างการแข่งขัน Tour de France ปี 2017 อาการบาดเจ็บนั้นมีผลกระทบกับร่างกายเขามากกว่าที่ประเมิณไว้ ถึงจะใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติแต่มาลอรีไม่สามารถแข่งได้เต็มประสิทธิภาพ และเลือกไปทำงานด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาแทน โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมจักรยานอิตาลี

เรื่องราวของมาลอรีและเกร็ดจากนักปั่นทั้งสามคนที่เราสัมภาษณ์ทำให้เราได้เห็นถึงทัศนคติที่ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคที่บางครั้งร้ายแรงจนทำให้ใช้ชีวิตเป็นปกติไม่ได้ และนั่นก็บ่งบอกถึงความเป็นมืออาชีพที่ทำให้พวกเขาได้อยู่ในทีมจักรยานที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และประสบความสำเร็จเป็นอันดับต้นๆ ในทุกๆ ฤดูกาลนั่นเองครับ

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!