Specialized Allez Sprint เฟรมอลูท้าสู่คาร์บอน

เดี๋ยวนี้เวลาซื้อจักรยานเสือหมอบ เชื่อว่าหลายคนมองเป็นสเต็ปแบบนี้ครับ: เริ่มจากเสือหมอบอลูมิเนียม > อัปเกรดไปเป็นเฟรมคาร์บอน > หยุดตรงนี้หรือถ้าเจอดีลดี อัปเกรดไปเป็นคาร์บอนรุ่นสูงสุด

การมองระดับเสือหมอบแบบนี้ เกิดจากสันนิษฐานที่ว่า เฟรมอลูมิเนียมประสิทธิภาพด้อยกว่าคาร์บอนไฟเบอร์

แต่จะเป็นไปได้ไหมที่เฟรมอลูมิเนียมสมัยใหม่จะให้ประสิทธิภาพดีกว่าคาร์บอน? แบบว่าจ่ายถูกกว่าครึ่งนึง แต่ต่ขอเฟรมดดีดๆ ไม่แพ้กัน
เรื่องของเรื่องคือมีเพื่อนแอด 2–3 คนที่เป็นสายแข่งแล้วเปลี่ยนจากเฟรมคาร์บอนตัวท็อปมาเป็นอลูรุ่นใหม่ๆ แล้วบอกว่าติดใจกว่า

งั้นมาดูกันว่าเฟรมอลูรุ่นล่าสุด มันมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อนบ้าง ยกตัวอย่างด้วย Specialized Allez Sprint เฟรมอลูที่ออกแบบมาเพื่อแข่งไครทีเรียมโดยเฉพาะครับ

 

Specialized Allez Sprint DSW

Specialized Allez ไม่ใช่จักรยานใหม่ ชื่อนี้เราคงรู้จักกันดีเพราะมันคือเฟรมเสือหมอบอลูมิเนียมที่อยู่มาหลายสิบปีแล้ว ก่อนจะมี Tarmac ก็มี Allez นี่แหละครับที่โปรใช้แข่งสมัยก่อนที่เสือหมอบคาร์บอนจะเข้าสู่โปรทัวร์

แต่ก็ชัดเจนว่าแนวทางการพัฒนาจักรยานพุ่งไปสู่วัสดุแห่งอนาคตอย่างคาร์บอนที่มันสามารถทำเป็นรูปทรงอะไรก็ได้ ซับแรงสะเทือนได้ดีกว่า ตอบสนองแรงทันใจกว่า และสำคัญสุดคือน้ำหนักเบากว่า

แต่ใช่ว่าใครๆ จะซื้อจักรยานคาร์บอนได้ง่ายๆ เพราะด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำกว่าย่อมแลกด้วยราคาที่สูงกว่า และอาจจะเปราะบางกว่าในบางการใช้งานด้วย

Specialized และผู้ผลิตจักรยานหลายๆ รายมองว่าแทนที่จะลดต้นทุนทำเฟรมคาร์บอนราคาไม่แพง ทำไมเราไม่ลองหาวิธีผลิตเฟรมอลูให้มันได้ประสิทธิภาพดีๆ บ้างหละ? ในปี 2012 Specialized ทดลองจนเจอวิธีการเชื่อมท่อใหม่ที่ช่วยเพิ่มความสติฟฟ์ ลดน้ำหนักเฟรม และเพิ่มความทนทาน ให้ชื่อมันออกมาว่า Smartweld

 

เชื่อมท่อยังไงให้ได้เฟรม high performance

จริงว่าไม่ค่อยมีใครพูดถึงนวัตกรรมเฟรมอลูมิเนียมเท่าไรหรอก เพราะมันไม่น่าสนใจเหมือนคาร์บอนไฟเบอร์ แต่หลายปีที่ผ่านมา อลูมิเนียมก็ได้รับการพัฒนาไม่แพ้คาร์บอนเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่เบากว่าเดิมทนทานกว่าเดิม กระบวนการ heat-treating ใหม่ๆ, และรูปทรงท่อที่ร่วมสมัยขึ้นโดยไม่หนักกว่าเดิม

แต่ถึงวัสดุจะเปลี่ยนไปแค่ไหน จักรยานอลูแทบทุกคันยังผลิตแบบเดิมครับ นั่นคือ เอาท่อต่างๆ มาเชื่อมต่อกันเป็นให้ออกมาเป็นจักรยาน การเชื่อมก็ยังเชื่อมในที่เดิมๆ เช่นบริเวณท่อคอ ที่เชื่อมเอาท่อนอน (top tube) และท่อล่าง (down tube) เข้ากับท่อคอ (head tube) งานจะออกมาดีแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับฝีมือช่าง

“สิ่งที่ Specialized ทำในกระบวนการ Smartweld คือการเอาข้อต่อกลับมาอยู่ในการควบคุมของวิศวกร ว่ากันง่าย ๆ แล้ว เทคโนโลยี Smartweld ก็คือท่อคอของเรา จะขึ้นรูปด้วยกระบวนการไฮโดรฟอร์มมิ่งให้มีส่วนนูนคล้ายโดม

แล้วเราก็ผลิตท่อบนกับท่อล่างให้มีลักษณะคล้ายกัน คือใช้ไฮโดรฟอร์มมิ่งทำให้มันมีโดมตรงปลายด้วย พอเราเอาสองท่อมาประกบกัน ก็จะมีร่องเกิดขึ้นระหว่างสองโดม ตรงนี้แหละที่เราจะเติมสารเชื่อมเข้าไป ช่างเชื่อมแค่เติมข่องว่างนี้ให้เต็ม ซึ่งเป็นอะไรที่ตรงไปตรงมามาก แล้วมันก็ง่ายมาก” – Chuck Texira, Specialized Advanced R&D Engineering

 

ท่อคอโคตรสติฟฟ์

แล้วการเชื่อม SmartWeld มันช่วยอะไรบ้าง?

  1. เบาขึ้น: สังเกตว่าในการเชื่อมแบบ SmartWeld จุดที่ท่อเชื่อมกันนั้นจะไม่ได้อยู่ “ใน” ท่อคอเหมือนกระบวนการเชื่อมแบบเก่า นั่นหมายความว่ารอยต่อนั้นไม่ได้อยู่ภายในจุดรับแรงครับ เป็นการเชื่อมกันระหว่าง “ปลาย” ท่อแทน ทำให้ได้รอยต่อที่สมูทสวยงามกว่าเดิม และใช้วัสดุในการเชื่อมน้อยลง
  2. ตอบสนองแรงดีกว่าเดิม: ข้อต่อในเฟรม SmartWeld ไม่ใช่จุดที่รับแรงเครียดจากผู้ใช้มากที่สุดเหมือนแต่ก่อน (มันเลื่อนลงมาเชื่อมกันข้างนอกแทนในท่อคอ) ทำให้ผลิตท่อคอที่ผนังบางกว่าเดิมได้ไม่ต้องกลัวพัง ได้ท่อคอที่ใหญ่กว่าเดิม และการที่จุดเชื่อมท่ออยู่ในหน้าตัดท่อที่ใหญ่กว่า ก็ทำให้ได้เฟรมที่สติฟฟ์กว่าเดิมด้วย

 

กะโหลกที่ตอบสนองแรงดีกว่าคาร์บอน

ในเฟรม Allez Sprint, Specialized ต้องการรีดประสิทธิภาพอลูมิเนียมให้ได้ยิ่งกว่า เฟรม Allez Smartweld เพราะมันออกแบบมาสำหรับการแข่งขันไครทีเรียมโดยเฉพาะ เช่นนั้นแล้วการตอบสนองแรงบริเวณกะโหลกต้องเยี่ยมยอด เหยียบแล้วต้องพุ่งติดเท้า Specialized ก็นำการเชื่อมแบบ SmartWeld มาใช้ที่กะโหลกด้วย O_O

การออกแบบกะโหลก Allez Sprint ก็ใช้คอนเซปต์เดียวกันกับท่อคอครับ แทนที่จะเชื่อมท่อล่าง ท่อนั่ง และเชนสเตย์เข้าด้วยกัน “ใน” ห้องกะโหลก Specialized ออกแบบกะโหลกใหม่ก่อน ให้ได้ทรงที่อวบปั้ก เหมือนกะโหลกเฟรมคาร์บอน แล้วเอามาประกบกันตรงกลาง ก่อนที่จะเชื่อมท่ออื่นๆ เข้ากับกะโหลกตรงปลายห้องกะโหลก

นั่นหมายความว่าเรามีพื้นที่ในการเชื่อมกะโหลกมากขึ้นในเส้นรอบวงที่ใหญ่ขึ้น ผนังห้องกะโหลกบางกว่าเดิม = สติฟฟ์ เบา และทนทาน เหมือนที่ทำในท่อคอนั่นเอง

“ในเฟรมคาร์บอน คุณเพิ่มความสติฟฟ์ได้ไม่ยาก แค่เปลี่ยนทิศทางการวางชั้นคาร์บอน แต่กับอลูมิเนียม ถ้าอยากให้สติฟฟ์คุณต้องเพิ่มน้ำหนักเท่านั้น ยกเว้นว่าคุณจะออกแบบรูปทรงท่อหรือห้องกะโหลกใหม่ ซึ่งไม่มีใครเขาทำกันครับ ทรงห้องกะโหลกใหม่ของเราช่วยให้เราข้ามพ้นข้อจำกัดวัสดุได้หลายขั้น”

“กะโหลกเป็นจุดศูนย์รวมการส่งกำลังของจักรยาน การที่เราเพิ่มความกว้างห้องกะโหลก ทำให้เราเพิ่มขนาดท่อที่เชื่อมกับกะโหลกได้ด้วย ทั้งท่อล่าง เชนสเตย์ ซีทสเตย์ ผลที่ได้คือเฟรมที่สติฟฟ์กว่า Tarmac SL4 โดยที่ไม่ต้องเพิ่มน้ำหนักครับ”

 

ผลรวม

เฟรม Allez Sprint น้ำหนักในไซส์ 52cm อยู่ที่ 1,180 กรัม หนักกว่าเฟรม S-Works Tarmac SL5 ราวๆ 300 กรัมเท่านั้น

ที่สำคัญคือถึงจะเป็นเฟรมอลูมิเนียมแต่ Specialized ให้ตะเกียบคาร์บอนเดียวกับที่ใช้ในเฟรม S-Works Tarmac SL5 ซึ่งเด่นในด้านความสติฟฟ์และบังคับควบคุมช่วงหน้ารถที่เฉียบคม

ส่วนช่วงหลังเฟรม Allez Sprint ให้หลักอานแอโรแบบที่ใช้ใน Specialized S-Works Venge Vias เมื่อรวมเข้ากับซีทสเตย์แบบดรอปแล้วก็ได้รถอลูมิเนียมทรงกึ่งแอโรที่พอจะลู่ลมได้ดีระดับหนึ่งทีเดียว

เฟรมรองรับขนาดยางกว้างสุด 25mm

 

Made for Criterium

สิ่งหนึ่งที่ Specialized ไม่อายที่จะทำคือการสร้างจักรยาน “เฉพาะทาง” ที่อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์การใช้งานทุกรูปแบบ Specialized มีเฟรมแข่งขันรอบด้านอย่าง S-Works Tarmac Sl6, เฟรมแอโรจ๋าที่ไม่แคร์เรื่องน้ำหนักอย่าง Venge Vias, เฟรมขี่สบายซับแรงสะเทือนแถมโช้คมาให้ด้วยอย่าง S-Works Roubaix

สำหรับ Allez Sprint, Specialized ออกแบบมาให้มันเป็นจักรยานสำหรับแข่งขันไครทีเรียมโดยเฉพาะครับ นั่นคือต้องตอบสนองแรงดีมาก มี geometry ที่กระฉับกระเฉงคล่องแคล่ว ผลที่ได้คือเฟรมที่มีระยะเอื้อม (reach) เท่ากับเฟรม Tarmac SL6 แต่ระยะตั้ง (stack) ต่ำกว่า SL6 13 มิลลิเมตร เหมาะกับนักแข่งที่ชอบเซ็ตรถคอต่ำ เพื่อให้ได้ท่านั่งที่ก้มลู่ลม นั่นคือถึงจะเป็นแค่เฟรมอลูมิเนียมแต่ก็ได้ท่านั่งปั่นที่ดุดันไม่แพ้รถแข่งคาร์บอนตัวท็อป

หลักอานแอโรเพิ่มความลู่ลมให้กับเฟรมได้เล็กน้อย และซีทสเตย์แบบดรอปก็พอจะผ่อนแรงสะเทือนได้กว่าซีทสเตย์แบบที่ใช้กันทั่วไป

 

Lab Tested

ใครๆ ก็พูดได้ว่าเราทำเฟรมจักรยานได้ดีที่สุดในโลก แต่เมื่อต้องเจอผลการทดสอบกลางของ Third Party คำกล่าวสวยหรูอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงครับ

Specialized Allez Sprint ก็ต้องเจอกับบททดสอบนี้เหมือนกันเมื่อนิตยสาร Tour Magazine หยิบเฟรมไปทดสอบเทียบกับเฟรมคาร์บอนแข่งขันรายอื่นๆ สิ่งที่น่าสนใจคือ ค่าความสติฟฟ์บริเวณท่อคอ และกะโหลกของ Allez Sprint นั้นกลับทำได้ดีกว่าเฟรมคาร์บอนจากคู่แข่งรายอื่นๆ

ค่าความสติฟฟ์บริเวณท่อคอ วัดด้วยหน่วยนิวตันต่อตารางมิลลิเมตร (N/mm) อยู่ที่ 99 ค่าความสติฟฟ์กะโหลกที่ 74 N/mm

เทียบกับเฟรมคาร์บอนอย่าง Canyon Aeroad CF SLX (98/65) หรือ Giant Propel Advanced 0 LTd (94/62) Allez ก็ยังทำคะแนนได้ดีกว่า

แต่แน่นอนว่าความสติฟฟ์มหาศาลกับวัสดุอลูมิเนียมคงไม่ได้รถที่นุ่มสบาย แต่เมื่อมันเป็นจักรยานที่ทำมาสำหรับการแข่งระยะสั้น บนทางราบถนนเรียบ ความสบายเป็นปัจจัยรองสำหรับ Allez Sprint ครับ

 

Final Word

จริงว่าคาร์บอนไฟเบอร์เป็นวัสดุที่ใช้สร้างจักรยานได้ดีกว่าในหลายๆ ด้าน แต่อย่างที่เราเห็นใน Specialized Allez Sprint พัฒนาการของจักรยานอลูมิเนียมก็เติบโตขึ้นมากไม่แพ้คาร์บอนไฟเบอร์ครับ และน่าจะยังพัฒนาต่อได้มากกว่านี้อีก

มันอาจจะไม่ใช่เฟรมที่รอบด้าน เบา พุ่ง นิ่มนวล แอโรได้ครบเหมือนรุ่นพี่อย่าง Tarmac SL6 แต่ถ้าเลือกเอามาใช้งานถูกประเภทก็น่าจะได้รถที่ประสิทธิภาพดีไม่แพ้กันโดยเฉพาะในเรื่องความพุ่งความดีดครับ และที่สำคัญ ด้วยค่าตัวเฟรมที่ถูกกว่า Tarmac SL6 เกือบแสนบาท นี่อาจจะเป็นรถที่สายแข่งหลายๆ คนใช้ได้อย่างสบายใจครับ

Allez Sprint Expert (Completed) 91,500 บาท
Allez Sprint Comp (Completed) 77,900 บาท
Allez Sprint (Frameset) 51,000 บาท

ขอบคุณ​ Specialized Thailand สำหรับการสนับสนุนเนื้อหาตอนนี้ด้วยคร้าบ

Specialized.com

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *