“ปกติวันแรกๆ ปั่นหนักกันอย่างงี้เลยเหรอนิค? “
“This is the easiest of easy ride we have. (นี่ง่ายที่สุดแล้ว)”
“นี่ง่ายแล้วสินะ (ในใจ…)”
“Two more training days, and we will have a race. Better get ready. (อีกสองวันจะแข่งแล้วนะ เตรียมตัวให้พร้อม)”
บทสนทนาสั้นๆ ข้างบนนี้เริ่มหลังจากที่เราปั่นจบการซ้อมแบบ Easy First Day Ride หรือปั่นง่ายๆ ทำความรู้จักกันในวันแรก ผมก้มลงมองหน้าจอการ์มิน ค่าหัวใจเฉลี่ยของรอบปั่นนี้คือโซน 4.5… ในใจคิดว่านี่เราลงถูกคอร์สแล้วใช่มั้ย
อุณหภูมิอำเภอถลางขณะนี้ชี้ไปที่ 42 องศา อากาศร้อนชื้นแผดเผา สถานที่แห่งนี้คือธัญญะปุระ รีสอร์ท สปอร์ต โฮเท็ล โรงแรมสำหรับคนที่คลั่งไคล้การออกกำลังกายที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย
16 มิถุนายน 2557
รู้ตัวอีกที Ducking Tiger ก็กลับมาที่ภูเก็ตอีกครั้ง เราโชคดีที่ทางโรงแรมธัญญะปุระชวนมาพักในช่วงหลังวันสงกรานต์และให้เข้าซ้อมฟรีกับคอร์ส Cycling Academy ของโรงแรม สิ่งที่ทำให้ผมอยากมาลองไม่ใช่ตัวคอร์ส แต่เป็นโค้ชที่จะดูแลการซ้อมของเรา นิค เกตส์ (Nick Gates) อดีตนักปั่นอาชีพจากออสเตรเลียวัย 43 ปี ที่เคยเป็นแชมป์เสือหมอบออสเตรเลียในปี 1996 และไต่เต้าจากทีมโลคัลขึ้นมาเป็นโปรระดับดิวิชัน 1 UCI ProTour กับทีม Lotto-Domo (ปัจจุบัน Lotto-Soudal) นิค เคยลงแข่ง Tour de France สองครั้ง แต่ตัดสินใจพลิกอาชีพจากนักปั่นไปเป็น Director Sportif หรือผู้กำกับการแข่งให้กับทีม SaxoBank ในปี 2009 จนถึง 2012 โปรไฟล์มาขนาดนี้ ผมนี่จดคำถามเรื่องราวชีวิตของนักปั่นอาชีพเตรียมซักประวัติเลย
โชคดีว่าก่อนที่จะมาเจอนิคที่ธัญญะปุระ ผมเจอกับนิคในงานแข่งจักรยานที่ชะอำด้วย ซึ่งก็ทึ่งในความสามารถตั้งแต่ตอนนั้น เราลงรุ่น open นิคลง open คนเดียวกับลูกชาย (ซึ่งแรงมาก) ดูจังหวะลีลาท่าทางการปั่นแล้ว นี่มันคนละโลกกับพวกเราแน่ๆ นิคหาจังหวะหนีเข้ากลุ่มเบรคอเวย์ไปกับคอนสแตนติน ฟาสต์ (Singha-Infinite), พาโวล คริซาน (Nich-Cycling) และนักปั่นทีมสโมสรตำรวจสองคน หนีกันไปแบบคนข้างหลังไม่ต้องตามครับ (ส่วนผมแหกโค้งล้ม ไล่ตามกลุ่มคนเดียว T_T) คนพ่อสปรินต์ได้อันดับสอง ลูกชายได้แชมป์รุ่นเยาวชน เราได้คุยกันเล็กน้อย ซึ่งเขาก็อัธยาศัยดีทีเดียวครับ
ก่อนที่จะมาทางทีมงาน World Travel Joy ซึ่งช่วยเป็นธุระพา DT มาธัญญะปุระอีกครั้งบรีฟงานคร่าวๆ ว่า ที่ชวนมาครั้งนี้เป็นคอร์สฝึกซ้อมครั้งแรกของนิค ซึ่งจะเป็นการเตรียมตัวลงแข่งงาน Thanyapura Gran Fondo ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตรในภูเก็ต แน่นอนว่าไม่ได้มาซ้อมอย่างเดียว จับเราลงแข่งด้วยเรียบร้อย ผมก็หนาวทันทีเพราะไม่ได้ซ้อมมานานละ เจอแดด 42 องศา ลมทะเล กับระยะทางเกินระยะทำการนี่มีปั่นไม่จบแน่นอน ได้ข่าวว่าภูเก็ตก็ไม่ใช่ทางเรียบเลยเหมือนกัน แต่ในใจคิดดูมันก็น่าสนุกไม่น้อยนะ!
***
ธัญญะปุระคือ?
ออกจากสนามบินภูเก็ตมาได้ไม่นาน รถตู้ธัญญะปุระก็มารับ ตัวรีสอร์ทตั้งอยู่ในอำเภอถลาง ห่างจากสนามบินประมาณ 15 นาที เดินทางค่อนข้างสะดวก ตัวรีสอร์ทอยู่ในป่ายาง ห่างออกมาจากถนนใหญ่เล็กน้อย คำถามคือธัญญะปุระนี่คืออะไร? ถ้าจะเล่าแบบสั้นๆ คือ กาลครั้งหนึ่งไม่นานมานี้ มีเศรษฐีอสังหาเยอรมันคนหนึ่งคิดอยากจะสร้างสถานที่ฝึกซ้อมกีฬาที่ดีที่สุดในโลก พร้อมเป็นโรงแรมในตัว ให้ทั้งนักกีฬาอาชีพได้มาเข้าค่ายเก็บตัวฝึกซ้อม และรองรับคนธรรมดาที่อยากจะมาพักผ่อนแต่ก็สนใจการออกกำลังกายพัฒนาตัวเองด้วย
ก็ว่าไปนั่น…เจ้าของธัญญปะระคือคุณ กราฟ วอน ฮาร์เดนเบิร์ก นักลงทุนอสังหาชาวเยอรมันที่เป็นเจ้าของกิจการหลายอย่างครับ เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติที่แรกในเยอรมัน และเป็นหัวเรือหลักที่ช่วยพัฒนาโปรเจ็ค Ritz-Carlton ให้กลายเป็นโรงแรมห้าดาวระดับโลก เท่าที่สอบถามสตาฟธัญญะปุระมา คุณกราฟเนี่ย เขาเป็นคนที่รักกีฬามาก และรักการออกกำลังกาย บวกกับชอบประเทศไทยมาก เพราะประเทศไทยโดยเฉพาะทางภาคใต้ เป็นที่ๆ อากาศดีซ้อมกีฬาได้ตลอดทั้งปี นักไตรกีฬาระดับโลกหลายคนก็นิยมมาเก็บตัวซ้อมที่บ้านเรา เช่นนั้นแล้วก็เลยตั้งโปรเจ็คธัญญะปุระขึ้นมาเพื่อให้เป็นสถานที่ใครๆ ก็สามารถเข้ามาพัฒนาทักษะการกีฬาได้
แล้วที่นี่มีสนามกีฬาและห้องซ้อมแบบไหนบ้าง?
- สระว่ายน้ำความยาว 50 เมตร และ 25 เมตร มาตรฐานโอลิมปิก สระว่ายน้ำของโรงแรม และสระว่ายน้ำสำหรับเด็ก ซึ่งทั้งหมดใช้ระบบโอโซนและระบบเกลือ
- สนามเทนนิสปูพื้น ‘Plexicushion’ ในร่มจำนวน 4 สนาม พร้อมอัฒจรรย์ในร่มขนาด 600 ที่นั่ง และสนามเทนนิสกลางแจ้งปูพื้น ‘Plexicushion’ จำนวน 2 สนาม
- ฟิตเนส เซ็นเตอร์ ขนาด 900 ตร.ม. ซึ่งติดตั้งอุปกรณ์ของ Technogym โดยแบ่งออกเป็น คาร์ดิโอโซน และพาวเวอร์โซน
- ห้องฝึกศิลปะการป้องกันตัว ห้องฝึกโยคะ ห้องพิลาทีส ห้องเรียนเต้นซุมบ้า และการเต้นอื่นๆ
- โค้ชกีฬาและเทรนเนอร์ส่วนตัว (จ่ายเพิ่ม)
- เข้าถึงถนนที่อยู่ใกล้เคียงสำหรับวิ่งและปั่นจักรยานเส้นทางสำหรับวิ่งและปั่นจักรยาน
- ห้องปฏิบัติการสำหรับการฝึกฝนร่างกายให้พร้อมในสภาวะพร่องอ็อกซิเจน (Hypoxia training แบบ Passive, Cycle และ Running)
- ลู่วิ่งยางสังเคราะห์สนามกรีฑาความยาว 500 เมตร สำหรับกรีฑาประเภทกระโดดยาว กระโดดไกล เขย่งก้าวกระโดด และอัฒจรรย์ในร่มขนาด 1500 ที่นั่ง
- สนามรักบี้หญ้าเทียมขนาดมาตรฐานคณะกรรมการรักบี้สากล พร้อมด้วยห้องล็อกเกอร์และสิ่งอำนวยความสะดวก ห้องวางกลยุทธ์ ห้องกายภาพบำบัด และอัฒจรรย์ขนาด 1500 ที่นั่ง
- บริการให้เช่าจักรยาน อุปกรณ์ว่ายน้ำ และอุปกรณ์ฟิตเนส
- สนามฟุตบอลหญ้าเทียม Limonta รุ่น ‘Soccer Pro’ พร้อมระบบไฟส่องสว่างทั่วสนาม
- สนามบาสเก็ตบอลและแฮนด์บอลพร้อมระบบไฟส่องสว่างทั่วสนาม
- สนามวอลเล่ย์บอลและฟุตบอลชายหาด
สำหรับคนธรรมดาที่มาเข้าพัก สามารถไปฝึกกีฬาคอร์สมาตรฐานที่ธัญญะปุระจัดทุกสัปดาห์ซึ่งมีหลายกีฬาครับ เช่นเทนนิส กีฬาทางน้ำ ฟุตบอล ไตรกีฬา ฟิตเนส โยคะ มวยไทย เวท วิ่ง ปั่น ว่ายน้ำ แต่ถ้าอยากได้คอร์สส่วนตัวก็ต้องจ่ายเพิ่ม หรืออาจจะเลือกแบบแพคเกจกีฬาต่างๆ ที่โรงแรมจัดไว้
ครั้งแรกที่มาที่นี่ต้องบอกว่าไม่ค่อยจะเชื่อว่ามันมีสถานที่แบบนี้อยู่ในประเทศไทยด้วย…Facilities มาตรฐานโลกพร้อมแข่งครับ คนที่มาใช้บริการมีทั้งคนไทย คนต่างประเทศ (คนที่ไม่มาพักก็สมัครสมาชิก Sport Club มาใช้สถานที่ได้) และที่ข้างๆ รีสอร์ตมีโรงเรียนนานาชาติของธัญญะปุระเอง เราก็ได้เห็นเด็กๆ ออกกำลังกายและมาเรียนกีฬากันที่นี่ ดูเป็นสังคมคนแข็งแรง มองไปทางไหนทั้งชายหญิงนี่เห็นแต่หุ่นนักกีฬา O_O
***
The Cycling Academy
สำหรับคอร์สจักรยานที่ DT มา เป็นแพคเกจ 3 วัน 2 คืน สิ่งที่ได้ก็มี
- วันแรกปั่น 40 กิโลเมตร + ว่ายน้ำสองชั่วโมง
- วันที่สองปั่น 70 กิโลเมตร + คอร์สเสริมสร้างกล้ามเนื้อช่วงลำตัวสำหรับนักจักรยาน (Core strenth / stability)
- วันที่สามปั่น 60 กิโลเมตร + ว่ายน้ำสองชั่วโมง
- วันที่ 4 แข่ง Thanyapura Gran Fondo (ไม่อยู่ในแพคเกจ แต่ทีมงานเขาสมัครให้ผมลงแข่งด้วย )
- อาหารสามมื้อจากภัตตาคารของโรงแรม
- เข้าร่วมกิจกรรมและการฝึกกีฬาของธัญญะปุระที่มีจัดทุกวันได้ฟรี
- ฟรีรถรับส่งจากสนามบิน
Day 1
พอเรามาถึงสนามบิน เก็บของแล้ว ก็เตรียมปั่นกันเลย กำหนดการเริ่มปั่นบ่ายสองครึ่ง ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ซึ่งนิคจะพาไปวนลูปสั้น แต่เนินเยอะ เป้าหมายคือไปวอร์มอัป ทำความรู้จักกัน และโค้ชจะได้ตรวจสอบท่าปั่นและทักษะของคนที่ลงคอร์สด้วย จริงๆ ก่อนมาที่นี่ก็ไม่รู้ว่าควรจะคาดหวังอะไรดี เพราะไม่เคยลงโปรแกรมแบบนี้ และเป็นคอร์สปั่นเฉพาะที่ธัญญะปุระเพิ่งจะจัดเป็นครั้งแรกด้วย ตอนที่ผมมาคอร์สยังไม่มีโครงสร้างหรือหลักสูตรที่ชัดเจน
ลองถามนิค ผู้ดูแลการฝึกซ้อม นิคบอกว่าความตั้งใจคือเขาอยากจะเอาความรู้และประสบการณ์ที่เคยแข่งขันในระดับโลกมาถ่ายทอดให้คนที่สนใจอยากพัฒนาทักษะการปั่นจักรยาน คอร์สจะเป็นลักษณะกรุ๊ปเล็กๆ ไม่เกิน 16 คน เพราะฉะนั้นก่อนเริ่มผู้เข้าร่วมฝึกจะมีโอกาสได้คุยกันก่อนว่าสนใจจะพัฒนาทักษะการปั่นด้านไหน ออกแนว custom นิดนึง
นอกจากนิคที่เป็นผู้ฝึกสอนแล้วในธัญญะปุระยังมีสตาฟจักรยานอีกหลายคน มีนักวิทยาศาสตร์การกีฬาที่จบสาขานี้มาโดยตรง อดีตนักแข่ง มีบริการ Bike Fitting จาก Certified Bike Fitter และทดสอบ Vo2Max, Lactate Test และการหาค่า FTP ซึ่งคิดค่าบริการต่างหากไม่อยู่ในคอร์ส
เราปั่นออกจากถลางมาได้ราวๆ 10 กิโลเมตร ผมขึ้นไปปั่นข้างนิค ตั้งใจไว้แล้วว่าจะซักเรื่องโปรทัวร์ให้ยับ ไม่บ่อยครับที่จะได้เจอคนที่มีประสบการณ์ตรงแบบนี้ หลังจากที่รีไทร์จากการเป็นนักปั่นอาชีพแล้ว นิคเป็นผู้กำกับ (Director Sportif) ให้กับทีม Saxo-Bank เราคุยกันหลายๆ เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องในทีม Saxobank และ Tinkoff-Saxo
“คอนทาดอร์ (หัวหน้าทีม Tinkoff-Saxo) เป็นคนที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต ความมุ่งมั่น ความทะเยอทะยาน และความแกร่งของเขา หาใครเทียบยาก ไม่ใช่แค่นักไต่เขาฝีเท้าดี แต่เขามีความเป็นผู้นำสูงมากและผลงานของคอนทาดอร์ทำให้ลูกทีมเชื่อฟังเขา มีหัวหน้าทีมไม่กี่คนในวงการนี้หรอกที่เพื่อนร่วมทีมพร้อมจะยอมถวายหัวปั่นเพื่อปกป้องให้เขาได้ชัยชนะ โดยที่ต้องแลกกับผลงานตัวเอง”
“บียาร์น รีส์…(อดีตเจ้าของทีม Saxobank แต่ถูกโอเล็ก ทิงคอฟ เจ้าของทีมคนปัจจุบันไล่ออกจากทีม) เป็นคนที่นักปั่นเคารพนะ เขาเป็นยอดนักกลยุทธ์ ผลงานใหญ่หลายชิ้นในทีมเราก็มาจากแผนของเขานี่แหละ แต่ผมว่าดีลระหว่างโอเล็กกับรีส์มันดูไม่เวิร์กแต่แรกอยู่แล้ว ลักษณะนิสัยสองคนนี้มันต่างกันมาก รีส์เป็นคนเงียบๆ ไม่พูดมาก แต่ทิงคอฟเป็นเหมือนเศรษฐีรัสเซีย ชอบอวดและชอบจู้จี้กับแผนของทีม ทั้งคู่เหมือนระเบิดเวลา รอวันที่ความสัมพันธ์จะพังลง รีส์เองได้ดีลที่ดีเพราะว่ากันจริงๆ แล้วเขาไม่ใช่เจ้าของทีม เขาไม่ได้เป็นเจ้าของอะไรเลย นักปั่นก็อยู่ในสัญญา สปอนเซอร์ต้องจ้าง รถทีม อุปกรณ์ต่างๆ ก็ของสปอนเซอร์ หมดเวลาแข่งก็ต้องคืน แต่เขาขายทีมได้ถึง 6 ล้านยูโร”
“ผมอยู่ไม่ทันปีที่ซากานเข้ามา แต่ทีมเราอยากได้ตัวเขามานานแล้ว เสียดายว่าติดสัญญาอยู่ ซากานต้องเจอความกดดันเยอะ เพราะเขาอายุน้อยแต่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว”
เผลอแป็ปเดียวเราคุยกันมา 30 นาที นิคพาเราไปวนลูปทางตอนเหนือของถลางที่ต้องผ่านท่าเรือและเป็นเนินโรลลิ่งหลายกิโลเมตรก่อนจะวนกลับเข้าเส้น 4027 ไปทางโรงเรียนบ้านบาง วนขึ้นเส้น 4007 เลี้ยวย้อนกลับมา 4031 แล้วเลี้ยวเข้า 4027 อีกครั้งเพื่อย้อนกลับไปทางถลางสู่ธัญญะปุระ
ดู Strava Flyby เส้นทางปั่นวันแรกได้จากลิงก์นี้ ครับ
วันแรกเราใช้เวลาปั่นประมาณ 90 นาที อากาศในภูเก็ตนี่ทำยังไงก็ไม่ชินครับ ร้อน ชื้น เหงื่อไม่ระบาย ค่าหัวใจพุ่งปรี๊ด แต่เจอเส้นทางสวยๆ น่าปั่นไปแบบนี้จะร้อนแค่ไหนก็คุ้ม กลับถึงที่พักก็เก็บรถพักผ่อนเล็กน้อย แต่ผมไม่ได้ลงว่ายนำ้ต่อ (ซึ่งถ้าลงก็มีโค้ชสอน)
ย้อนกลับไปประโยคแรกที่เปิดเรื่อง นิคบอกว่าวันนี้ อีซี่ไรด์นะ ปั่นชิลล์ๆ… กลับมานั่งเปิด Garmin และ Strava ดู โอ… มัน easy ตรงไหนเนี่ย หัวใจโซน 4 เกือบตลอดเวลา แต่ก็ไม่แปลกใจครับ อากาศร้อนแบบนี้ทำให้ค่าหัวใจเราแกว่งพอสมควร ที่แน่ๆ ตอนขึ้นเนินมันไม่อีซี่แน่ๆ สำหรับมนุษย์ทางราบอย่างผม และอีซี่ของอดีตโปรทัวร์นี่ก็ไม่อีซี่สำหรับเราเลย
ในส่วนของโปรแกรมซ้อมวันแรกยังไม่มีอะไรมาก เป็นเรื่องของการดูแลกลุ่มปั่น ความปลอดภัย เพราะกลุ่มที่ผมมาร่วมมีผู้หญิงเป็นหลัก (ทีม W2 เกือบสิบคน) มีผู้ชายสี่คนเป็นผม กับพี่จาก SCB 1 คนและพี่จากชลบุรีอีกสองคน พื้นหลังการปั่นต่างกันพอสมควร ก็ใช้เวลาทำความรู้จักทำความเข้าใจกันก่อน
ตอนที่ปั่นกันวันนี้ ผมถามนิคไปคำนึง เพราะเป็นเรื่องที่สงสัยมานานแล้ว ว่าทำไมธัญญะปุระไม่ค่อยมีคนไทยมา นิคตอบว่าคนไทยอาจจะมีทัศนะคติที่ไม่ค่อยดีกับธัญญะปุระ คืออาจจะคิดว่าที่นี่เป็นรีสอร์ตของต่างชาติ เพื่อชาวต่างชาติ หรือเพื่อนักกีฬาอาชีพเท่านั้น (มาเรีย ชาราโปวามาและทีมชาติหลายทีมมาเก็บตัวที่นี่บ่อยๆ) และราคาก็อาจจะสูง แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายของธัญญะปุระ เพราะที่นี่ต้องการเปิดรับทุกคนที่อยากพักผ่อนและอยากสุขภาพดี ส่วนตัวนิคเองที่เพิ่งย้ายมาอยู่ไทยได้ไม่นานก็มีเป้าหมายจะทำความรู้จักกับวงการจักรยานไทยให้ดีกว่านี้เพื่อที่จะได้เอามาปรับปรุงส่วนของโปรแกรมการฝึกให้เข้ากับคนไทยด้วย เริ่มจากการไปเข้าแข่งสนามต่างๆ จัดงานแข่งจักรยานไครทีเรียมในภูเก็ต และร่วมงาน expo จักรยานในไทย
โดยรวมแล้วจากที่มาสองครั้ง ผมว่าที่นี่มีแนวคิดที่น่าสนใจครับ เราคงไม่เคยเห็นรีสอร์ตที่มีจุดเด่นเป็นสถานที่ฝึกซ้อมกีฬา เข้ามาอยู่ที่นี่คือแทบไม่ต้องคิดออกไปไหนเลย ตัวรีสอร์ทอยู่ลึกเข้าไปจากถนนใหญ่ ไม่ได้ติดหาดหรือทะเลสวยๆ เข้ามาแล้วเหมือนมาอยู่ในโลกอีกโลกนึง จะบอกว่าเป็นโลกของคนที่อยากแข็งแรงก็ว่าได้ แต่บรรยากาศก็ไม่ได้ซีเรียสและสตาฟเป็นกันเองครับ
เรื่องนี้ยังไม่จบ ยังมีบันทึกการซ้อมต่ออีกสองวัน + เรื่องจากวันแข่ง Gran Fondo สนุกๆ มาเล่าให้ฟังครับ