อนาคตของไบค์ฟิตติ้ง: 5 ประเด็นสำคัญจากงาน IBFI 2019 ที่รวมไบค์ฟิตเตอร์ระดับโลกมาถกกัน

ช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา DT ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานประชุมและสัมมนา International Bike Fitting Institute Asia 2019 (IBFI ASIA 2019) ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเอเชีย โดยมีจุดมุ่งหมายหลักที่จะยกระดับและสร้างมาตรฐานการฟิตติ้งจักรยาน

The International Bike Fitting Institute หรือ IBFI คือหน่วยงานอะไร…?

IBFI เป็นองค์กรระดับนานาชาติเพื่อพัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรมการฟิตติ้งจักรยานโลก โดยมีการแบ่งการจัดลำดับความสามารถของฟิตติ้งอย่างชัดเจนและเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ

IBFI นั้นปกป้องสิทธิของ bike fitters ที่ได้รับการฝึกอบรมในขณะเดียวกันก็ช่วยให้นักปั่นได้รับบริการที่ดีตามที่คาดหวังครับ ทาง IBFI ยังอธิบายอีกว่า องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่างเราได้รับการดูแลควบคุมจาก bike fitter และผู้เชี่ยวชาญด้านการฟิตติ้งชั้นนำระดับโลก อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรชั้นนำในธุรกิจและสถานที่ให้ความรู้ต่างๆ อีกด้วย

ปีนี้ทาง IBFI ได้จัดงานประชุมและสัมมนาครั้งนี้ในเอเชียเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพนี่เอง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างฟิตเตอร์และแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งภายในงานเต็มไปด้วยเหล่าฟิตเตอร์ชื่อดัง อาทิ Steve Hogg ที่มีประสบการทำฟิตติ้งมามากกว่า 30ปี ซึ่งฟิตเตอร์ท่านอื่นๆ บอกกับเราว่าเค้าคือฟิตเตอร์มือหนึ่งของโลก, Andy Brooke ประธานคนปัจจุบันของ IBFI, John Julius Bennett หรือที่เรารู้จักกันในชื่อโค้ชเจเจ จาก JJ Pro Performance Centre, Kwanchai Nualchanchy หรือพี่ตั้ม จาก Velocity Bike Fit & Performance Lab, Chatchawan Mankhantikul หรือพี่อี้ต จาก Sporttech เป็นต้น

ตลอดทั้งงาน DT ได้ความรู้มากมายด้านการฟิตติ้ง อีกทั้งยังได้เห็นการทำงานและการแลกเปลี่ยนความรู้กันของเหล่าฟิตเตอร์ โดยเราขอสรุปออกมาเป็นประเด็นสำคัญใหญ่ๆ ดังนี้ครับ

 

1. เป็นไปได้ไหมที่จะสร้างมาตรฐานในการฟิตติ้งใหม่สำหรับคนเอเชีย?

DT พบว่าหนึ่งในประเด็นสำคัญในงานนี้เลยก็คือการพูดถึงสรีระของคนเอเชีย เพราะโดยส่วนใหญ่ศาสตร์และค่าสถิติต่างๆ ที่ใช้มักถูกอ้างอิงจากสรีระของคนยุโรปและอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ นั่นอาจทำให้ค่าสถิติเหล่านั้นไม่เหมาะสมเท่าที่ควรในการนำมาวิเคราะห์และพิจารณาในการทำฟิตติ้งให้กับคนเอเชีย

ในงานนี้ได้มีการระดมความคิดของเหล่าฟิตเตอร์เกี่ยวกับประเด็นนี้เป็นอย่างมาก โดยในบางช่วงมีการวิเคราะห์ลึกถึงกิจวัตรประจำวันของคนเอเชียด้วย เช่น ในช่วงวัยเรียน ผู้หญิงมักใส่กระโปรง ทำให้สรีระในการเดินและการนั่งพยายามที่จะหนีบขาเข้าด้านในให้ชิดที่สุด เมื่อทำแบบนั้นไปนานๆ ก็ส่งผลให้กล้ามเนื้อจดจำรูปแบบเหล่านั้น และในที่สุดส่งผลต่อการขี่จักรยาน เช่น ทำให้เวลาปั่น ส่วนใหญ่มักจะหุบเข่าเข้าด้านใน

หรือแม้แต่ในกลุ่มผู้ชายเองก็มีสัดส่วนของช่วงลำตัวต่อความยาวขาและแขนที่แตกต่างจากคนยุโรป ในเรื่องนี้ ฟิตเตอร์แต่ละคนก็ได้ยกตัวอย่างที่เคยพบเจอมา รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาของเคสนั้นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

สุดท้ายฟิตเตอร์แต่ละคนจึงมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นและทำให้แก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ

 

2. อุปกรณ์ต่างๆ ที่ฟิตเตอร์เองแนะนำว่าควรจะมีให้เลือกใช้

หนึ่งในนั่นคือแฮนด์นั่นเองครับ ฟิตเตอร์มักพบว่าผู้ชายบางส่วนและผู้หญิงส่วนใหญ่ในเอเชียมีความกว้างของหัวไหล่ที่แคบกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนฝั่งยุโรป แต่แฮนด์ไซส์เล็กที่สามารถหาได้ในประเทศกลับอยู่ที่ประมาณ 38 เซนติเมตรเท่านั้น ทำให้หลายเคส ฟิตเตอร์ต้องการเลือกใช้งานแฮนด์ที่มีขนาดเล็กกว่านั้น เช่น 34 หรือ 36 เซนติเมตร ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาของผู้ปั่นได้ดีเท่าที่ควรเนื่องจากข้อจำกัดของอุปกรณ์ที่มีขายในประเทศ

อีกอุปกรณ์ที่พูดถึงเป็นอย่างมากคือขาจานนั่นเองครับ เพราะถ้ายกตัวอย่างในประเทศไทยแล้ว จะหาขาจานความยาว 160 หรือ 165 มิลลิเมตรมาใช้นั้นยากมาก เมื่อไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าวให้เลือกใช้งาน กลายเป็นต้องใช้ขาจานที่ยาวกว่า ซึ่งส่งผลเสียต่อการปั่น อีกทั้งยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บตามมา

DT มองว่าฟิตเตอร์เองไม่มีส่วนร่วมในการขายอุปกรณ์ดังกล่าวอยู่แล้ว แต่นี่คือประเด็นสำคัญที่ฟิตเตอร์อยากสื่อสารกับผู้ปั่นจักรยาน และยังเป็นการส่งต่อข้อมูลดังกล่าวไปยังร้านค้าในประเทศ ทำให้มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นในสินค้าและอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับคนในประเทศนั้นๆ ครับ

 

3. การให้ความสำคัญกับการวัด Cg (Center of gravity)

หนึ่งในสิ่งที่ DT สนใจเลย คือเรื่องนี้ครับ ฟิตเตอร์เองเริ่มให้ความสำคัญกับค่า Cg หรือ จุดศูนย์ถ่วง มากยิ่งขึ้น การเปลี่ยนตำแหน่งบางอย่าง เช่น ปรับเลื่อนเบาะ มักจะมีผลกระทบไปที่การวางมือ เป็นต้น

แต่ในปัจจุบันฟิตเตอร์มีรูปแบบและระบบในการคำนวณหาค่าตำแหน่ง Cg นี้ด้วยครับ เพราะเมื่อทำการปรับอุปกรณ์บางอย่างบนตัวรถ ส่วนใหญ่จะส่งผลให้ตำแหน่งของ Cg เปลี่ยนไปครับ เมื่อค่าตำแหน่งของ Cg สามารถวัดได้ ก็สามารถนำมาคิดร่วมกับค่าอื่นๆ เป็นระบบได้ ท้ายสุดแล้วจะทำให้สามารถปรับระยะต่างๆ ให้สอดคล้องกันยิ่งขึ้น ช่วยให้สามารถแก้ปัญหารวมทั้งป้องกันอาการบาดเจ็บที่จะตามมาได้ดียิ่งขึ้น

 

4. Automated Fitting: เมื่อ AI จะช่วยให้เราเข้ากับจักรยานได้ดีขึ้น

เทคโนโลยีแรกที่น่าสนใจคือระบบ Automated fitting หรือเครื่องมือที่เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์และหาค่าที่เหมาะสมของผู้ปั่นแบบอัตโนมัติ เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยในการฟิตติ้ง อนาคตเราอาจจะแค่ขึ้นไปปั่นบนเครื่องนี้ แล้วเครื่องสามารถปรับหาค่าที่เหมาะสมกับเราได้เลย

ส่วนตัวแล้ว เรามองว่าในอนาคตมีความเป็นไปได้สูงที่เครื่องมือเหล่านี้จะเข้ามาเป็นตัวช่วย แต่คิดว่าคงต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร เพราะหากนึกถึงตอนไปฟิตติ้ง เราจะพบว่ามีขั้นตอนที่ละเอียดมาก ฟิตเตอร์เองต้องวิเคราะห์ร่างกายในหลายๆ ส่วน บางครั้งอาจต้องจับหรือกดบางจุดของตัวผู้ปั่นเพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น พี่ตั้ม ฟิตเตอร์จากร้าน Velocity บอกกับเราว่า

“สิ่งที่เครื่องมือเหล่านี้ ไม่สามารถเข้ามาแทนที่ฟิตเตอร์ได้ นั่นก็คือ eye contact หรือการสื่อสารระหว่างผู้ปั่นกับฟิตเตอร์นั่นเอง ซึ่งระบบ AI ยังไม่สามารถที่จะเข้ามาทดแทนตรงจุดนี้ได้”

ในอนาคตเราคงเห็นเครื่องมือเหล่านี้เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการฟิตติ้ง แต่ยังคงเป็นการทำงานร่วมกันกับฟิตเตอร์ครับ

 

5. 3D printed custom components

หรือการสร้างอุปกรณ์เฉพาะจากเทคโนโลยีการปรินต์แบบสามมิติ วันนี้ต้องบอกว่าเทคโนโลยีการปรินต์แบบสามมิติได้เข้ามามีส่วนช่วยเป็นอย่างมากต่อการผลิตอุปกรณ์ต่างๆ และในอนาคตเราคงได้เห็นมากยิ่งขึ้น เช่น การปริ้นตัวเบาะที่ออกแบบมาให้รองรับกับผู้ปั่นคนนั้นเลย แบบที่ Specialized และ Fizik เปิดตัวออกสู่สาธารณะเมื่อกลางปีนี้

นอกจากนี้ยังมีการสร้างแอโร่บาร์ให้เข้ากับสรีระของผู้ปั่น หรือการสร้างเฟรมจักรยานที่มีระยะและองศาต่างๆ เฉพาะตัว เรียกได้ว่าเรามาถึงจุดที่สร้างอุปกรณ์ขึ้นมาแบบเฉพาะตัวให้เหมาะสมกับผู้ปั่น ไม่ต้องปรับตัวเราเข้าไปหาจักรยาน แต่ปรับที่ตัวจักรยานและอุปกรณ์เข้ามาหาตัวเรานั้นเองครับ

 

สรุป

โดยรวมเราได้เห็นถึงความพยายามของเหล่าฟิตเตอร์ที่ต้องการจะพัฒนาระบบในการฟิตติ้งให้มีประสิทธิภาพที่ดีและสูงยิ่งขึ้น โดยได้คำนึงถึงปัจจัยหรือขอบเขตที่กว้างขึ้น อย่างในกรณีที่วิเคราะห์กันลึกถึงการใช้ชีวิตประจำวันที่ได้พูดถึงข้างต้น หลากหลายประเด็นที่ต่างๆ ที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน ทำให้กระบวนการทำฟิตติ้งให้กับผู้ปั่นดียิ่งขึ้น สุดท้ายเราเองในฐานะนักปั่นจักรยานทุกคนก็จะได้รับการบริการที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตครับ

ต้องขอขอบคุณพี่ตั้ม ขวัญชัย นวลจันทร์ฉายจากร้าน Velocity และร้าน Cycling Project ผู้สนับสนุนงาน ที่ชวน DT เข้าไปฟังสาระดีๆ และนำมาเล่าต่อในเว็บไซต์ Ducking Tiger ครับ 

Published
Categorized as Going Fast

By ทศธรรม ตรรกวาทการ

นิสิตปริญญาเอก ผู้คลั่งไคล้ในศาสตร์และวิศวกรรมด้านจักรยาน ว่างจากแลปเมื่อไหร่ ก็ว่าย ปั่น วิ่ง ชื่นชอบที่เห็นคนไทยผลิตนวัตกรรมไปแข่งกับต่างชาติ