Parleeเป็นหนึ่งในจักรยานที่ Ducking Tiger อยากลองปั่นมานานแล้วแต่ก็เพิ่งจะได้มีโอกาสทดสอบกันเมื่อไม่นานมานี้ครับ คันแรกของ Parlee ที่เราได้ปั่นก็ต้องย้อนกลับไปปี 2014 นู้นในงาน Eurobike กับเฟรม Parlee Z-Zero Custom จักรยานสั่งตัดตัวท็อปของแบรนด์ แต่ด้วยที่มันไม่ใช่ไซส์ของเราโดยเฉพาะทำให้บอกอะไรไม่ได้มาก แค่พอจับความรู้สึกได้ว่าเป็นเฟรมที่ดี ขี่สบายต่างกับเฟรมแข่งขันทั่วๆ ไป
กำแพงในการเข้าถึงแบรนด์ Parlee สมัยก่อนคือเป็นจักรยานที่มีราคาสูงเพราะแทบทุกรุ่นที่มีขายนั้นเป็นเฟรมสั่งตัด แน่นอนว่าใช้เวลาและค่าแรงการผลิตสูงกว่าเฟรมจักรยานธรรมดา
Parlee Altum Series
ก่อนหน้านี้จักรยานของ Parlee จะมาในรูปทรงแบบจักรยานเสือหมอบคลาสสิค แต่ในปี 2014 เป็นต้นมา พาร์ลีเริ่มพัฒนาจักรยานเสือหมอบคาร์บอนไฟเบอร์ในรูปลักษณ์ใหม่โดยมีโจทย์เดียวคือให้เป็นจักรยานที่ฟีลลิ่งการปั่นยอดเยี่ยมที่สุด และให้แฟนๆ Parlee สามารถสั่งซื้อจับจองกันได้ไม่ต้องรอนาน จึงเป็นที่มาของซีรีย์ Parlee Altum ซึ่งเป็นไลน์จักรยานสำเร็จออกมาเป็นเฟรมพร้อมประกอบ (ไม่ใช่เฟรมสั่งตัด) แต่ก็ยังคงไลน์ custom made อย่าง Z-Zero, Z1, Z2, และ Z3 ไว้ด้วย)
ในซีรีย์ Parlee Altum มีจักรยาน 2 รุ่น คือ Altum และ Altum Disc
เฟรม Altum หนัก 750g ตะเกียบ 280g
สำหรับรถรีวิวคันนี้เป็น Altum R แบบแต่งเต็มครับ ใช้อะไหล่เป็นชุดขับ SRAM Red eTap, ก้ามเบรค Sram Force, ชุดแฮนด์, หลักอาน, สเต็มจาก MCFK และ Tune, ล้อ Knight Composite 35 และเบาะ Tune Speedneedle รวมน้ำหนักทั้งคันหกกิโลต้น
(Note: Altum R คันที่เรารีวิวหยุดการผลิตไปแล้ว ที่มีจำหน่ายตอนนี้จะเป็น Altum อย่างเดียวครับ)
Design – Modern Classic
จุดประสงค์การออกแบบ Altum ของ Parlee คือให้ได้จักรยานทรงคลาสสิคที่มีประสิทธิภาพและฟีลลิงการปั่นแบบสมัยใหม่ รูปร่างหน้าตา เส้นสายยังคงเป็นเฟรมแบบ traditional ที่ไม่ได้เน้นรูปทรงท่อแอโร เป็นจักรยาน all rounder เน้นน้ำหนักเบาและฟีลลิ่งการปั่นเน้นขี่สบายควบคุมง่าย ต่อยอดมาจากคาแรคเตอร์ของ Parlee Z4 และ Z5 แต่พัฒนาให้ประสิทธิการตอบสนองแรงบริเวณกระโหลกและท่อคอดีกว่าเดิม
ดูเผินๆ จะเห็นว่า Parlee Altum ก็ไม่ได้ดูต่างจากเฟรมเสือหมอบร่วมสมัยเท่าไร แต่จริงๆ แล้วต้องบอกว่าล้ำหน้าครับ Altum เปิดตัวครั้งแรกในปี 2014 ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีเฟรมสไตล์ all-rounder รุ่นไหนที่ใช้ท่อซีทสเตย์แบบ dropped (คือการวางตำแหน่งซีทสเตย์ให้อยู่ต่ำจุดยึดหลักอาน/ ท่อนอน) เพื่อให้หลักอานให้ตัวได้มากขึ้นซับแรงสะเทือนได้ดีขึ้น – ดีไซน์นี้เป็นอะไรที่เฟรมแอโรสมัยใหม่ใช้กันอย่างแพร่หลายรวมถึงเฟรม all-rounder ที่เพิ่งจะเปิดตัวในปีนี้อย่าง Specialized Tarmac SL6 และ BMC SLR01 ด้วย
และน้ำหนักเฟรม Altum R ที่หนักแค่ 810g (Altum หนัก 750g!) ก็จัดเป็นซีรีย์เสือหมอบที่เบาในระดับ Top 5 ของจักรยาน high-end ทั้งหมดครับ
กระโหลกใช้แบบ Pressfit 30 แมทช์กับขนาดท่อของเฟรมที่ใหญ่ขึ้นและทำให้การเดินสายเบรคและเกียร์ภายในสะดวก ท่อคอใช้ integrated headset แบบเทเปอร์ขนาด 1.125-1.25 นิ้ว ซางเทเปอร์ที่ใช้เป็นฟูลคาร์บอน
หลักอานใช้ขนาด 31.6mm มาตรฐานทั่วไปสามารถซื้อเปลี่ยนได้ แต่รัดหลักอานเป็นแบบซ่อนดูสะอาดตาและลดน้ำหนักได้เล็กน้อยครับ
เฟรมรองรับยางหน้ากว้างได้สูงสุด 28mm ใช้ชุดเกียร์ได้ทั้งแบบไฟฟ้าและ mechanical
Fit – นั่งสบายแต่แอบเปรี้ยว
Parlee Altum ทุกรุ่นมีระยะเชนสเตย์ (410mm), ความสูงกระโหลกจากพื้น (70mm) และ fork rake (43mm) เท่ากันหมด แต่ผู้ใช้สามารถเพิ่มระยะ headtube ได้ (สังเกตจากตรงข้างล่างสเต็มจะเห็นว่ามีส่วนที่เป็นตัวครอบ headset ที่เปลี่ยนให้มีขนาดใหญ่หรือเล็กลงได้เพื่อเพิ่มระยะ stack ครับ Parlee เรียกระบบนี้ว่า Flexfit ซึ่งเพิ่มความสูงท่อคอได้ 8,15 และ 25mm)
สังเกตว่าระยะ geometry ที่กล่าวถึงข้างบนจะดูคล้ายเฟรมแข่งขัน แต่ stack / reach จะสบายกว่ารถแข่งทั่วไป ไซส์ S ที่เราทดสอบกับ ซึ่งปรับความสูง headtube ได้สามระดับจะมีสัดส่วน stack/reach ตามนี้
- Flexfit Short: Stack 551 / Reach 367 / Ratio = 1.50
- Flexfit Medium: Stack 557 / Reach 364 / Ratio = 1.53
- Flexfit Tall: Stack 567 / Reach 361 / Ratio = 1.57
เสือหมอบแข่งขันส่วนใหญ่สัดส่วน stack/reach จะอยู่ที 1.3-1.4 ครับ หมายความว่า Parlee Altum นี่ท่อคอสูงก้มไม่เยอะ ขี่สบายและ reach ก็ไม่ยาวนักไม่ต้องเอื้อมเยอะครับ รวมๆ แล้วฟิตคล้ายเสือหมอบเอนดูรานซ์ แต่ด้วยระยะเชนสเตย์สั้นแบบคอมแพคทำให้รถมีความซิ่งตอบสนองดีขี่สนุก ไม่อืดอาดนั่นเอง
Ride – หรูหราครบเครื่อง
จุดเด่นของ Parlee ทุกรุ่น แม้แต่เฟรมแอโรอย่าง Parlee ESX จะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันหมดคือเป็นรถที่ขี่สบายไม่สะท้านสะเทือน เฟรม Altum R ก็ยังคงคาแรคเตอร์นี้ไว้ได้เป็นอย่างดี บวกกับรูปทรงเฟรมแบบคลาสสิคคอมแพคและน้ำหนักเฟรมที่เบามาก ทำให้ได้รถที่คล่องตัว เบามือเบาเท้าและพุ่งตอบสนองแรงทันใจ รถทั้งคันประกอบมากับอะไหล่น้ำหนักเบาอยู่แล้ว เรื่องการปั่นส่งออกแรงต่อเนื่องอย่างการปีนสะพาน ขึ้นเนินชันก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าจักรยานเป็นภาระ
Parlee ทุกคันที่ผมเคยปั่นจะเป็นรถที่ให้ฟีลต่างจากเสือหมอบแข่งขันทั่วไปอยู่ มันจะมีความนิ่มนวลบางอย่างครับ ฟีลมันจะลอยๆ เทียบกับเสือหมอบแข่งขันส่วนใหญ่ที่ออกแบบให้คนปั่นรู้สึกถึงสัมผัสของถนนอย่างละเอียดซึ่งบางทีมันก็เยอะเกินไปจนเราอาจจะรู้สึกสะท้าน (แต่นักแข่งชอบกัน) กับ Parlee Altum เราจะไม่ได้ฟีดแบคจากถนนเท่า แต่ก็ยังมีความละเอียดอยู่จนไม่รู้สึกว่ารถตายด้านเกินไป
ทั้งนี้มันไม่ใช่รถที่เน้นการซับแรงสะเทือนได้หมดเกลี้ยงเหมือนเสือหมอบเอนดูรานซ์ที่มีลูกเล่นเช่นโช้คระยะสั้นหรือวัสดุที่ช่วยดูดซับแรงสะเทือน ยังมีสปิริตของเสือหมอบแข่งขันโผล่มาให้เห็นอยู่เป็นระยะ สังเกตได้จากเวลาลงถนนที่ไม่สมบูรณ์ มีหลุมบ่อเป็นทางขรุขระก็ยังมีอาการสะเทือนให้เห็นบ้าง แต่ต้องย้ำว่ายังขี่สบายกว่าพวกรถแข่งเยอะครับ (ผมเทสต์ด้วยล้อ Knight 35, ยาง Michelin Pro 4 25mm แรงดันลม 80/85psi)
ด้าน Handling หรือการบังคับควบคุมเป็นแบบ neutral คือกลางๆ ไม่ได้ไวไม่ได้ช้า แต่ด้วยท่อคอที่สูงกว่ารถแข่งที่ผมเคยชินก็รู้สึกว่าจะมั่นใจกว่านี้เวลาเทคตัวเข้าโค้งถ้าช่วงหน้าต่ำกว่านี้สักนิดครับ อาจจะแก้ได้ด้วยสเต็มแบบ negative แต่ถ้าใครไม่ชอบรถที่ก้มเยอะ ความสูงที่ให้มาก็ขี่ง่ายดีครับ
ปัญหาเดียวที่เจอคือเวลาต้องกลับตัวในวงแคบ หรือตอนจะจอดแล้วต้องเลี้ยวส่วนนิ้วเท้ามันจะไปติดกับล้อได้ในบางมุมครับ (toe overlap) แต่เอาจริงๆ แล้วก็เป็นปัญหาของรถส่วนใหญ่ที่ผมได้ทดสอบ เพราะมักจะเป็นไซส์เล็ก (XS หรือ S) และเป็นคนขี่รถคร่อมไซส์ด้วย ถ้าใครใช้ไซส์เล็กก็ต้องระวังตรงนี้ บางทีจะพาล้มได้ง่ายๆ ครับ
สรุป
เวลาเราอธิบายประสิทธิภาพจักรยานแนว all rounder มันมีคำนิยามอยู่ไม่กี่แบบครับ ส่วนใหญ่ก็จะเป็น “พุ่ง, นิ่ม, เบา” ว่ากันตามตรงรถแข่ง high-end แทบทุกรุ่น (ที่ไม่ใช่หมอบแอโร) ก็จะให้ฟีลลักษณะนี้หมด แต่จะบอกว่ามันเหมือนกันเลยหรือแทนกันได้ก็ไม่ถูกครับ สิ่งที่ต่างคือคาแรคเตอร์เล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละเฟรม ซึ่งเป็นผลจาก geometry, การวางเรียงชั้นคาร์บอน, รูปทรงท่อ, และองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำงานร่วมกันจนได้เป็นลักษณะนิสัยของเฟรมนั้นๆ ครับ ซึ่งว่าตามตรงเป็นสิ่งที่พูดอธิบายได้ยาก อยากรู้ว่าเป็นยังไงก็ต้องหาโอกาสทดลองปั่นหลายๆ คัน
จักรยานเสือหมอบนั้นหน้าตาอาจจะเหมือนกันหมดทุกอย่าง แต่เวลาปั่นจริงอาจจะให้ฟีลคนละเรื่องเลยก็ได้ มันเป็นความพิเศษของวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ครับ เพราะสิ่งที่สร้างฟีลของรถคือสิ่งที่อยู่ “ข้างใน” ไม่ใช่หน้าตารูปทรงเพียงอย่างเดียว
สำหรับ Parlee Altum R สรุปอย่างง่ายๆ ก็คือเสือหมอบไฮเอนด์ที่ให้ฟีลการปั่นแบบหรูหรานิ่มนวล แต่แอบมีความซิ่งจาก geometry บางส่วนที่ใช้แบบรถแข่ง และการตอบสนองแรงที่ดีเยี่ยมคู่กับเฟรมน้ำหนักเบามาก Geometry ที่ให้มาทำให้ได้ท่าปั่นขี่สบาย จุดเด่นคือท่อคอที่ปรับความสูงได้ 3 ระดับโดยใช้ตัว Top Cap แบบ flex fit ไม่ต้องกังวลเรื่องจะต้องใช้แหวนรองคอที่ดูไม่เข้ากับรถ เป็นรถที่ขี่สบายแต่ไม่อืดอาดเหมือนเสือหมอบเอนดูรานซ์
ว่ากันด้วยประสิทธิภาพและฟีลลิ่งการปั่น Parlee Altum R ไม่แพ้จักรยานในราคาระดับเดียวกัน เป็นแบรนด์ที่ดูนอกกระแสสักหน่อย แต่ภาพลักษณ์ของแบรนด์ยังคงเป็นจักรยานอินดี้มีความ exotic มีคนใช้น้อยไม่ใช่แบรนด์กระแสหลัก
- นิ่มนวลแต่พุ่งติดเท้า
- Handling มั่นคง
- ปรับระยะ stack ได้, geometry แบบรถแข่ง
- งานสีเนี้ยบสั่งทำสีพิเศษได้
- ดีไซน์แปลกไม่เหมือนใครแต่ยังคงความคลาสสิค
- มีเวอร์ชันดิสก์เบรค
-
ราคาสูง
- สีสต็อคมีให้เลือกน้อย (มีสีเดียว, ดำกลอส)
ราคา
เฟรมเซ็ตราคา 169,000 บาท (มาพร้อมแฮนด์ สเต็ม หลักอานคาร์บอนของ Parlee) และสามารถสั่งทำสี custom ได้ เริ่มต้น 20,000 บาท
ขอบคุณบริษัท CycleBoutique ที่ส่งรถให้ทดสอบครับ
Gallery