รีวิว Concept Speed SFHG Light Jacket

ปกติเสื้อกันลมหรือกันฝนเป็นของที่นักปั่นไทยไม่สนใจเท่าไร เพราะออกไปปั่นแต่ละทีอากาศมันก็ร้อนมากอยู่แล้ว ใส่แค่เสื้อปั่นตัวเดียวเหงื่อยังไหลเป็นน้ำ แต่ฤดูฝนแบบนี้ที่บางทีฝนตกแบบไม่รู้ตัว การมีเสื้อกันฝนน้ำหนักเบาและพกพาได้ง่ายก็มีประโยชน์ไม่น้อยเหมือนกัน หรือใครที่ชอบตื่นไปปั่นตอนเช้าๆ อากาศยังเย็นอยู่ ใส่เสื้อกันลมไปด้วยก็ช่วยกันลมเย็นๆ ได้ดี

ด้วยเหตุนี้เราเลยไม่ค่อยเห็นผู้นำเข้าหรือแบรนด์ชุดปั่นในไทยทำเสื้อแขนยาวกันลม/ฝนออกมาขายเท่าไรครับ เสื้อแจ็คเก็ตที่กันฝนได้ก็มักมากับข้อเสียใหญ่หลวง คือพอมันกันน้ำเข้าได้ มันก็จะกันไม่ให้น้ำออกด้วย เวลาปั่นในเขตอากาศร้อนจัดแบบบ้านเราแล้วใส่เสื้อแจ็คเก็ตแบบนี้เหงื่อยิ่งออกไว ไม่ระบายและเหนียวเหนอะหนะ บางทีเราเลือกยอมเปียกฝนดีกว่าเพราะถึงใส่เสื้อกันฝนมันก็เปียกจากข้างในเหมือนกัน

เดือนก่อนแบรนด์ Concept Speed ส่งเสื้อกันฝน/ลมรุ่น SFHG Light Jacket มาให้ DT ลองใช้ดู โดยมีโจทย์การออกแบบว่าอยากทำเสื้อแจ็คเก็ตกันฝน/ลม ที่ใส่ในไทยได้ จะได้จริงมั้ยก็ลองมาดูกัน


Concept Speed: แบรนด์ชุดปั่นไทยพรีเมียม

ก่อนหน้านี้ DT เคยรีวิว Speed Suit ของ Concept Speed มาครั้งนึงแล้ว Concept Speed เป็นแบรนด์ชุดปั่นพรีเมียม ใช้ผ้าคุณภาพดีและผลิตในโรงงานอิตาลีที่ผลิตชุดปั่นให้แบรนด์เสื้อผ้าจักรยานชื่อดังหลายๆ แบรนด์​ แน่นอนว่าราคาก็สูงเหมือนเสื้อผ้าแบรนด์ต่างประเทศด้วย

เสื้อ CSPD Light Jacket ตัวนี้ราคา 4,400 บาท


CSPD Light Jacket

สำหรับเสื้อกันฝน CSPD Light Jacket ตัวนี้รวมๆ แล้วออกแบบมาดีทีเดียวครับ อย่างที่บอกไปข้างต้น การทำเสื้อปั่นที่กันฝนได้โดยไม่ให้ร้อนนี่เป็นโจทย์ที่ยากทีเดียว เพราะเสื้อปั่นกันฝนที่ดีต้องกันน้ำเข้า แต่ขณะเดียวกันต้องให้เหงื่อระบายออกได้ด้วย พวกแบรนด์ชุดปั่นดังๆ อย่าง MAAP และ Rapha จะใช้วิธีแทรกเลเยอร์ในเนื้อผ้าให้ความชื้นและเหงื่อภายในเสื้อระบายออกไปข้างนอกได้ และทำการโค้ทติ้งผิวเนื้อผ้าด้านนอกด้วย DWR (Durable Water Repellant Coating)

Concept Speed ไม่ได้ใช้เลเยอร์ชั้นในเหมือนแบรนด์อื่นๆ แต่ใช้ผ้าแบบบางมากเพื่อไม่ให้เวลาใส่แล้วรู้สึกอบอ้าว โดยที่ด้านนอกยังมีโค้ทติ้งกันน้ำอยู่ และทำช่องระบายอากาศที่ด้านหลังเสื้อกับแทรกส่วนตาข่ายไว้ใต้รักแร้

ช่องระบาสอากาศ 2 ช่องตรงหลังช่วงบนทั้งด้านซ้ายและขวา ช่วยระบายเหงื่อที่อมอยู่หลังเสื้อเวลาปั่นได้บ้าง

ตัวหนังสือที่เห็นบนเสื้อ และแถบทีเทาบนแขนนั้นเป็นแบบสะท้อนแสงทั้งหมด ถึงเสื้อจะมีสีมืด แต่เวลาปั่นกลางคืนก็ช่วยให้คนอื่นมองเห็นเราได้ชัด

ด้านใต้รักแร้ที่เหงื่อออกเยอะที่สุด ใช้ผ้าแบบตาข่ายบางๆ ช่วยให้ลมปะทะและเหงื่อไม่อม

ด้านหลังเสื้อมีประเป๋าเล็กๆ หนึ่งช่อง แทนที่จะใช้ซิปหรือกระดุม กระเป๋านี้ปิดด้วยแม่เหล็กที่ซ่อนไว้ในฝากระเป๋าด้านบนและช่องกระเป๋าด้านล่าง ทำให้ไม่ต้องคลำหากระดุมปิด สะดวกดีครับ

คุณอาจจะสงสัยว่าแล้วใส่เสื้อกันฝนธรรมดาที่เป็นผ้าแบบพลาสติกบางๆ ไม่ได้เหรอ? ก็ใส่ได้ แต่อย่างที่บอกไปข้างต้นผ้าพลาสติกแบบนั้นมันจะกันทั้งน้ำออกและน้ำเข้า ถ้าต้องใส่ปั่นนานๆ มันก็จะอมเหงื่อจนเปียกโชกจากข้างในครับ ไม่มีประโยชน์เท่าไร สู้เปียกไปเลยดีกว่า และไม่ได้ออกแบบพวกคัทติ้ง กระเป๋า หรือทรงเสื้อให้เหมาะกับท่าปั่นนัก แน่นอนว่าเสื้อกันฝนที่ออกแบบมาสำหรับการปั่นจักรยานโดยเฉพาะจะมีราคาแพงกว่า (มาก) แต่มันก็เป็นความสะดวกสบายล่ะนะ คุณพร้อมจะจ่ายหรือเปล่านั่นก็ต้องถามตัวเองดู

ส่วนมันกันน้ำเข้าได้แค่ไหนลองดูวิดีโอข้างล่างนี้

via GIPHY

อีกหนึ่งรายละเอียดที่ทำได้ดีมากคือบริเวณปลายแขนเสื้อตรงข้อมือ ที่เป็นผ้ายืดอีลาสติก (แต่ไม่กันน้ำ) ทำให้เวลาใส่และถอดง่ายมาก ไม่ติดข้อมือครับ

โดยรวมด้านฟังก์ชันแล้ว CPSD Light Jacket ก็ตอบโจทย์การใช้งานในอากาศบ้านเราได้ครบเลย นั่นคือกันน้ำกันฝนโดยที่ไม่หนาเกินไปจนรู้สึกอบอ้าวในเสื้อครับ เพราะผ้าที่ใช้ทำเสื้อนั้นบางและเบามาก (บางจริงๆ จนสงสัยว่ามันกันน้ำได้ยังไง)

อย่างไรก็ดี เสื้อกันฝนที่มีช่องระบายอากาศ อย่างตัวนี้ก็บริเวณรักแร้และด้านหลังเสื้อ รวมถึงตรงข้อมือที่เป็นผ้ายืดแบบไ่ม่กันน้ำ หมายความว่าถ้าฝนตกหนักมากมันจะไม่กันน้ำ 100% แน่นอน แล้วจริงๆ เวลาฝนตกในไทยนี่ถ้าไม่ใช่แบบตกเบาๆ พอเปียกนิดหน่อย ก็ตกหนักแบบเปียกโชกแน่นอน ถ้ามันตกหนักแบบหลังการใส่เสื้อกันฝนแบบนี้ก็คงไม่ช่วยอะไรเท่าไร เพราะยังไงน้ำมันก็ซึมเข้าผ่านทางคอจนเปียกทั้งตัวอยู่ดี

แต่ถ้าเป็นฝนตกปรอยๆ หรืออยากใช้กันลมเย็นช่วงเช้าและค่ำ ตอนไปปีนเขาสูงที่อากาศเย็น โดยที่ยังถอดพับเก็บเข้ากระเป๋าหลังเสื้อเจอร์ซีย์ได้ เสื้อ CSPD Light Jacket ตัวนี้ก็เหมาะมาก

โดยรวมแล้วเป็นเสื้อที่อรรถประโยชน์ดีครับ ถ้าใช้มันได้ถูกสถานการณ์นะ ผมลองใช้ที่ไทยก็ไม่ร้อนมากนัก เอามาใช้ที่เนเธอร์แลนด์ช่วงอุณหภูมิ 20-25 องศาก็กันลมเย็นได้ดีทีเดียว แต่ถ้าจะใช้กับที่ๆ อากาศเย็นกว่านี้คงไม่เหมาะเท่าไรเพราะผ้ามันบาง

ข้อดีอีกอย่างคือมีไซส์ให้เลือกถึง 8 ไซส์ 4XS, 3XS, 2XS, XS, S, M, L, XL จะตัวเล็กตัวใหญ่แค่ไหนก็ใส่ได้แน่นอน

เสื้อกันฝนเป็นของที่ถ้าไม่ถึงเวลาต้องใช้จริงๆ เราก็ไม่คิดจะซื้อครับ มีนักปั่นหลายคนที่เลือกไม่ปั่นตอนฝนตก

ขอบคุณ @Concept Speed ที่ส่งเสื้อมาให้เราลอง สนใจไปดูรายละเอียดได้ในเว็บ Concept Speed ครับ


By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!