Paris-Roubaix: สนามเกียรติยศหรืออดีตที่ขมขื่น?

พรุ่งนี้แล้วนะครับกับรายการแข่งที่หลายๆ คนตั้งหน้าตั้งตารอที่สุด ถึงแม้มันจะเป็นรายการแข่งเกียรติยศที่นักปั่นทุกคนใฝ่ฝันจะชนะสักครั้งในชีวิต แต่เมือง Roubaix (รูเบ) เส้นชัยของการแข่งนั้นมีอดีตที่หดหู่ไม่น้อย เพื่อเพิ่มอรรถรสในการชม วันนี้เรามาทำความรู้จักความเป็นมาของเมืองรูเบและสาเหตุที่สนามแข่งนี้มีชื่อเล่นว่า “Hell of the North” กันครับ

1. Paris-Roubaix: อดีตที่ขมขื่น

เมืองรูเบตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศสว่ากันแล้วเมืองรูเบนี่ไม่ใช่สถานที่ที่น่าอภิรมย์เลย แม้แต่คนฝรั่งเศสเองก็ไม่นิยมไปเที่ยวถึงแม้จะเป็นเส้นชัยของสนามแข่งจักรยานทางไกลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบปี แต่จริงๆ แล้วรูเบเป็นเพียงเมืองอุตสาหกรรมเล็กๆ ไม่มีวิวทิวทัศน์สวยงาม เต็มไปด้วยร่องรอยระเบิดและความเสียหายจากสมัยสงครามโลก ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เมืองรูเบประสบปัญหาเศรษฐกิจและสังคมหลายประการ “A tough place with the toughest race”

เมืองรูเบในสมัยก่อน
เมืองรูเบในสมัยก่อน

ศึก Paris-Roubaix เริ่มแข่งครั้งแรกในปี 1896 จัดแข่งโดยสองเจ้าพ่ออุตสาหกรรมสิ่งทอในแคว้นครับ เขาเริ่มโดยการสร้าง Roubaix Velodrome เป็นเส้นชัยและจัดให้เส้นทางการปั่นเริ่มที่เมืองปารีสมาจบที่เวโลโดรมในรูเบ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเศรษฐีจากปารีสจ่ายเงินเข้ามาชมการแข่ง สมัยก่อนไฮไลท์และความโหดของการการแข่งไม่ได้อยู่ที่ถนนหินโบราณ (Cobbled road) เหมือนสมัยนี้ แต่เป็นระยะทางที่ยาวกว่า 300 กิโลเมตร

ปัจจุบันระยะทางไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป เมื่อนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางจากปารีสไปเมืองรูเบด้วยรถไฟความเร็วสูง TGV ในเวลาแค่ชั่วโมงเดียว อุตสาหกรรมสิ่งทอก็หายไปด้วย แต่เมืองรูเบก็ยังเป็นที่จดจำว่าเคยเป็นเมืองอุตสาหกรรม เป็นสถานที่ๆ ไม่น่าอยู่เต็มไปด้วยเหมืองถ่านหิน โรงงานทอผ้า และสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น บางคนร่ำรวยจากที่นี่ แต่อีกหลายคนก็ต้องอยู่อย่างอดๆ อยากๆ

2. Hell of the North

เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ตั้งแต่เริ่มจัดการแข่งขันมา ความเป็นอยู่ของผู้คนในเมืองรูเบก็ตกต่ำลงไปอีก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ปี 1914-1918 เมืองรูเบโดนถล่มด้วยลูกกระสุนปืนใหญ่และระเบิดนานาชนิดๆ ทิ้งซากปรักหักพังและร่องรอยหลุมระเบิดให้เห็นจนถึงทุกวันนี้ ในการแข่งขัน Paris-Roubaix ปี 1919 ไม่แปลกที่นักปั่นและผู้ชมจะเห็นซากรถถังและอาวุธหนักแตกกระจายอยู่ทั่วไป มันคงเป็นเป็นทิวทัศน์ที่หดหู่จนคอลัมนิสต์ชางฝรั่งเศส Jean-Paul Brouchon ถึงกับเอ่ยปากว่า

“Here is the real hell of the north“.

ความยากลำบากไม่จบแค่นั้น เพราะเมืองรูเบต้องเจอภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในช่วงปี 1933 และตามมาติดๆ ด้วยสงครามโลกครั้งที่สองทำให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เหล็ก และสิ่งทอพังพินาศและไม่ฟื้นตัวอีกเลยตั้งแต่นั้นมา

ทิวทัศน์สนามแข่งสะท้อนถึงความแร้นแค้นของเมืองรูเบ
ทิวทัศน์สนามแข่งสะท้อนถึงความแร้นแค้นของเมืองรูเบ

ฉายาสนามแข่ง Paris-Roubaix ที่ว่า “นรกทางตอนเหนือ” (Hell of the North) นั้นไม่ได้มาจากถนนหินโบราณที่แสนขรุขระและยากเย็นต่อการปั่นอย่างที่เราเข้าใจกัน แท้จริงแล้วมันคือคำเรียกเศษซากปรักหักพังที่หลงเหลือจากสงคราม

3. ปัจจุบัน

ถึงแม้ความหลังจากสมัยสงครามจะผ่านพ้นไปนานแล้ว แต่เมืองรูเบก็ไม่ใช่สถานที่ที่คนส่วนใหญ่คิดจะไปเยือนสักเท่าไร ปัจจุบันเมืองรูเบเป็นเมืองที่ค่อนข้างยากจนและเป็นที่รวมตัวของกลุ่มการเมืองหัวรุนแรง ยังมีปัญหาเศรษฐกิจและสังคมพอสมควร และเป็นเมืองที่ประชากรมีอัตราเสี่ยงเป็นโรคอ้วน (obesity) สูงที่สุดในฝรั่งเศส นักปั่นหลายคนฝันที่จะคว้าชัยใน Roubaix Velodrome แต่คนท้องที่เป็นจำนวนไม่น้อยอยากจะหนีไปให้พ้น

Roubaix Velodrome (ขวา) และ Indoor Velodrome ใหม่ (ซ้าย)
Roubaix Velodrome (ขวา) และ Indoor Velodrome ใหม่ (ซ้าย)

อย่างไรก็ดีมันไม่ได้แย่อย่างที่คิดครับ ที่ว่าแย่โดยมาตรฐานยุโรปนั้น ยังดีกว่าหลายๆ ประเทศกำลังพัฒนาหลายขั้น ที่ว่าประชากรอ้วนกันเยอะๆ นั้นถ้ารูเบเป็นรัฐในสหรัฐอเมริกา รัฐรูเบจะมีอัตราคนอ้วนต่ำเกือบที่สุดในประเทศเลยทีเดียว! เมืองเพื่อนบ้านอย่าง Lille ตอนนี้ก็พัฒนามาเป็นศูนย์กลางการคมนาคม มีสถานีรถไฟใหญ่ที่เชื่อมต่อกับปารีส บรัสเซล อามเสตอร์ดัม และลอนดอน เมืองรูเบเองก็ได้รับการพัฒนาและวางผังเมืองใหม่ แม้แต่ Roubaix Velodrome สร้างมาร่วมร้อยปีก็ถูกทุบทิ้ง (ตอนนี้ใช้ velodrome ที่สร้างในช่วงปี 1930 แทน) แถมยังมีการสร้าง velodrome แบบอินดอร์มูลค่าร่วมแปดร้อยล้านบาทอยู่ข้างๆ กัน

 

4. สรุป

วันพรุ่งนี้เพื่อนๆ ที่ติดตามชมการแข่ง Paris-Roubaix ครั้งที่ 111 อย่าลืมมองไปรอบๆ เส้นทางการแข่ง อาจจะเห็นซากโรงงานและเหมืองแร่ และบ้านอิฐเก่าๆ หน้าตานักปั่นที่ปั่นจนจบจะพอกไปด้วยฝุ่นและดินจากถนนขรุขระละม้ายคล้ายกับคนงานเหมืองแร่ในสมัยก่อน อย่าลืมมองดูอนุสรณ์สถานจากสมัยสงครามโลกที่เต็มไปด้วยไม้กางเขนสีขาวท่ามกลางทุ่งโคลนสีดำ และรางวัลเกียรติยศสูงสุดของผู้ชนะ… นั่นคือหินหนึ่งก้อนที่ขุดมาจากเส้นทางที่เขาได้ปั่นข้ามมาด้วยความยากลำบาก คว้าชัยผงาดเหนือคู่แข่งทุกคน

ความยากลำบากของสนามแข่ง Paris-Roubaix นั้นไม่ได้มาจากเส้นทางแสนทรหดอย่างเดียว แต่มันคือภาพสะท้อนของทิวทัศน์ ประวัติศาสตร์และอดีตที่ขมขื่นของเมืองรูเบ ทุกองค์ประกอบที่กล่าวมารวมกันเป็นเอกลักษณ์ และเสน่ห์ของหนึ่งในสนามแข่งที่ยากที่สุดและน่าจดจำที่สุดในรอบปีครับ อย่าพลาดชมกัน

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

2 comments

  1. บทความแบบนี้เข้าท่ามาก ๆ ครับ แอดมินค้นข้อมูลแล้วเขียนเองเลยใช่ไหมครับ

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *