บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวขาเข้าจังหวัดมิยากิ อย่างไรก็ตามเนื้อหาภายในบทความเป็นความเห็นและมุมมองของ DT ทั้งหมด ทางองค์กรฯไม่ได้กำหนดเนื้อหาในบทความว่าต้องนำเสนอเรื่องใดเป็นพิเศษแต่อย่างใด
เมื่อปลายปีที่แล้ว ผมและทีมงาน DT รวมทั้งทีม Boxmatch Travel ได้รับเชิญไปร่วมงาน Marumori Cycle Festa เป็นครั้งที่ 2 (ครั้งแรกของ Boxmatch) และด้วยความเป็นครั้งสองนี้ จึงทำให้เราได้ละเมียดละไมรายละเอียดเล็ก ๆ ของงานที่อาจมองข้ามไปตอนครั้งแรกเพราะความตื่นตาตื่นใจ
มารุโมริ เป็นเมืองขนาดเล็ก อยู่ทางตอนใต้สุดของจังหวัดมิยากิ นอกจากจะอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นซึ่งประชากรเบาบางแล้ว ยังไกลปืนเที่ยงจากเมืองใหญ่อีกมากโข ไม่มีแม้กระทั่งร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven หรือ Lawson ที่ปรกติละลานตาเต็มประเทศญี่ปุ่น
เมื่อหลายศตวรรษก่อน มารุโมริเคยเป็นเมืองของเหล่าพ่อค้าคนกลาง รวบรวมสินค้าจำพวกดอกไม้สีสันสดใสอันเป็นวัตถุดิบของลิปสติก ส่งไปขายไกลถึงเกียวโต นาระ และโอซาก้า มีโกดังเก็บสินค้าเรียงรายอยู่ในเมือง แต่ในปัจจุบันกิจการเหล่านี้ปิดตัวลงหมดแล้ว เหลือไว้เพียงสิ่งปลูกสร้างที่เคยเป็นโกดัง ส่วนการค้าขายก็ถูกย้ายเข้าเมืองใหญ่ไปอยู่กับบริษัทขนาดใหญ่ตามยุคสมัย ทำให้มารุโมริเงียบเหงาลงจนน่าใจหาย
เช่นเดียวกับเมืองชนบทอีกมากในญี่ปุ่นที่กำลังประสบปัญหาประชากรหดตัว อัตราการเกิดต่ำ ผู้สูงอายุชราลงทุกวัน เด็ก ๆ และวัยรุ่นก็ย้ายเข้าเมืองใหญ่ไปทำงาน หากปล่อยไว้ ไม่มีมาตรการใด ๆ เมืองก็จะมีแต่ผู้สูงอายุ ไม่มีการว่าจ้างงาน ทำให้เก็บภาษีไม่ได้ เมื่อไม่มีภาษีมาธำรง ระบบสาธารณูปโภคและการขนส่งมวลชนในท้องถิ่นนั้นก็ดำเนินต่อไม่ได้ จนทำให้เมืองร้างในที่สุด หน่วยงานรัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าหากประชากรยังหดตัวด้วยอัตราเท่านี้ไปเรื่อย ๆ จะมีเมืองราว 900 เมืองที่อยู่ไม่ได้และกลายเป็นเมืองร้างภายในปีค.ศ. 2040
ปฏิกิริยาลูกโซ่เมื่อเมืองเล็กร้างมากเข้า ๆ คือพื้นที่อยู่อาศัยน้อยลง ประชากรที่เหลือถูกบังคับให้ย้ายเข้าเมืองใหญ่ ผู้คนกระจุกตัวกันจนเมืองใหญ่ล้นและรองรับไม่ไหว ค่าครองชีพแพง อสังหาริมทรัพย์ก็เต็มและแพงจนเอื้อมไม่ถึง
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่สัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก และคาดว่าภายในปี ค.ศ. 2100 ประชากรญี่ปุ่นจะหดตัวลงถึง -41% จึงไม่แปลกที่ญี่ปุ่นจริงจังกับปัญหานี้และผลกระทบที่จะเกิดตามมาอย่างมาก เพื่อต่อสู้กับปัญหานี้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งในญี่ปุ่นถึงกับมีหลักสูตรปริญญาโทสาขาการฟื้นฟูเมือง และรัฐบาลเองก็มีหน่วยงานย่อย ๆ และงบประมาณมหาศาลที่ตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์ดึงคนเข้าเมืองเล็กเช่นกัน
วิธีการที่ทางการใช้เพื่อดึงคนเข้าเมืองเล็กมีหลากหลาย โดยเน้นที่การสร้างงานที่ยั่งยืนในเมืองเล็กเหล่านั้น เช่น ส่งเสริมการเกษตรยุคใหม่ สร้างของดีประจำถิ่นขึ้นมา และแน่นอน ส่งเสริมการท่องเที่ยวไปยังที่นั้น ๆ เป็นต้น เป้าหมายของโครงการเหล่านี้ครอบคลุมทั้งคนท้องที่นั้น ๆ ที่ตอนนี้ทำงานอยู่เมืองใหญ่ และคนที่เกิดและโตเมืองใหญ่ตั้งแต่แรก
คุณเก็งคิ เป็นคนมารุโมริโดยกำเนิด อาชีพหลักของเขาคือเป็นนักกายภาพบำบัด เปิดคลินิกเล็ก ๆ อยู่กลางเมือง และเขาก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่อยากเห็นเมืองเล็ก ๆ ที่เป็นบ้านเกิดของเขาต้องกลายเป็นหนึ่งใน 900 เมืองร้างในอนาคต จึงเข้าร่วมโปรเจ็คกับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อคิดหาวิธีฟื้นฟูเมือง ด้วยใจรักในกีฬาจักรยาน เขาจึงเป็นตัวตั้งตัวตีในการสร้างอีเวนต์ Marumori Cycle Festa ขึ้นมาเมื่อปี 2014
จากที่ได้ไปร่วมอีเวนต์ปั่นจักรยานมาทั้งในไทยและในญี่ปุ่น รู้สึกได้ชัดเจนว่างานมารุโมริมีเอกลักษณ์แตกต่างจากงานในไทยทั้งหมดที่เคยไปมา
ประการแรกคือมันไม่ใช่การแข่งครับ ไม่ใช่เลย มันคือการปั่นชมวิวจริง ๆ ไม่มีชิปไทม์มิ่ง ไม่มีนาฬิกาที่เส้นชัย แถมยังปล่อยตัวทีละ 5 คันเพื่อป้องกันการเกี่ยวกันล้มด้วย (ชิลล์สุด ๆ) บางคนพาน้องหมาซ้อนท้ายจักรยานมาด้วย บางคนแต่งคอสเพลย์ชุดซามูไรมาปั่น ก็สุดแล้วแต่แต่ละคนจะครีเอตกัน แถมรูตการปั่นก็มีให้เลือกถึง 3 เส้น ตั้งแต่ 19, 40, และ 78 กม. ให้เหมาะกับทุกระดับความสามารถ สร้างบรรยากาศที่อบอุ่น ทุกคนสนุกร่วมกันได้ ไม่เกิดความรู้สึกว่า “งานนี้มีแต่ขาแรง ฉันไปก็คงรู้สึกแปลกแยก ไม่สนุก” เลยแม้แต่น้อย
ประการที่สองนี่ฉลาดมาก ส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นอะไรที่ฉลาดยิ่งกว่าฉลาด เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้น มารุโมรินั้นไกลปืนเที่ยงมาก ถ้าพาครอบครัวมาด้วย แต่สมาชิกครอบครัวไม่ได้ปั่นจักรยาน ก็คงเบื่อ ไม่มีอะไรทำ ไปที่ไกล ๆ เพื่อฆ่าเวลาก็ลำบาก เขาก็เลยจัดตลาดนัด (แบบชิค ๆ) ตั้งแต่เช้ายันเย็นควบคู่ไปกับงานปั่น ชื่องาน Maruvelo จัดอยู่ในพื้นที่โกดังสินค้าเก่าซึ่งถูกอนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติแห่งชาติ และใกล้กับจุดสตาร์ทและเส้นชัย แล้วเชิญร้านบูทีค ๆ จากทั่วจังหวัดมิยากิมาเปิดร้าน มีทั้งร้านกาแฟโมก้าพ็อต ร้านขนมปังกับชีสราเคล็ต ร้านของทำมือน่ารัก ๆ เก้าอี้นั่งเล่นกลางสวนหย่อม ไปจนถึง Rapha Pop-up Shop, Chapter 2 Pop-up Shop และงานจัดแสดงภาพถ่ายจากตูร์เดอฟรองซ์โดยคุณเค ทสึจิ ช่างภาพจักรยานระดับโลก ท้ังหมดนี้ก็เพื่อสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ได้ปั่นจักรยานนั่นเอง (แถมคนปั่นปั่นเสร็จ มาเดินในงาน ก็อาจได้เสื้อ Rapha กลับบ้านอีก โอย)
ประการที่สาม ประการสุดท้ายแต่สำคัญที่สุดเลย คือการมีส่วนร่วมของคนในเมือง ไม่น่าเชื่อว่าอีเวนต์อายุน้อยเพียง 3-4 ปีแบบนี้จะมีโมเมนตัมจูงใจคนทั้งเมืองมาช่วยกันจัดได้มากมายขนาดนี้ นี่ไม่ใช่งานสำหรับอีลีตที่ต้องใช้ออร์กาไนเซอร์มืออาชีพมาจัด แต่ทุกคนคืออาสาสมัครจากมารุโมริและเมืองข้าง ๆ ในปีแรกที่เรามา (2017) เรายังแค่เข้าร่วมในวันงานอย่างเดียว แต่ปีถัดมาได้มีโอกาสมาดูตั้งแต่หนึ่งวันก่อนงาน ได้เห็นอาสาสมัครมาตั้งโต๊ะ กางเตนท์ ช่วยตั้งซุ้มออกสตาร์ท ปรินต์รายชื่อผู้เข้าร่วมงาน และอำนวยความสะดวกอื่น ๆ อีกมากมาย แถมพอตกกลางคืน ก็มีบาร์บีคิวสำหรับอาสาสมัครทุกคน พร้อมดนตรีจากกลองไทโกะช่วยสร้างความครึกครื้นได้เป็นอย่างดี
ยิ่งไปกว่านั้น ในวันงาน จะมีจุดเช็คพอยต์ต่าง ๆ ที่มีอาหารไว้บริการ นอกจากน้ำดื่มและเครื่องดื่มเกลือแร่แล้ว ยังมีอาหารอย่างผักดอง ซุป ข้าวปั้นสามเหลี่ยม และอาหารอื่น ๆ ที่ดูจริงจังกว่าของกินเวลาปั่นจักรยานไปมาก ซึ่งของเหล่านี้ก็เป็นอาหารท้องถิ่นของเหล่าแม่บ้านในเมืองที่ช่วยกันตระเตรียมมากึ่งบริการกึ่งต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยไมตรี (และความจุกท้อง — ห้ามปั่นเร็วครับ ฮา)
สำหรับเด็กเล็กและผู้สูงอายุในเมือง ที่การยกโต๊ะหรือทำอาหารหม้อยักษ์ออกจะเกินกำลังไปเสียหน่อย ก็ยังได้มีส่วนร่วมไปกับงานด้วยการออกมาโบกไม้โบกมือและให้กำลังใจอยู่ตลอดสองข้างทาง อีกทั้งเมื่อจบงาน ก็ไม่ใช่แพ็ครถกลับบ้าน ทางใครทางมันอีก เพราะในงานยังมีจับฉลากสุ่มแจกรางวัลต่อ ตั้งแต่ของเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างหม้อหุงข้าวเอย ทีวีเอย ซึ่งของรางวัลเหล่านี้ก็มาจากบริษัทท้องถิ่นนั่นแหละครับที่สนับสนุน ทุกคนก็ดูเอ็นจอย ไม่รีบกลับแต่กลับนั่งรอลุ้นรางวัลกันอย่างจริงจัง มีเสียงเฮเมื่อประกาศรางวัลอย่างชื่นมื่น (ไม่เคยเห็น lucky draw ที่คนสนใจขนาดนี้มาก่อนเลยครับ ฮา) จึงจะเห็นว่างานนี้ไม่ทอดทิ้งใครไว้เลย เป็นงานของทุกคนจริง ๆ ไม่ใช่แค่คนบ้าจักรยานเพียงกลุ่มเดียว เพราะในงานนี้ จักรยานก็เป็นเพียงพาหนะที่นำเอาชีวิตชีวามาสู่เมืองเท่านั้น
กิจกรรมที่ดึงเอาทุกคนในชุมชนมาร่วมแรงร่วมใจ ร่วมอาสาและดำเนินงานให้ลุล่วงไปด้วยจุดหมายเดียวกันนั้น ย่อมสร้างความผูกพันระหว่างชาวเมืองได้ดี ทำให้ผู้คนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เป็นคนของเมืองนั้น ๆ ความรักและผูกพันกับพื้นที่ที่อาศัยนี้เองเป็นสิ่งที่หายากในมหานครต่าง ๆ สีสันและชีวิตชีวาเช่นนี้น่าจะช่วยคงผู้คนเหล่านั้นเอาไว้ในเมืองเล็กแต่อบอุ่น และช่วยโน้มน้าวคนรุ่นใหม่ให้ออกจากความโกลาหลในเมืองใหญ่มาได้บ้าง
เคซี่ ไนสแตต ยูทิวเบอร์อันดับต้น ๆ ของโลกเคยกล่าวไว้ในวิดิโอของเขาว่า ‘[NYC] is a place where you’re all at once surrounded by thousands of people that are entirely alone. […] No one lives in NYC, you simply survive in this place. […] You see no one is in this city because they want to relax. No one is here because they want to slow down in life. […] This city is 9 million people packed in a tiny island, everyone chasing something down and that something is a career.’
ในนิวยอร์ก ผู้คนนับหมื่นแสนรายล้อมคุณ แต่ทุก ๆ คนล้วนอยู่ด้วยตัวคนเดียว […] อันที่จริง ไม่มีใครอาศัยอยู่ในนิวยอร์กหรอก มีแต่คนพยายามเอาตัวรอดอยู่ในนิวยอร์กต่างหาก […] ไม่มีใครมาที่นี่เพื่อมาพักผ่อน ไม่มีใครมาที่นี่เพื่อใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ […] เกาะเล็ก ๆ นี่มีคนอยู่ตั้งเก้าล้านคน ทุกคนล้วนมีเป้าหมายบางอย่าง และเป้าหมายที่ว่านั้นก็วน ๆ อยู่กับเรื่องอาชีพการงานนั่นแหละ
ในฐานะคนที่เกิดและโตในเมืองหลวงมาตลอดชีวิต และได้มีโอกาสย้ายออกมาอยู่เมืองรองหลัง ๆ นี้ ผมเห็นด้วยกับเคซี่ทุกประการ เมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลกคงมีลักษณะคล้ายกันตรงที่ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาเพื่อหน้าที่การงานเป็นหลัก ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัวไม่มาก และไม่ได้รู้สึกว่าเป็นที่ของเราจริง ๆ สักเท่าไร คงจะดีหากมีที่ที่อยู่แล้วสบายใจ ไม่วุ่นวาย แล้วก็มีงานทำเลี้ยงตัวและครอบครัวไปพร้อมกันได้
ก็หวังว่าไอเดียเล็ก ๆ ที่เริ่มจากนักกายภาพคนหนึ่งที่รักจักรยานนั้น จะเป็นฟันเฟืองในการช่วยแก้ปัญหาระดับประเทศได้ หากมันไปได้ดี โมเดลนี้คงถูกนำไปใช้กับเมืองอื่น ๆ ต่อไป
อ้างอิง:
https://www.who.int/ageing/publications/global_health.pdf