พรีวิว: Omloop Het Nieuwsblad และ Kuurne-Brussel-Kuurne

Welcome to the Spring Classics!

หมดกันทีกับสนามแข่งตะวันออกกลาง ทะเลทราย สายลมและอูฐ! ช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนสำหรับเหล่านักปั่นมืออาชีพแล้วมันคือฤดูกาลที่เราเรียกว่า Spring Classics หรือช่วงแข่งสนามคลาสสิคประจำฤดูใบไม้ผลินั่นเองครับ ทำไมต้องเรียกว่าสนามคลาสสิค? นั่นก็เพราะว่าสนามแข่งส่วนใหญ่นั้นมีอายุมานานกว่า 50 ปี บางรายการที่ดังๆ ก็อายุร่วมร้อยปีเช่น Paris-Roubaix, Liege Bastonge Ligege และ Tour of Flanders

สนามแข่งส่วนใหญ่เป็นการแข่งกันวันเดียวจบ จะจัดอยู่บริเวณประเทศเบลเยียมเกือบทั้งหมดและเป็นช่วงที่ยุโรปยังอากาศค่อนข้างหนาวเย็น เส้นทางมักจะมีถนนหินโบราณหรือที่เราเรียกว่า Cobbled road เป็นไฮไลท์ สร้างความยากในการแข่งขันเข้าไปอีก แทคติค เกมการแข่งก็จะต่างกับสนามสวยๆ เรียบๆ อย่างในดูไบ หรือโอมานโดยสิ้นเชิง สำหรับคอแฟนจักรยานแล้วช่วง Spring Classic แทบจะเรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์ของปีครับเพราะการแข่งขันนั้นชิงไหวชิงพริบ ต้องอาศัยทั้งฟอร์มที่ดี ทีมที่แกร่งและสำคัญสุดคือโชค คุณพลาดเพียงครั้งเดียวก็ไม่มีวันรุ่งขึ้นให้แก้ตัวเหมือนในรายการสเตจเรซ

ความเป็นมา

Omloop preview

เกริ่นมายาว สนามคลาสสิครายการแรกนั่นก็คือ Omloop Het Nieuwsblad ในวันเสาร์ (1 มี.ค.) และ Kuurne-Brussel-Kuurne หรือ KBK ในวันอาทิตย์ (2 มี.ค.) โดยปรกติจะจัดคู่กันแบบนี้อยู่แล้ว สำหรับ Omloop เรียกได้ว่าเป็น Mini Tour of Flanders ก็ว่าได้เพราะมีสภาพเส้นทางคล้ายๆ กันและใช้เนินชันชุดเดียวกันหลายส่วน คนที่หวังจะชิงแชมป์ Fladners ต้องมาลงสนามนี้เพื่อที่จะได้ทดลองกำลังคู่แข่งและทำความคุ้นชินกับสนามก่อน

Omloop จัดมาแล้วกว่า 68 ปี เริ่มมาตั้งแต่ปี 1945 โดยมีชื่อการแข่งขันครั้งแรกว่า Omloop Het Volk ตามชื่อหนังสือพิมพ์ผู้จัด พักหลังมา นสพ. Het Volk มาร่วมกับ Het Niewsblad ชื่อสนามเลยกลายเป็น Omloop Het Nieuwsblad อย่างที่เห็นครับ ผู้จัดนั้นก็เป็นคนเดียวกับที่จัด Tour of Flanders ตอนนี้มีสถานะเป็นสนามแข่งระดับ UCI 1.HC มีคะแนนสะสมให้ทีมและนักปั่นเยอะทีเดียว

เส้นทาง Omloop

เส้นทางการแข่งขัน Omloop เปลี่ยนไปทุกปี ปีนี้เริ่มจากเมืองเกนท์ (Gent) ไป Gerraadsbergen อ้อมไปอ้อมรวมระยะทางได้ 198 กิโลเมตรระหว่างทางก็มีเนินเก๋ๆ ปูถนนหินโบราณให้ลุยกันกว่าสิบลูก ดูโปรไฟล์ได้จากรูปข้างล่างครับ

Omloop Profile

ความยากจะอยู่เนินชันๆ สั้นๆ หลายๆ ลูกต่อๆ กันบวกกับทางหินโบราณที่กระเทือนเข้าไปถึงเครื่องในและอากาศที่หนาวเย็น ถ้าเลือกวางตำแหน่งไม่ดีในจุดสำคัญก็อาจจะโดนขาแรงยกหนีแล้วตามไม่ทันอีกเลย เนินลูกสุดท้ายอยู่ห่างเส้นชัย 37 กิโลเมตร ต่อจากนั้นจะเป็นการลุยถนนหินโบราณสามช่วงก่อนเข้าเส้นครับ

ตัวเต็ง Omloop

ทีมที่ลงแข่ง Omloop ส่วนมากจะลงสนาม KBK ต่อกันเลยครับ เพราะสถานที่จัดอยู่ใกล้กันและไม่ต้องคอยเวีียนตัวนักปั่นจากค่ายซ้อม จัดมาชุดเดียวแล้วก็ลงสองงานเลยก็ว่าได้ วัดกันจากฟอร์มช่วงสองเดือนที่ผ่านมาแล้ว ทีมที่มีลุ้นมีเยอะทีเดียว มาดูกันทีละทีมตามความแกร่งดีกว่า

1. Omega Pharma-Quickstep: A+
ทีมนี้ลูกทีมทุกคนมีความสามารถพอจะชนะงานนี้ครับ เริ่มจากพ่อ Tom Boonen ผู้ซึ่งยังไม่เคยชนะ Omloop สักที แต่ฟอร์มกลับร้อนแรงตั้งแต่ Tour of Qatar คว้าชัยไปสองสเตจและคว้าที่สองอีกด้วย ทุกอย่างน่าจะลงตัวสำหรับ Boonen ปัญหาเดียวคือเป็นนักปั่นที่โดนหมายหัวตลอด ขยับตูดก็โดนประกบแล้ว แต่ไม่ต้องห่วงไปเพราะในทีมยังมีสายโหดอย่าง Niki Terpstra แชมป์ Tour Qatar ปีนี้, Stijn Vandenbergh ที่เกือบจะลุ้นแชมป์ Roubaix ปีก่อน (โดนตากล้องเตะตัดขาล้มไปจูบพื้น) และ Zdnek Stybar แชมป์โลก Cyclocross คนล่าสุดที่เชี่ยวชาญสนามหินเป็นอย่างดี แผนของ OPQS ไม่มีอะไรมาก เอาตัวเต็งทุกคนในทีมขึ้นไปอยู่หน้าสุดให้ใกล้เส้นชัยที่สุด คนไหนร่วง มีตัวเลือกรอเสียบเสมอ จึงเป็นทีมที่น่ากลัวมาก เพราะทีมอื่นไม่มีนักปั่นที่จะตามประกบได้ทุกคนของ OPQS

BMC มาเต็มแน่นอน
BMC มาเต็มแน่นอน

2. BMC Racing Team: A-
ตามที่วิเคราะห์มาในบทความล่าสุด BMC ปีนี้ฟอร์มแรงและพร้อมลุย Focus มากกว่าเดิมด้วย นำทัพโดย Thor Hushovd แชมป์โลกเก่า และ Taylor Phinney แชมป์ดูไบ พร้อม Marcus Burghard โดเมสติกขั้นเทพ และ Greg Van Avermaert นักปั่นที่ทำผลงานในฤดูคลาสสิคได้ดีที่สุดสำหรับ BMC แทบทุกปี เป็นอีกหนึ่งทีมที่ตัวเลือกเยอะและน่าเชียร์ครับ

3. Belkin Pro Cycling & Katusha: B
Belkin มีแชมป์เก่าปี 2012 Sep Vanmarke เป็นตัวชูโรงพร้อมกับ Lars Boom ยอดมนุษย์เครื่องดีเซ​ลที่น่าจะเข้าขากันได้ดี เช่นเดียวกับ Katusha ที่เอาอิตาเลียนเก๋าเกมอย่าง Luca Paolini แชมป์ปี 2013 กลับมาป้องกันชื่อเสียง สามคนนี้อาจจะไม่มีทีมที่แกร่งแต่เป็นคนที่เลือกจังหวะยิงได้ดีครับ รอดูกัน

4. ม้ามืด
นอกจากทีมยักษ์แล้วยังมีม้ามืดที่ลุ้นขึ้นอีกหลายคน Sky มี Edvalnd Boassan Hagen และ Ian Stanard ที่พอจะดูสู้คนอื่นได้บ้าง แต่ยังต้องพิสูจน์ตัวเองอีกพอสมควร Garmin เอา Sebastian Langeveld ที่ย้ายบ้านมาจาก GreenEdge เป็นหัวหน้าทีม ส่วน IAM นั้นโหดใช้ได้มีทั้ง Sylvain Chavanel และ Heinrich Hassuler และอย่าลืมว่า Gerald Ciolek แชมป์ Milan-San Remo จาก MTN-Qhubeka ปีที่แล้วก็มาด้วยครับ

 

KBK Preview

เส้นทางและตัวเต็ง KBK

ในมุมกลับ สนาม KBK จะไม่มีเนินให้ปีนเยอะ เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่จะจบด้วยการสปรินต์และเป็นสนามคลาสสิคสนามเดียว (ถ้าไม่รวม San Remo) ที่สปรินเตอร์มีสิทธิคว้าแชปม์เยอะที่สุด KBK ครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 66 แล้วแต่สปรินเตอร์แรงๆ ไม่ได้มาลงกันเท่าไร Cavendish แชมป์เก่าไม่มา Kittel ไม่มา เหลือแค่ Griepel และ Boonen (แชมป์ 2 สมัย) ที่น่าจะเด่นสุด ส่วนสปรินเตอร์เกรด B มี Arnaud Demare (FDJ), Tyler Farrar (Garmin), Alexander Kristoff (Katusha) และ Bryan Coquard (Europcar) ครับ

เนินหลักๆ ใน KBK ไม่เยอะมาก ช่วงท้ายเป็นทางราบ
เนินหลักๆ ใน KBK ไม่เยอะมาก ช่วงท้ายเป็นทางราบ

ถ้าจะให้เดาตัวเต็ง
Omloop: Tom Boonen, Niki Terpstra, Jurgen Roelandts
KBK: Andre Griepel, Tom Boonen

แต่อาจจะเจอม้ามืดเสียบเหมือน Paolini ในปีที่แล้วก็ได้นะ :)

[button color=”black” text=”white” url=”” window=”_self”]ลิงก์ถ่ายทอดสด 20:30 เสาร์ 2 มี.ค. / อาทิตย์ 3 มี.ค.[/button][button color=”red” text=”white” url=”http://procyclinglive.com/livestream” window=”_blank”]ProCycling Live.com[/button]

ปล. GMM ถ่ายเฉพาะ KBK วันอาทิตย์ครับ ส่วนใครพลาด Omloop และ KBK ของปีที่แล้วดูการแข่งตัวเต็มได้ตามวิดีโอข้างล่าง

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *