นักปั่นและทีมไหนผลงานดีที่สุดในฤดูกาล 2017?

ฤดูกาลแข่งปี 2017 จบลงไปแล้ว ช่วงปลายปีแบบนี้ได้เวลามาเช็คผลงานของแต่ละทีมและวิเคราะห์ผลงานที่น่าสนใจครับ แต่ก่อนที่เราจะเจาะเป็นทีมๆ ไป มาดูภาพรวมกันก่อน

นักปั่นคนไหนผลงานดีที่สุด? ทีมไหนชนะเยอะที่สุด? แล้วถ้าชนะเยอะนี่มาจากผลงานของนักปั่นกี่คนในทีม? เอซคนไหนมีเปอร์เซ็นต์การชนะเยอะที่สุด? ข้อมูลชุดนี้บอกอะไรเราได้หลายอย่างทีเดียวครับ มาดูกันเลย

*ข้อมูลทั้งหมดที่ใช้อ้างอิงมาจากฐานข้อมูลเว็บไซต์ Cycling Quotient  และบางส่วนจาก Inrng ครับ

อันดับแรก ลองดูกราฟข้อมูลนี้กันก่อนครับ เป็นยอดชัยชนะรวมของทีมระดับดิวิชัน 1 แต่ละทีมในฤดูกาล 2017

Quickstep ชนะลิ่วมาด้วยยอดชัยชนะ 56 แชมป์! (แชมป์นี้รวมทั้งแชมป์สเตจ และแชมป์รายการ overall) ถึงจะไม่ใช่จำนวนที่เยอะที่สุดที่ทีมเคยได้ (61 แชมป์ในปี 2014) แต่สัดส่วนแชมป์ของปีนี้มาจากสนามดิวิชัน 1 เยอะกว่าทุกปีที่ผ่านมา นั่นหมายความว่า “คุณภาพ” ชัยชนะของทีมสูงที่สุดในประวัติการแข่งของทีม Quickstep Floors

ด้วยที่ทีมมีสปรินเตอร์เก่งๆ หลายคน ยอดแชมป์กว่า 1 ใน 3 มาจากสปรินเตอร์อของทีม – เฟอร์นันโด กาวิเรียได้แชมป์ 4 สเตจ ใน Giro d’Italia, มาร์เซล คิทเทลได้ 5 สเตจใน Tour de France และแมทเทโอ เทรนตินได้ 4 สเตจใน Vuelta a Esapana เป็นทีมที่ประสบความสำเร็จที่สุดในเรื่องปริมาณแชมป์ของทุกแกรนด์ทัวร์

และเมื่อดูกับตารางด้านล่างประกอบด้วย จะพบว่า กาวิเรีย และคิทเทลเป็นสองนักปั่นที่มียอดชัยชนะเยอะที่สุดในปีนี้ ที่ 14 แชมป์ทั้งสองคนครับ

ยังไม่รวมผลงานในสนามประเภทอื่นที่ไม่ใช่ทางราบ เช่นแชมป์ Tour of Flanders ของฟิลลิป จิลแบร์ แชมป์บนยอดเขาโดยจูเลียน อลาฟิลลิป และแดน มาร์ติน

สิ่งที่หลายคนไม่รู้คือ Quickstep เป็นทีมที่ชนะเยอะที่สุดติดต่อกันมาหกปีเต็มแล้ว

อันดับสองรองลงมาเป็น BMC Racing Team ที่ 48 แชมป์ และ Sky ที่ 34 แชมป์ สำหรับ BMC คนที่ชนะเยอะที่สุดกลับไม่ใช่นักปั่นที่โด่งดังอย่าง GVA หรือริชีย์ พอร์ท แต่กลับเป็นดีแลน เทิร์นส์ที่ 8 แชมป์ รองลงมาเป็นพอร์ท และโรฮาน เดนนิสที่คนละ 6 แชมป์ ส่วนทีม Sky ก็ทำได้ไม่เลวกับแชมป์แกรนด์ทัวร์ทั้งสองรายการโดยคริส ฟรูม แชมป์คลาสสิค Milan San Remo และ Strade Bianche โดยมิฮาล เควียทคอฟสกี้ และแชมป์ทางราบโดยวิวิอานี

สำหรับหลายๆ ทีมที่ไม่ได้ชนะเยอะ แต่เมื่อเทียบกับงบประมาณการทำทีมแล้วก็ถือว่าประสบความสำเร็จครับ เช่นโพเดี้ยมใน Tour de France ของ Cannondale Drapac และ AG2R และอย่างในเคสของ Cannodnale นั้นยังมีแชมป์สเตจใน Giro โดยปิแอร์ โรลองด์ด้วย

กลับกัน ทีมที่งบเยอะแต่ผลงานน้อยก็เช่น Katusha และ Astana โดยเฉพาะเคสของ Katusha ที่ไม่ชนะสเตจในแกรนด์ทัวร์หรือแชมป์สนามคลาสสิคไหนๆ เลย

เรื่องนี้คงไม่ต้องแปลกใจครับ ในบทสัมภาษณ์ของวิวิอานีที่ DT ได้มีโอกาสคุยด้วยเมื่อสามสัปดาห์ก่อน วิวิอานีกล่าวว่าคิทเทลคือสปรินเตอร์ที่เร็วที่สุด ณ​ เวลานี้ และเป็นคนที่ทำผิดพลาดในการสปรินต์น้อยที่สุด

ขณะเดียวกัน ม้ามืดไฟแรงอย่างกาวิเรียก็เดบิวต์ผลงานในแกรนด์ทัวร์ได้เปรี้ยงปร้างกับการเป็นแชมป์ Giro 4 สเตจรวด พร้อมคว้าเสื้อผู้นำคะแนนรวมด้วยวัยแค่ 22 ปีเท่านั้น ผสานเอาทักษะไหวพริบเฉียบคมจากการแข่งลู่ คู่กับสปีดในการสปรินต์ระดับหัวแถวและความอึด สู้เนิน สู้เขาได้ดีกว่าสปรินเตอร์คนอื่นๆ เป็นสปรินเตอร์ที่น่าจับตามองมากๆ ในอนาคตครับ เปิดตัวได้ดีกว่าคาเล็บ ยวน คู่แข่งวัยเดียวกันจาก Orica-Scott เสียอีก

จากตารางข้างบนจะเห็นว่า ใน 10 คนที่ยกมานั้นเป็นสปรินเตอร์เสีย 9 คน มันทำให้ยอดชัยชนะอันดับ 4 ของอเลฮานโดร วาวเวอเด้ (Movistar) น่าประทับใจมาก อย่างที่เราทราบกันโอกาสชนะของนักปั่นที่ไม่ใช่สปรินเตอร์นั้นน้อยกว่ามาก ยิ่งเป็นนักไต่เขาและตัวคลาสสิคอย่างวาวเวอเด้ด้วยแล้ว มันแสดงให้เห็นว่าช่วงที่เขาออนฟอร์มนั้นยากที่จะปราบจริงๆ ถึงแม้อายุจะเข้าใกล้ 37 ปีแล้วก็ตาม

และเมื่อเราคิดต่อว่า นักปั่นที่ efficiency ดีที่สุด หรือโอกาสชนะสูงที่สุดในปีนี้เทียบกับจำนวนสนามที่เขาลงแข่งคือใคร คำตอบนี้จะบ่งบอกถึงคุณภาพของนักปั่นอย่างแท้จริงครับ ซึ่งก็สะท้อนความสามารถของวาวเวอเด้อีกเช่นกัน ด้วยอัตราชัยชนะ 30% นั่นหมายความว่าใน 3 สนามที่เขาลงแข่งเขาต้องจะชนะอย่างน้อยหนึ่งครั้ง

ในวงการกีฬาที่จากฟิลด์นักปั่น 200 คนมีผู้ชนะแต่ละสนามได้แค่คนเดียว และแต่ละสนามก็เส้นทางไม่เหมือนกัน ไม่เหมาะกับทุกๆ คนอีก เช่นสปรินเตอร์คงชนะสเตจบนยอดเขาไม่ได้ หรือนักไต่เขาก็จะสปรินต์ไม่ชนะชาวบ้านเช่นกัน สัดส่วนการชนะ แค่ 10% หรือ 1 ใน 10 นั้นก็จัดว่าไม่ธรรมดาแล้ว คงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม Movistar ไม่ปล่อยวาวเวอเด้ไปเสียที แถมยังเซ็นสัญญาระยะยาวต่อจนกะให้รีไทร์ในทีมนี้เลย เพราะเขาเป็นห่านทองคำของทีมตัวจริงครับ

 

นักปั่นที่ลงแข่งเยอะที่สุดเป็นใคร? ปีนี้เป็น เพลโล บิวบาวล์ (Astana) ครับ ลงแข่งถึง 96 วัน นั่นคือเกือบ 1 ใน 3 ของปีเลยทีเดียว ยังไม่รวมวันซ้อม! เอาชนะโมโฮริคไปแค่วันเดียวเท่านั้น ส่วนใหญ่คนที่ลงแข่งเยอะจะเป็นผู้ช่วยขจองทีมที่รับหน้าที่ช่วยเอซของทีมในหลายๆ สนามครับ

 

แต่คนที่ลงแข่งเยอะที่สุดก็ไม่ได้แปลว่าจะปั่นได้ระยะทางรวมสูงสุดเสมอไปครับ แชมป์ปีนี้ตกเป็นของเฟเดอริค แบคเกิร์ท จากทีมดิวิชันสอง Wanty Groupe Gobert นั่นอาจจะเพราะเลือกลงแข่งสนามที่มีระยะทางรวมเยอะกว่า ถ้าแข่งปีละ 15,658 กิโลเมตร แล้ว หากรวมระยะทางซ้อมด้วยจะออกมาที่กิโลเมตรกันเชียว?

 

ในแต่ละปีทางสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (UCI) จะมีการเก็บคะแนนและจัดอันดับให้นักปั่นและทีมด้วย แต่ไม่ได้มีรางวัลอะไรให้เป็นพิเศษครับ

แต่ละสนามที่นักปั่นลงแข่งนั้นจะมีคะแนนแจกให้นักปั่นและทีมตามอันดับที่ได้ ซึ่งคะแนนเหล่านี้นำไปใช้หลายอย่างครับ เช่นใช้ประเมิณว่าทีมมีผลงานดีพอที่จะอยู่ในระดับดิวิชัน 1 หรือเปล่า, ใช้เก็บสะสมคะแนนของนักปั่นแต่ละชาติเพื่อให้โควต้าจำนวนนักปั่นลงแข่งในสนามชิงแชมป์โลกเป็นต้น ปกติคะแนนนี้จะมีอัปเดตอยู่เรื่อยๆ ในเว็บไซต์ UCI.CH

สนามยิ่งใหญ่อย่าง Paris-Roubaix หรือ Tour de France ก็ยิ่งมีคะแนนให้สูงขึ้นตามลำดับ

ในด้านผลงานแล้วนักปั่นและทีมที่ได้คะแนนรวมมากก็หมายความว่ามีผลงานคงเส้นคงวา ทำอันดับได้ดีตลอดครับ สำหรับนักปั่นที่ได้คะแนนรวมเยอะที่สุดปีนี้คือ เกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท (BMC Racing) ที่ 3,582 คะแนน เอาชนะคริส ฟรูม (Sky) ทอม ดูโมลาน (Sunweb) และปีเตอร์ ซากาน (Bora-Hansgrohe)

GVA ชนะทั้ง Omloop Het Niwuesblad, E3 Harelbeke, Ghent Wevelgem และ Paris-Roubaix และยังได้อันดับสองใน Strade Bianche, และ Tour of Flanders

สนามอื่นๆ ที่เขาไม่ได้แชมป์ก็ยังมีผลงาน Top 10 ต่อเนื่องเช่น Classica San Sebastian, Binckbank Tour, Bretagne Classics, GP Montreal และ GP Quebec

 

ในฝั่งของทีม Sky ได้แชมป์ปีนี้ จากที่ปกติ Movistar ได้ติดต่อกันมาหลายปีครับ เหตุผลก็เพราะ Sky ได้แชมป์แกรนด์ทัวร์ถึงสองรายการโดยคริส ฟรูม และมิฮาล เควียทคอฟสกี้ได้แชมป์คลาสสิครายการใหญ่สี่รายการรวด (Strade Bianche, Milan San Remo, Classica San Sebastian, Amstel Gold Race)

Quickstep และ BMC ที่มีผลงานชนะเยอะในระดับสูงสุดก็ได้อันดับสองและสามตามลำดับ

 

ทิ้งท้าย

ก็น่าจะได้เห็นภาพรวมของผลงานและนักปั่นแต่ละทีมกันอย่างชัดเจนสำประจำฤดูกาล 2017 นะครับ ปีหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเพราะ UCI ออกกฏใหม่ ให้นักปั่นในสนามแกรนด์ทัวร์เหลือ 8 คนต่อทีมจากปกติ 9 คน และสนามคลาสสิคจาก 8 คนเหลือ 7 คน ซึ่ง UCI ก็ให้เหตุผลเรื่องความปลอดภัยในการแข่งขัน ไม่อยากให้มีนักปั่นกระจุกตัวเยอะเกินไปในกลุ่ม

แต่ผลที่จะเกิดก็คือรูปเกมในหลายๆ สนามอาจจะคาดเดาได้ยากขึ้น เพราะทีมแข็งๆ ที่ผู้ช่วยเก่งๆ เยอะอาจจะคุมเกมได้ลำบากขึ้น และเราอาจจะได้เห็นผู้ชนะบางสนามจากทีมที่เราคาดไม่ถึงบ่อยขึ้นก็เป็นได้ครับ

*

SaveSaveSaveSave

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *