เมื่อเราไปปั่นขึ้นดอยอินทนนท์ครั้งแรกและแพ้หมดท่า

Photo: Bharat Mohan / Unsplash

พอเราปั่นจักรยานมาได้ระยะหนึ่ง ผมเชื่อว่าทุกคนจะค่อย ๆ มองหาความท้าทายใหม่ที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง จากปั่นครบ 100 กม. แรก ไปสู่ Av. Speed >30 กม./ชม. ครั้งแรก ไปสู่เขาลูกแรกที่ขาไม่แตะพื้น ไปสู่งานแข่งแรก และอื่น ๆ ต่อไปตามความชอบของแต่ละคน

แต่สำหรับผมกับพี่นัท เราหลงรักภูเขา มันมีสเน่ห์บางอย่างที่ยากจะบรรยาย เมื่อเราขึ้นถึงยอดเขาแล้วมองลงมา ความอิ่มเอมใจที่ได้จากการต่อสู้แรงโน้มถ่วงด้วยขาสองข้างนั้นหาความรู้สึกอื่นใดเปรียบได้ยากเหลือเกิน

เช่นนั้นแล้วผมเสนอทริปสุดท้ายก่อนสั่งลาปี 2018 ด้วยการชวนพี่นัทไปขึ้นดอยอินทนนท์

ถึงเราสองคนจะปั่นจักรยานจริงจังกันมาหลายปีดีดักแล้ว ขึ้นเขาทั้งในไทยและต่างประเทศกันมาพอประมาณ แต่เราทั้งคู่ก็ยังไม่เคยได้มาลองของกับภูเขาเลื่องชื่อลูกนี้ของจังหวัดเชียงใหม่กันสักครั้ง

“พี่นัท ไปขึ้นดอยอินฯส่งท้ายปีกันมั้ยครับ”
“เออ ดี ไหนๆ ปีนี้ก็ตั้งใจปั่นเต็มที่แล้ว ปิดท้ายปีแกรนด์ๆ ด้วยระดับ HC ไปเลยดีกว่า”

ง่าย ๆ เท่านี้ เราก็ตระเตรียมจองตั๋วเครื่องบินและที่พักกันสำหรับทริปนี้ ใจหนึ่งก็คิดว่ามันต้องยากมากแน่ ๆ ส่วนอีกใจหนึ่งก็คิดว่ามันจะยากขนาดไหนกันเชียว

…เดี๋ยวก็รู้

เขาบอกว่าเตรียมตัวขึ้นอินทนนท์มันไม่เหมือนขึ้นเขาลูกอื่น

 

นัท: ปีนี้เป็นปีที่ผมกลับมาตั้งใจปั่นจักรยานอย่างจริงจัง หลังจากห่างจากมันไปนานจนเรียกได้ว่าแทบจะลืมไปแล้ว การได้กลับมาครั้งนี้ก็เพื่ออะไรหลายๆ อย่าง และเพื่อที่จะได้พิสูจน์ตัวเองว่ายังรักจักรยานอยู่หรือเปล่า

ปีนี้ผมได้ไปแก้แค้นภูเขาลูกนึงที่ปั่นไม่จบเพราะไม่แข็งแรงพอ ใช้เวลาอยู่นานกว่าจะอัปเลเวลตัวเองจนกลับไปเอาชนะมันได้อีกครั้ง การขึ้นเขานี่มันทรมานแต่มันก็สนุก

ผมก็คิดว่า ไหนๆ ทั้งทีแล้ว ปิดท้ายปีก็ต้องไปให้สูงไปเลยสิ และจะมีอะไรสูงไปกว่า ยอดดอยอินทนนท์ ไปได้ล่ะครับ พอวีชวนมา ผมก็ตอบปากรับโดยแทบไม่ได้คิดอะไร แต่ปัญหาหนึ่งก็คือ ช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ผมเดินทางบ่อยมาก แม้จะมีทริปจักรยานด้วย แต่เพราะตารางการเดินทาง ทำให้มีเวลาปั่นน้อยมาก ที่สำคัญคือไม่มีเวลาซ้อมเวทเทรนนิ่ง เลยห่วงเหมือนกันว่าจะไหวไหม ก่อนไปดอยอินทนนท์ ผมยังไปญี่ปุ่น 11 วันไม่ได้แตะจักรยาน กลับมาได้ซ้อมปั่นเบาๆ แค่สองครั้งก็ต้องไปแล้ว แต่ ก็นั่นแหละครับ The Show Must Go On (ทำเสียงเฟรดดี้ เมอคิวรี่)

วี: ถึงผมเป็นคนชวนเองแต่ก็ไม่ได้ซ้อมอะไรเป็นพิเศษ ด้วยปัจจัยในชีวิตและภาระปะปังก็ทำให้ปั่นได้น้อยกว่าที่ตั้งใจไว้ บางวันที่ตั้งใจจะไปซ้อมก็ไม่ตื่นบ้าง ขี้เกียจเมื่อถึงเวลาบ้าง จนสุดท้ายเหลือเวลาเพียง 3 สัปดาห์ก่อนบิน ผมจึงเร่งรัดด้วยการไปซ้อมขึ้นเขาใหญ่-เขาเขียวสัปดาห์ละ 1 ครั้งติดกัน 2 สัปดาห์ช่วงสุดสัปดาห์ บวกกับซ้อมเซ็ต Sweet Spot 20 นาทีบนเทรนเนอร์ในวันธรรมดา การซ้อมแบบไฟลนก้นแบบนี้กอปรกับการไม่ทำการบ้านว่าดอยอินฯนั้นมันมีสโลปตรงไหนบ้าง กี่เปอร์เซนต์ ความยาวเท่าไร ก็เรียกได้ว่าทั้งอ่อนซ้อม ทั้งไปตายเอาดาบหน้าอย่างแท้จริง

คูน: เมื่อรู้ว่าทั้งสองคนนี้จะหนีเราไปขึ้นดอย ผมเลยบอกว่าไปปั่นแล้วกลับมาเขียนเล่าให้ฟังด้วยนะ (ในใจก็รู้ว่าซ้อมแค่นี้ไม่รอดกันแน่ๆ แต่มันคือแผนครับ ถ้าไม่มีดราม่าเรื่องก็ไม่สนุกสิ วะฮ่าๆๆ)

Photo: Ash Edmonds / Unsplash

ทำความรู้จักอินทนนท์

งานปั่นขึ้นดอยอินทนนท์เป็นงานจักรยานที่ได้รับความนิยมที่สุดในประเทศไทยในแต่ละปี แต่เราเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ยังไม่เคยไป และอาจจะยังไม่เข้าใจว่าทำไมมันถึงเป็นเป้าหมายของคนปั่นจักรยานทั่วประเทศที่อยากจะพิชิตมันให้ได้สักครั้ง จริงแล้วดอยอินทนนท์เป็นเส้นทางขึ้นเขาที่พิเศษมากครับ ทั้งเรื่องความท้าทาย และระดับความยากนั้นเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย และไม่น้อยหน้าไปกว่าภูเขาสูงชันอื่นๆ ที่ใช้แข่งขันกันในจักรยานอาชีพเลย

ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,565 เมตร ดอยอินทนนท์เป็นทั้งภูเขาจุดที่สูงที่สุดในประเทศไทย เส้นทางที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือเส้นทางรายการ อินทนนท์คนพันธ์อึดที่จัดแข่งต่อเนื่องมา 11 ครั้งแล้ว

เส้นทางดอยอินทนนท์ที่นิยมปั่นและใช้เป็นเส้นทางแข่งประจำปีนั้นก็จะเป็นเส้นที่เริ่มจากอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ 0 จากสามแยกไปจบที่กิโลเมตร 46 ซึ่งเป็นยอดดอยพอดี ถ้าเราไม่นับทางราบช่วงเริ่ม เส้นทางที่เป็นการปีนเขาทั้งหมดจะอยู่ที่ 38 กิโลเมตร คิดเป็นความชันเฉลี่ย 6% (นับจากเซกเมนท์​ Inthanon Climb from Chom Thom ใน Strava)

เส้นทางแบบ 3 มิติ (เริ่มจากสามแยก)
สีที่ต่างกันระบุความชันของเส้นทาง ดูระดับความชันได้จากมุมขวาล่างครับ

ด้วยระยะทางการขึ้นเขาเกือบๆ 40 กิโลเมตร การขึ้นดอยอินฯ จึงไม่เหมือนการขึ้นเขาที่ไหน เพราะนอกจากนักปั่นต้องมีความอึด (endurance) สามารถปั่นจักรยานออกแรงหนักๆ ต่อกันได้หลายชั่วโมงแล้ว ยังต้องมีความแข็งแรง (strength) พอจะสู้กับทางชันได้เป็นเวลานานด้วย สื่อจักรยานหลายสำนักจัดให้ดอยอินทนนท์เป็นหนึ่งในภูเขาที่ท้าทายที่สุดในเอเชีย

สำหรับคนที่ไม่เคยไป ถ้าดูสถิติแค่นี้ ว่าชันแค่ 5% เองอาจจะโดนหลอกได้ เพราะอย่างที่หลายคนเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ความท้าทายของดอยอินคือช่วง 9 กิโลเมตรสุดท้ายที่มีความชันเฉลี่ยถึง 9.3% และตามประสาการตัดถนนแบบประเทศไทย ระดับเปอร์เซนความชันเชื่อไม่ได้ครับ จุดที่ชันที่สุดของภูเขาก็อยู่ที่ 9 กิโลเมตรสุดท้ายนี้ ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้คุณอาจจะปั่นไปแล้วหลายชั่วโมงจนหมดแรง ปวดกล้ามเนื้อไปหมด

ภูเขาในยุโรปที่ใช้แข่งในสนามอย่าง Tour de France หรือ Giro d’Italia ถึงจะมีระยะทางยาว แต่ส่วนมาก ไม่ชันต่อเนื่องยาวๆ แบบดอยอินฯ ของไทยที่รวมเอาทั้งความยาวและความชันไว้ด้วยกันในลูกเดียวครับ ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมถึงเป็นเส้นทางที่คนสมัครมาปั่นกันมากที่สุดในทุกปี เพราะเพียงแค่ปั่นให้จบถึงยอดได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว

การเดินทาง

นัท: แพลนของเราช่างดูไร้เดียงสาเหลือเกิน ผมแทบไม่มีเวลาจัดการอะไร เลยแล้วแต่วี ซึ่งก็เป็นคนจัดการหาที่พัก เครื่องบิน วางแผนการเดินทางให้ ซึ่งผมก็ถามว่า แล้วเราจะไปตีนเขายังไงจากโรงแรมในตัวเมืองเชียงใหม่ วีก็ตอบอย่างสบายๆ ว่า ก็ปั่นไปสิ

อืม… ดังนั้นแผนของเราก็คือ นั่งเครื่องบินไปเชียงใหม่ เอากระเป๋าจักรยานไปที่โรงแรมที่จะพักคืนที่สอง แล้วก็ประกอบจักรยาน ฝากกระเป๋าจักรยานไว้ เอาสัมภาระเท่าที่จำเป็นแบกใส่หลัง แล้วปั่นจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปจอมทอง ระยะทางประมาณ 60 กิโลนิดๆ แล้วก็พักที่รีสอร์ตแถวๆ ตีนดอย วันที่สองตื่นมาปั่นขึ้นดอยอินทนนท์ แล้วก็ลงมา เก็บของ ปั่นกลับเข้าเชียงใหม่ ชิลล์ที่เชียงใหม่ แล้ววันที่สามก็เดินสายหาร้านกาแฟฮิพๆ ทำตัวเก๋ๆ แล้วก็บินกลับกรุงเทพกันตอนเย็น

แหม่ ฟังดูดี แต่มานึกอีกที ถ้าเราขึ้นดอยแล้วเราจะปั่นกลับเชียงใหม่กันไหวเหรอ ตรงนี้ก็ทำเอาผมหวั่นๆ ใจ แต่ก็เอาวะ มันต้องมีทางสิ

ซึ่งวันแรกก็เป็นตามแพลนครับ ปั่นไปจอมทองนี่สบายมาก ทางเรียบ มีลมส่ง แทบไม่ได้ออกแรง ถนนก็กว้างดี รถไม่เบียดเรา แถมแดดไม่ออกอีก โอ๊ยสบาย ติดแค่คนบ้าหอบฟางอย่างผมดันมีสัมภาระที่ต้องแบกหนักหลายกิโล เล่นเอาปวดหลังเหมือนกัน ถึงที่พักแล้วก็เลยต้องคลายกล้ามเนื้อหน่อย ระหว่างทางนี่จัดว่าเงียบๆ ไม่มีอะไร แต่พอเข้าถึงจอมทองก็ว้าวเลยทีเดียวครับ เพราะว่าเป็นอำเภอเล็กๆ ที่มีอะไรต่อมิอะไรครบครันมาก ร้านสะดวกซื้อก็พร้อม ทำให้เราหาของกินเตรียมเสบียงอะไรไม่ยากเลย  จากนั้นก็รีบเตรียมของแล้วก็เข้านอนเพื่อเอาแรงเตรียมขาในวันต่อไปนั่นล่ะครับ

ข้างหน้าเราคือดอยอินทนนท์

วี: เช้าวันรุ่งขึ้น หลังทานข้าวต้มร้อน ๆ แสนอร่อยของ Golden Palm Resort เรียบร้อย เราก็ปั่นออกจากที่พัก เลี้ยวผ่านสามแยกอินทนนท์ ปั่นมาประมาณ 10 กม. จนมาถึงทางแยกก่อนถึงด่านตรวจที่ 1 ของอุทยาน อันเป็นจุดเริ่มต้นของเซกเมนต์อินทนนท์ใน Strava จนได้ เราสองคนตกลงกันว่าเราจะปั่นขึ้นไป 100 เมตร เข้าห้องน้ำที่ข้างด่านตรวจก่อน แล้วค่อยไหลลงมาเพื่อเริ่มเซกเมนต์อีกที (ทำไมคนสร้างเซกเมนต์ไม่เริ่มตรงด่านตรวจครับบบ!?) เอ้อ Strava นี่มันก็มีผลต่อพฤติกรรมคนไม่น้อยเลยนะ (ทาสโซเชียลอ่ะครับ – นัท)

พ้นด่านตรวจไปเกือบ 10 กม. เต็ม ๆ จาก 39 กม. ความชันเฉลี่ยแค่ประมาณ 1% ถึงตรงนี้ผมเริ่มมีลางสังหรณ์ไม่ดีแล้ว เริ่มจินตนาการเส้นทางที่รออยู่ข้างหน้าไม่ออก ถ้า 25% ของระยะทางมันจะชันแค่ 1% แล้ว 100% มันชันเฉลี่ย 5% นี่แสดงว่าตอนท้าย ๆ มันต้องชันเป็นกำแพงแน่ ๆ

ความท้าทายมาครั้งแรกตรงน้ำตกวชิรธารกับน้ำตกสิริธาร ประมาณกิโลเมตรที่ 11-16 ที่ชันประมาณ 10-12% ยาว 1 กม. นวดเราจนอ่วมครับจุดนี้ พ้นตรงนี้แล้วก็พอได้พักหายใจโล่งหน่อย แต่ก็ยังมีทางชันต่ออีก 2 กม. ก็คือคอยนวดเราไปเรื่อย ๆ ถึงตอนนี้ผมยังโอเคอยู่ ทานเจลตามแผนที่กำหนดไว้ในใจ ดื่มน้ำบ่อย ๆ ตามที่คิดไว้

เราแวะเติมน้ำกันก่อนถึงที่ทำการอุทยานนิดนึง แล้วก็ไปต่อ พ้นที่ทำการอุทยานแป๊บเดียวก็เจอความท้าทายอีกแล้ว จุดนี้ชันประมาณ 11% และยาวเกือบ 3 กม. แต่ก็ยังควงไปได้เรื่อย ๆ ถึงตรงนี้ผมทำกล้วยตากที่เตรียมมาหลุดมือไปชิ้นนึงตอนกำลังฉีกซอง ลางเริ่มไม่ดี กล้วยหาย พลังงานก็หายตาม ใจเริ่มแป้ว เพราะเตรียมของกินมาแบบที่คิดเอาเองว่าน่าจะพอดี ๆ

จนสุดท้ายผมก็มาถึงด่านตรวจที่ 2 ตรงกิโลเมตรที่ 30 จึงก้มดูเวลาที่ไมล์ ใช้ไปประมาณ 2:36 ชม. รู้สึกใจชื้นขึ้นมาหน่อย คิดเอาเองว่าไม่เลว หารู้ไม่ว่าอีก 9 กม.นั้นคือนรกที่ความสูง 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลชัด ๆ

 

หรือเราจะปั่นไม่จบ?

นัท: หลังจากที่ผ่านช่วงที่ทำการอุทยานมาได้ระยะหนึ่ง จากที่เราปั่นตีคู่กัน บางทีก็คุยกันนู่นนี่สัพเพเหระ แต่พอเริ่มมึความชันเพิ่มขึ้นมาเป็นะระยะ ช่องว่างระหว่างผมกับวีก็ค่อยๆ ห่างขึ้น ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร เพราะที่ผ่านมาวีก็ขึ้นเขาดีกว่าผมมาโดยตลอด เดี๋ยวค่อยไปเจอกันตามจุดพักหรือบนยอดอีกที

แต่พอถึงด่านที่ 2 ผมกลับไม่เจอวี แสดงว่าวีคงไม่รอเจอกันทีนี่ คงกะไปเจอกันที่จุดพักข้างหน้าเลย ผมก็ไม่ได้แวะเหมือนกัน ไปต่อเลย เอาเถอะ ในหัวผมตอนนั้นคือ นี่คือช่วงโหดแล้วสินะ ก่อนมาคูนก็เตือนว่า เหลือแรงไว้ช่วงท้ายด้วย ก็เป็นคำพูดที่ยังติดอยู่ในหัวผมอยู่ตลอดทางที่ปั่นขึ้นมา

จากที่ก่อนถึงด่าน ผมยังปั่นไล่มาได้เรื่อยๆ พยายามคุมโซนหัวใจให้ไม่หนักเกินไป ซึ่งผมก็คิดว่าตัวเองทำได้ดีพอใช้เลยล่ะ แต่พอเลยด่านมา ก็เรียกได้ว่า เจอหมัดฮุคเข้าไปเต็มคางครับ

ก่อนหน้านี้ผมได้ไปปีนภูเขาไฟซะโอที่ญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นเนี่ย เขาตัดถนนได้เป๊ะมาก ความชันจากพื้นถึงยอดคือ 6-7% แบบนิ่งๆ ไม่มีกระดกขึ้นกระดกลงเลย มันทำให้เราเลี้ยงแรงไปได้เรื่อยๆ ถึงจะมีทางโค้งพับไปมาเยอะ แต่ข้อดีคือ ถ้าเราคุมจังหวะตัวเองได้ ก็ไปได้สบายๆ เพราะความชันมันคงที่ แต่พอมาเจอดอยอินทนนท์ เราก็ตัดถนนเอาสะดวกนั่นล่ะครับ ไม่รู้ว่าหลักเกณฑ์ของเราเป็นอย่างไร ช่วงท้ายถึงได้พีคสมราคาจริงๆ จู่ๆ ก็ชันเหมือนเจอกำแพงอยู่ตรงหน้า!

ต่อให้พยายามคุมโซนมาแค่ไหน เจอความชันแบบสีแดงอย่างนี้ บวกกับแดดที่สาดลงกลางกบาลพอดี หัวใจก็พุ่งขึ้นไปโดยไม่สามารถควบคุมอะไรได้อีกต่อไป มีขวาตบเกียร์ขึ้นไป กับความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าจะมีเฟืองหลังที่ใหญ่กว่ารออยู่ แต่ตอนนั้นผมก็อยู่ที่เฟือง 32 สุดแล้ว การพยายามดันเกียร์ขึ้นไปอีกก็เป็นแค่กิจกรรมปลอบใจตัวเองเท่านั้น ผมพยายามกัดฟันถีบต่อไป ในหัวก็มีแต่คิดว่า จบให้สวย เท้าไม่แตะพื้นสิ ในขณะที่อีกมุมหนึ่งก็มีเสียงแว่วๆ มาว่า ยอมเถอะ พักหน่อยไม่เห็นเป็นอะไร ใครเขาก็ทำกัน เวลามีอีเวนต์ ก็มีหลายคนเข็นจักรยานวิ่งขึ้นกันนี่นา ผมพยายามไล่ความคิดตัวหลังออกจากหัว แต่สุดท้ายแล้ว ไม่รอดครับ

นาทีนั้นผมคงต้องเลือกระหว่าง จบแบบไม่สวย กับไม่จบเลย เพราะถ้ายังดึงดันไปต่อ ไม่เซล้ม ก็คงหัวใจวายไปก่อนครับ ผมสะบัดเท้าซ้าย ปลดคลีต ลงมายืนหอบ แต่สายตายังมองไปข้างหน้า เพ่งไปที่พระธาตุที่เป็นจุดสังเกตหลัก แน่นอนว่าร่างกายของผมกำลังค่อยๆ แหลกสลาย แต่ใจไม่อยากแพ้ครับ พักได้นิดนึงก็ขึ้นล็อกคลีต ออกปั่นพยายามไปต่อ พยายามไม่นึกอะไรนอกจาก ซ้าย ขวา ซ้าย ขวา แต่สุดท้าย ก็ไปไม่ไหว ต้องจอดอีก หลังจากนั้นก็เป็นภาพวนไปมาของการ จอด พัก กลับขึ้นปั่น จอด พัก วนไปมาชนิดที่ผมยังเบื่อตัวเองว่ามีปัญญาแค่นี้เหรอ

ตอนนั้นขาไม่มีตะคริวหรืออะไรเลยนะครับ เพียงแต่ว่ามันไม่ทำงานเอาดื้อๆ นั่นล่ะครับ ไม่ได้เจ็บไม่ได้อะไรเลย แต่มันไม่ยอมไปไหนอีกแล้ว หลังจากมีบางช่วงที่ผมต้องเข็นเพราะคิดว่าคงไม่ไหวจริงๆ ก็มีช่วงที่พอปั่นไปได้ จนได้ไปพักที่กิ่วแม่ปานชาร์จพลังหน่อย ก็คิดว่าคงไปต่อไหว แต่เอาเข้าจริงๆ คนเรามันฟื้นเร็วขนาดนั้นไม่ไหวหรอกครับ สุดท้ายผมก็วนลูปเดิม ในหัวผมมีอยู่สองสามอย่างที่วนเวียนไปมาคอยให้กำลังใจตัวเองอยู่

อย่างแรกคือ เนื้อเพลงของวง The Academy Is… ท่อนที่ร้องว่า Always Up and Down, Never Down and Out มีขึ้นมีลง แต่ไม่เคยจมและล้มเลิก

อย่างที่สองคือ บทกวีของ Dylan Thomas ที่ถูกนำมาใช้ในหนังเรื่อง Interstellar ท่อนที่ว่า Do no go gentle into that good night จงประจันหันสู้กับความตาย

ใช่ครับ ถ้าจะแพ้ ผมก็จะไม่ยอมแพ้แบบไม่ทิ้งอะไรไว้ ตอนนั้นก็ได้แต่คิดว่า เข้ามาเลย ต่อให้มีพักมีอะไร ก็จะเอาชนะภูเขานี้ให้ได้ และภาพที่ขึ้นในหัวคือศึก Rumble in the Jungle ที่โมฮาหมัด อาลี หลังพิงเชือก โชว์ให้เห็นว่าแก่แต่ไม่ได้หมดสภาพ ล่อคนหนุ่มอย่างจอร์จ โฟร์แมนให้ออกหมัดจนเหนื่อย แล้วค่อยสวนกลับเอาตอนท้ายจนชนะไป

อาลีในหัวผมก็ค่อยๆ โยกไปมา มีเหนื่อย มีโดนหมัดบ้าง แต่ก็ไม่ยอมแพ้ และจะเอาชนะให้ได้ในท้ายสุด

สองขาผมก็ได้แต่ทำหน้าที่ตามสมองสั่งอย่างอิดออด มันทรมานขนาดที่เห็นปลายเนินอยู่ตรงหน้า ระยะไม่กี่เมตร แต่ผมยังไปไม่ถึง ต้องจอดพักหายใจก่อน เพราะอากาศเบาบางลงมาก และรวมกำลังเข้าสู้กับมันอีกที

สุดท้ายแล้วสิ่งที่ยึดมั่นในใจทั้งหลาย มันก็ช่วยให้ผ่านมาได้ สภาพผมสะบักสะบอมเต็มที่ พอพ้นเนินสุดท้าย ไปจนถึงสถานีตรวจสภาพอากาศ ก็ได้แต่รู้สึกว่า เออ นี่มันคุ้มกับความพยายามที่ผ่านมาแล้วจริงๆ ถ้าขึ้นมาด้วยยานพาหนะอื่นก็คงไม่รู้สึกแบบนี้ แน่นอนว่าผมรู้สึกดีมากๆ ที่ขึ้นมาถึงจนได้ แต่อีกมุมหนึ่ง ก็รู้สึกว่านี่ยังไม่ใช่ชัยชนะที่ขาวสะอาด ผมยังมีภารกิจต้องล้างแค้นเจ้าภูเขาลูกนี้อีก เพราะครั้งนี้ผมพักเยอะเหลือเกิน มันต้องมีรอบสอง และรอบต่อๆ ไปสิ

 

วี: พ้นด่านตรวจที่ 2 ปุ๊บ ดราม่าทันที ปั่นไปได้แค่ 1 กม. จู่ ๆ ขาเริ่มไม่ทำงาน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ยังดี ๆ อยู่เลย มองไปข้างหน้า ทางชันระดับเลขสองหลัก รอบขาลดเหลือ 50 รอบต่อนาที หัวใจเริ่มอยู่โซน 4 ปลาย แตะโซน 5 ด้วยประสบการณ์ระดับโนวิซตีโปริ่งก็ต้องรู้แล้วว่าไม่สามารถยืนระยะแบบนี้ไปอีก 7-8 กม.ได้แน่นอน

สภาพเหมือนอยู่ในเกมแล้ว HP เหลือ 1 แต่กำลังโดนบอสวิ่งไล่อะครับ โคตร hopeless

ขาซ้ายถูกปลดออกจากบันไดอย่างไม่เต็มใจ ผมยืนอยู่ข้างทางอย่างหงอย ๆ รอให้หัวใจลง รอให้ขามีแรงมากขึ้นอีกหน่อย แล้วก็ค่อยปั่นต่อ แต่เมื่อปั่นไปได้อีกไม่เท่าไรก็ต้องยอมปลดคลีตอีก …ครั้งที่หนึ่ง กลายเป็นครั้งที่สอง ที่สาม และที่นับครั้งไม่ถ้วน

ทางข้างหน้าชันขึ้นอย่างไม่ลดละ ผมพยายามยืนปั่นเพื่อไม่ให้รถล้ม แต่กลับเป็นกลวิธีที่ไม่ฉลาดนัก หัวใจพุ่งสูงขึ้นเข้าโซน 5 อย่างถาวร จานหน้า 34 ซี่กับเฟืองหลัง 32 ซี่ที่ผมเคยคิดว่าพร้อมงัดทุกเขาในโลกใบนี้เริ่มไม่เป็นอย่างที่คิด

มือขวาผมพยายามดันก้าน SRAM DoubleTap อย่างสิ้นหวัง ผมอยู่ที่เฟือง 32 แล้ว ไม่มีเฟืองที่เบากว่านี้อีกแล้ว ข้างหน้าผมคือพระมหาธาตุเจดีย์ฯ เพียงเลี้ยวขวาไปก็จะถึง แต่กลับอยู่สูงลิบ ระยะแค่ไม่กี่สิบเมตรแต่ความสูงก็ต่างกันเป็นสิบเมตรเช่นกัน ชันอะไรขนาดนี้ ดอยอินฯ

ผมมาถึงทางเลี้ยวเข้าพระมหาธาตุเจดีย์ฯอย่างทุลักทุเล เห็นร่มคันใหญ่สำหรับรปภ. ก็รีบเข้าไปจอดแล้วนั่งพักเลย ไม่ไหวแล้ว ถึงจะอยู่สูง 2,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล แต่แดดตอนบ่ายโมงของสยามประเทศก็ไม่ปรานีปราศรัย อุณหภูมิสูงถึงยี่สิบองศาปลาย นั่งหอบอยู่สัก 5 นาทีก็ถามรปภ.ว่าพอมีน้ำให้เติมไหมครับ เขาก็ใจดีบอกว่าพ้นสะพานไปมีแทงก์น้ำดื่มอยู่ เข้าไปเติมได้เลย

เติมน้ำเสร็จสรรพ นั่งพักอีก 5 นาที ออกปั่นต่ออย่างลำบากลำบน ดูแล้วแค่อีก 5 กม.ก็ไม่น่าไหว ท้องเริ่มหิว ขาเปื่อยเต็มทน แค่กดบันไดสปีดเพลย์ให้คลิปยังเป็นเรื่องยาก ทั้งที่ปรกติมันเป็นบันไดที่ใส่ง่ายแสนง่าย ผมเลี้ยวซ้ายอีกทีเข้าไปซื้อซาลาเปาที่กิ่วแม่ปาน นับจากด่านตรวจที่ 2 มา ตอนนี้ผ่านมาหนึ่งชั่วโมงนิด ๆ แล้ว ปั่นไปได้แค่ 5 กม. น่าสมเพชสิ้นดี ใจเริ่มมีคำถามว่าอีก 4 กม. จะไหวจริงหรอ จะยูเทิร์นแล้วยอมแพ้ไปเลยมั้ย

สุดท้ายจบลงที่ความคิดว่า ถ้ายังปั่นไหว แม้แค่อีกหนึ่งรอบบันได ก็จะขอปั่นต่อ ขอไปให้สุดเท่าที่จะสุดได้ ไม่ถึงเดี๋ยวพี่นัทคงมาปลุกที่ข้างทาง ตรงไหนสักแห่งเองล่ะมั้ง

ยังเหลือด่านสุดท้าย ที่นิยมเรียกกันว่าเนิน TOT ซึ่งชันไม่แพ้เนินพระธาตุ ถึงตอนนี้ภาพข้างหน้าเริ่มเบลอ สติเริ่มตัดเป็นแว่บ ๆ เหงื่อไคลไหลท่วม ที่ความสูงสองพันสี่ร้อยกว่าเมตรเหนือน้ำทะเลนี่ หายใจไม่เข้าปอดเสียเลย ทำอย่างไรพละกำลังก็ไม่กลับคืนเหมือนอยู่ที่ราบ เฮ้อ ผมอยากลงไปนอนที่หญ้านิ่ม ๆ ข้างทางจัง

ด้วยปาฏิหาริย์หรือภาพตัดก็ไม่ทราบได้ สุดท้ายผมก็ไสตัวเองที่สุดจะสะบักสะบอมมาจนเจอลานจอดรถหน้าสถานีรายงานฯจนได้… ถึงจนได้สิน่ะ

จบสิ้นเสียที สมคำร่ำลือ หนึ่งในภูเขาที่โหดที่สุดในเอเชีย ได้ชูจักรยานกับป้าย “สูงสุดแดนสยาม” เหมือนคนอื่นเขาเสียที เรื่องเวลาอย่าถามเลยครับ แค่ถึงก็เอาแล้ว

เหตุไม่คาดฝัน

นัท: มาขึ้นดอยครั้งแรก ก็เล่นเอาคนขี้นอยด์แบบผมเตรียมนั่นเตรียมนี่มาเยอะ แต่ที่แย่สุดคือ ดันลืมเตรียมข้อมูลให้ดีครับ น่าจะหาข้อมูลหน่อยว่า หาซื้อของกินซื้อน้ำได้จุดไหนบ้าง ตอนขึ้นถึงด่านสุดที่ 2 วีทิ้งห่างผมไประยะนึงตามที่เขียนไว้ ด้วยความอยากไล่ตามให้ทัน ผมเลยไม่ได้แวะอะไรอีก เพราะคิดว่า “อีกแค่สิบกว่าโล” แต่กลายเป็นว่า ผิดมหันต์ครับ เพราะว่าหลังจากนั้นคือเซกเมนต์ที่โหดเหลือหลาย ยิ่งปั่นยิ่งเหนื่อย แดดก็เริ่มโหดขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันเที่ยงแล้ว ต่อให้อุณหภูมิข้างบนต่ำลง แต่พอเจอแดดก็ร้อนแทบตายอยู่ดี

พอปั่นไปเรื่อยๆ น้ำผมก็หมดไปกระติกนึง เหลืออีกกระติกที่ก็ไม่ได้เต็มอะไร ในหัวผมมีแต่คำว่า บรรลัยล่ะ เพราะดูทางแล้ว ไม่น่าจะมีใครทะลึ่งมาสร้างร้านค้าอะไรแถวนี้ ถ้าน้ำหมดคือจบกันแน่นอน ผมไปต่อไม่ไหวแน่ ช่วงนั้นก็ชันระดับสีแดงแล้ว มองเห็นพระธาตุอยู่รำไร ก็พอมีกำลังใจ แต่ปั่นไปก็ได้แต่คิดว่าจะแบ่งน้ำกินอย่างไรให้เลี้ยงตัวเองไปได้ตลอด บอกตามตรงว่า ตอนที่ผมจอดรถพักข้างทางนี่ผมโบกรถที่ขึ้นดอยมา กะว่าจะขอแบ่งน้ำ แต่ไม่มีใครจอด ไม่รู้กลัวคนท่าทางไม่น่าไว้ใจ หรือเพราะไม่อยากจอดรถให้เสียจังหวะเครื่องยนต์กำลังทำงาน

แต่ที่แน่ๆ คือ ผมเครียดหนักกว่าเดิม เป็นช่วงที่ยอมรับแบบแมนๆ เลยว่า มีจังหวะเข็นจักรยานด้วยครับ เพราะทั้งเรื่องความชัน ทั้งเรื่องน้ำ เล่นเอาไม่มีแรงไปเลย จนมาถึงจุดหัวโค้งก่อนถึงพระธาตุซักหน่อย มองลงไป โอ้โห วิวสวยจริงๆ เล่นเอาทึ่งว่าเรามาได้ไกลขนาดนี้แล้ว เลยยกกล้องคอมแพคที่ติดมาด้วยขึ้นมาถ่ายรูปให้คุ้มกับที่แบกมาหน่อย (ใช่ครับ พกกล้องไปด้วย อยากได้รูปสวย แต่พอเจอเนินชันนี่แทบปาทิ้งครับ)

เหมือนโชคดีที่ตรงแถวนั้นมีงานทำถนนอยู่ ผมเลยแถมเจ้าหน้าที่เขาว่า เห็นคนปั่นจักรยานขึ้นไปมั้ย ก็ได้คำตอบว่า เพื่อนเขาไปก่อนล่ะ ก็โอเค รู้สึกเหงาน้อยลงหน่อย เลยถามไปต่อว่า

“พี่ครับ… ขอแบ่งน้ำหน่อยได้มั้ยครับ…”

เขาก็ใจดี บอกนู่น อยู่ท้ายรถ ไปตักเลย ก็รีบไปตักสิครับ แถมเขาใส่กระติกไว้ซะเย็นชื่นใจ รู้สึกเหมือนร๊อคแมนได้ถังอี มาริโอได้เห็ด มีกำลังใจขึ้นเยอะ ก็ขอบคุณพี่ๆ เขา แล้วเขาก็บอกว่า “จริงๆ อีกนิดนึงก็ถึงกิ่วแม่ปานแล้ว มีน้ำขายนะ” ก็ยิ่งโล่งใจ แต่ไอ้คำว่า นิดนึง ของเขากับของเรานี่มันเท่ากันไหมหว่า
หลังจากนั้นก็ค่อยๆ กระดึ๊บๆ ไป จนถึงลานจอดรถของพระธาตุ พี่คนโบกรถก็ตะโกนให้กำลังใจว่า

“อีกแค่ 5 กิโลเอง!!”

เชียตตตตตตตตตตต มัน “แค่” ตรงไหนฟระ จากที่ปั่นๆ มาโดยมองพระธาตุเป็นเป้าหมาย พอเจอแบบนี้เข้าไปก็เหมือนการหักหลังกันจริงๆ อารมณ์เหมือนการเห็นหญิงสาวคนที่เราชอบ รับจดหมายบอกรักจากเราไป แล้วฉีกมันทิ้งต่อหน้าเรานั่นล่ะครับ (แต่จริงๆ ก็รู้เพราะ GPS บอกว่ายังเหลืออีกหลายกิโล แต่พอถูกตะโกนใส่แบบนี้มันเหมือนกับว่า เราหลอกตัวเองต่อไปไม่ได้ คงต้องยอมรับความจริงอันเจ็บปวด)

แต่ก็นึกได้ว่า เอ้อ ไอ้กิ่วแม่ปานที่เขาบอกคงเลยไปอีกหน่อยสินะ เพราะวีก็ไลน์กลับมาบอกว่าข้างหน้ามีที่แวะพัก ก็เลยกระดึ๊บๆ ไปต่อ จนถึงกิ่วแม่ปาน มีร้านขายของแล้ว เสียงเพลงฮาเลลูยาห์ก็ดังขึ้นในหัว อาห์ รอดแล้วกู!! เลี้ยวจักรยานเข้าไปทันที พุ่งไปหยิบน้ำดื่ม ขนมให้กำลังงาน และเครื่องดื่มเกลือแร่ เตรียมจ่ายเงิน และแล้ว…

อ้าว เอ๊ะ ซองเงินไปไหนวะ
หืม ไม่สิ เอ๊ะ ไล่เอาของออกมาหมด
เฮ้ย ซองเงินตกไปไหน!?!

ความตระหนกกลับขึ้นมาทันที เออ เงินหายไม่เท่าไหร่ เพราะในซองมีเงินไม่กี่ร้อย แต่มาหายตอนที่จะซื้อของ แล้วต้องทำไงฟะ (แถมในซองมีครีมกันแดดป้องกันผิวเสียด้วย แบบนี้จะถนอมหนังหน้าได้เหรอ) น่าทึ่งว่า ร้านที่ผมจะซื้อเขาบอกว่า เอาไปเถอะ แต่ จะดีเหรอ ไม่ได้หรอกครับ ผมก็ต้องปฎิเสธไปแบบหล่อๆ (ถุย) เดชะบุญ ร้านข้างๆ มีบัญชีพร้อมเพย์ ก็เลยเปลี่ยนร้าน วิ่งไปหยิบของมา กดจ่ายเงิน เออ รอดไปแบบ Cashless Society ครับ

มาคิดอีกที ซองเงินตกไปตอนงัดกล้องออกมาถ่ายรูปแน่นอน แต่จะลงไปหามั้ย? จะบ้าเหรอ เดินก็เมื่อยตายแล้ว หายก็ช่างมันเถอะ ทำใจ เดี๋ยวไปเจอวีแล้วค่อยไถ เอ๊ย ยืมเงินวีก็ได้

พอตั้งตัวได้ ก็ออกจากกิ่วแม่ปาน มุ่งหน้าไปต่อ จู่ๆ พระบิดาก็โทรมา บอกว่า “มีคนชื่อกัมปนาท บอกว่าเก็บกระเป๋าเงินนัทได้ คืออะไร รู้เรื่องมั้ย” ผมก็ปะติดปะต่อในหัว อ้อ มีคนเก็บได้ แล้วในซองเงิน ผมจะมีสำเนาบัตรประชาชนที่ด้านหลังใส่เบอร์ติดต่อฉุกเฉินไว้ เผื่ออรถล้มหรือเป็นอะไรจะได้ติดต่อครอบครัวได้ แต่นี่เขาอุตส่าห์โทรไปหาพ่อผมเลย?

ผมก็เลยบอกพระบิดาไปว่า ขอเบอร์โทรเขา เดี๋ยวติดต่อไปเอง พอขึ้นถึงยอดดอย ก็เลยโทรหาคุณกัมปนาท เขาก็บอกว่าเขาเก็บได้ตรงแถวๆ นั้นล่ะ แต่จะกลับบ้านแล้ว เลยนัดว่าผมลงไปใกล้ๆ หมู่บ้านเขาแล้วจะโทรหาอีกที

ขาลงผมกับวีลงพร้อมกันแต่แวะที่กิ่วแม่ปานอีกรอบ เพราะหิวแทบตาย แถมตอนนั้นก็อาศัยยืมเงินวีไปก่อนได้ เลยแวะกัน ผมก็เลือกร้านที่ขาขึ้นจะซื้อเขาแต่ไม่มีเงิน แล้วเขายังจะให้ผมฟรีนี่ล่ะครับ เป็นการตอบแทนเล็กๆ

แต่ตอนจอดรถไว้ รถผมดันล้ม แต่คิดว่าไม่มีอะไร แต่พอจะออกตัวนี่สิครับ… วีพุ่งออกไปก่อน ผมจะตามไป เอ๊ะ ติดอะไร ครืดดดดดดด มองลง

อ้าว โซ่ตก โอเค้ ไม่ยากๆ แก้ง่ายๆ แต่พอก้มลงไปซ่อม เวรล่ะทีนี้ โซ่ดันตกลงไปล่างตัวกันโซ่ตก ทำให้ติดเจ้าตัวนี้ ดึงกลับขึ้นมาไม่ได้ แถมขูดสีเฟรมอีก หลังจากพยายามไปมา แถมเครื่องมือก็อยู่กับวีอีก (เราแบ่งกันแบกของ)

ผมก็ได้แต่มองเจ้าตัวกันโซ่ตกแล้วคิดว่า เอาไงดี  ก็ต้องไปโบกรถขอติดลงไปด้วย เพราะเรานัดแนะกันว่าเจอกันที่ด่าน เพราะวีลงเขาได้เร็วกว่าผมมาก แต่นี่รอไปรอมา ก็ไม่มีรถที่ยอมจอดรับผม ก็ไม่แปลกใจครับ ดูสภาพตัวเองตอนนั้นก็คงไปเปื้อนรถเขาเปล่าๆ

ไปๆ มาๆ ก็ซาโตริขึ้นมาว่า ลงเขามันไม่ต้องปั่นก็ได้นี่หว่า ทำไมเราโง่จัง พอคิดได้แล้ว ก็เมาต์คลีต แล้วก็พุ่งลงไปแบบเกร็งกว่าปกติ เพราะต้องฝืนไม่ปั่นตามความเคยชิน แต่ก็ลงได้ครับ วีก็บอกว่า รอนานจนนึกว่าผมเป็นอะไรไปซะแล้ว (ถ้าตกเขาจริงๆ นี่คงไม่จืดครับ) ก็อาศัยเครื่องมือพกของวี ถอดเอาตัวกันโซ่ตกออก แล้วก็พร้อมกลับกันจริงๆ จังๆ ล่ะครับ (ตัวกันโซ่ตกของ SRAM ผมก็มีปัญหานี้เหมือนกัน คือกันตกได้ไม่ 100% แต่ถ้าโซ่ดันตกไปได้แล้วป้องกันการเกี่ยวกลับมาได้ 100% – วี)

พอถึงจุด 16 กิโลจากยอดเขา แถวๆ ตลาดแม้ว ผมก็แวะโทรหาคุณกัมปนาทอีกที เขาก็บอกว่าใกล้ๆ แล้ว ให้มาเจอกันตรงหน้าป้ายอุทยานแล้วกัน เรารอซักหน่อย คุณกัมปนาทก็ขี่มอเตอร์ไซค์มา เอาซองเงินมาให้ผม ซึ่งก็เล่นเอาอึ้งนิดๆ เพราะเขาจะตบไปเงียบๆ เลยก็ได้ ไม่มีใครรู้หรอก แต่นี่ติดต่อพ่อผม แถมทีแรกยังบอกว่าจะให้ส่งไปตามที่อยู่ในบัตรประชาชนไหม (ซึ่งก็คือบ้านผมที่ขอนแก่น ไม่ใช่บางกอก) นี่ยังอุตสาห์ขี่มอเตอร์ไซค์เอามาให้อีก ผมจะตอบแทนเขาหน่อยก็ไม่อยากรับไว้ เล่นเอาซึ้งในน้ำใจจริงๆ ครับ ก็เลยขอใช้พื้นที่ตรงนี้ ขอบคุณคุณกัมปนาท แซ่ย่าง คนในพื้นที่กับน้ำใจที่แสนดีตรงนี้ไว้ด้วย และทำให้การปั่นขึ้นดอยอินทนนท์ครั้งนี้มีอะไรน่าจดจำมากกว่าแค่ความทรมานและความสำเร็จครับ

บทเรียนที่อินทนนท์สอนเรา

วี: ถึงจะปั่นได้จนจบ แต่คิดว่ายังมีที่ให้ปรับปรุงอีกมาก ดีแล้วที่มาเองไม่ได้มาปั่นในงานประจำปี เพราะแบบนี้คงอายทั้งตำบลแน่ๆ ฮา

ความเห็นส่วนตัว ผมว่าสำหรับท่านที่ยังไม่เคยมา เฟือง 32 อาจจะน้อยไป อย่างน้อยควรมี 34, 36 (สำหรับคนที่เคยมา รู้ทาง และรู้ขาตัวเองแล้วก็ไม่มีเจตนาสอนนะครับ) มีแล้วไม่ได้ใช้ย่อมดีกว่าจะใช้แล้วไม่มี ตอนท้ายมันชันจริงแล้วมันชันยาวด้วย ถ้าต้องปั่นรอบขาต่ำ ๆ ด้วยแรงกดหนัก ๆ จะพาลทำขาหมดแรงแต่เนิ่น ๆ ได้ง่ายๆ

อย่าลืมเตรียมอาหารมาให้เพียงพอ เนื่องจากมันเป็นเขาที่ยาวมาก (3-5 ชั่วโมงหรือมากกว่า) ควรมีอาหารที่เป็นชิ้นเป็นก้อนด้วย ลำพังแค่เจลอย่างเดียวจะหิวเอาได้ ส่วนน้ำดื่มก็เติมเอาข้างทางได้ อย่างครั้งนี้ผมดื่มน้ำไปประมาณ 5 กระติก

และที่สำคัญที่สุด หากว่ายังไม่ชัดเจนจากความยับยู่ของเราสองคนในย่อหน้าก่อน ประเด็นคืออย่าประมาทครับ ดอยอินทนนท์คือปีศาจที่มีเพียงหนึ่งตนเท่านั้นในบ้านเรา ต่อให้สามารถขึ้นเขาใหญ่ฝั่งปากช่องต่อเขาเขียวรวดเดียวได้ ก็ไม่ได้แปลว่าจะขึ้นได้อย่างสะดวกสบาย เพราะหลังพ้นด่านตรวจที่ 2 ไปแล้ว เขาเขียว (ที่เขาใหญ่) ก็ทั้งชันน้อยกว่าและสั้นกว่า เขาฉลาก (ชลบุรี) ถึงชันใกล้เคียงกันแต่ก็สั้นกว่ากันมาก แถมยังเริ่มจากพื้นราบอีก ในขณะที่ดอยอินฯ นี่คือโดนนวดมาแล้ว 30 กม. กับความสูง 1,700 เมตร อีกทั้งความสูงของมันยังทำให้อากาศเบาบางอีก ที่ความสูง 2,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลนั้น เสมือนว่าในอากาศมีออกซิเจนเพียง 15% จากปรกติ 21% ถึงจะไม่ได้จัดว่าสูงลิบ แต่ก็เป็นระดับความสูงที่ร่างกายคนส่วนใหญ่ไม่เคยชินครับ

แต่นั่นก็บ่งบอกว่าไม่มีการซ้อมที่ภูเขาไหนในไทยที่จะจำลองการขึ้นดอยอินทนนท์ได้ บางท่านใช้วิธีเวียนขึ้นเขาใหญ่เขาเขียว หรือเขาอื่นๆ วันละหลายรอบ ก็น่าจะช่วยเรื่องความอึดได้ดี แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันซะทีเดียวก็คือ ความบางเบาของอากาศ

หวังว่าทุกคนจะมีความสุขกับการปั่นจักรยาน และการก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองไปเรื่อย ๆ ครับ ◈

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott

1 comment

  1. กำลังมาอ่านเจอ สนุก ได้อัถรส ได้ความรู้ ใช้ภาษาง่ายๆ อ่านเข้าใจ ขอบคุณหลายๆเด้อ

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *