The Ducking Tiger Awards: ทีมยอดเยี่ยมแห่งปี

[vc_row][vc_column][vc_column_text][dropcap letter=”อี”]กไม่กี่วันเราก็จะจบปี 2014 กันแล้ว ปีนี้เป็นอีกหนึ่งปีที่ฤดูกาลแข่งโปรทัวร์คึกคักและน่าสนใจไม่แพ้ปีก่อนๆ ครับ ก่อนจะส่งท้ายปีเก่า Ducking Tiger อยากจะรีวิวฤดูกาลแข่งปีนี้ด้วยการให้รางวัลนักปั่น ทีม สนามแข่ง และเหตุการณ์ที่น่าประทับใจที่สุดกัน เรามีรางวัลกว่า 13 ประเภทตามนี้ครับ

– Best Rider (นักปั่นแห่งปี)
– Best Classic Rider (นักปั่นคลาสสิคแห่งปี)
– Best Breakaway Rider (นักปั่นเบรคอเวย์แห่งปี)
– Best Sprinter (สปรินเตอร์แห่งปี)
– Best Time Trialist (นักปั่น Time Trial แห่งปี)
– Best Domestic (ผู้ช่วยแห่งปี)
– Best Young Rider (นักปั่นแห่งปี ประเภทต่ำกว่า 25 ปี)
– Best Team (ทีมแห่งปี)
– Best Director Sportif (กุนซือทีมยอดเยี่ยม)
– Best Stage Race (สนามแข่งสเตจเรซแห่งปี)
– Best One Day Race (สนามแข่งวันเดียวแห่งปี)
– Best Moment (เหตุการณ์ที่น่าประทับใจที่สุด)
– Most disappointing moment (เหตุการณ์ที่อยากลืมที่สุด)

วันแรกของ Ducking Tiger Award เราจะเริ่มที่ทีมยอดเยี่ยมแห่งปีครับ

The Winner: Omega Pharmar-Quickstep

Paris - Roubaix 2014

ทุกๆ ปี DT จะมีเรื่องให้กัดทีม BMC เสมอๆ เพราะว่าเป็นหนึ่งในทีมที่รวยที่สุดใน peloton และเป็นที่รวมนักปั่นชั้นยอดหลายคนแต่กลับมีผลงานแค่พอใช้ได้ ปีนี้จะให้วิจารณ์ BMC อย่างเดิมคงไม่ได้ละครับ เพราะทีมอื่นๆ ก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน – Astana, Katusha, Tinkoff, Sky ล้วนแต่มีเศรษฐีพันล้าน (หรือรัฐบาลประเทศ) เป็นนายทุนทั้งสิ้น

ถ้าพูดกันตามภาษานักลงทุน เขาก็จะบอกว่า ROI (Return of Investment) ไม่น่าพอใจ! แต่มีอยู่หนึ่งทีมที่ ROI เข้าขั้นระดับเทพ ลงเงินไปเท่าไรก็ได้ชัยชนะกลับมาตามตัว เดาไม่ยากครับ ทีมที่ว่าก็คือ Omega Pharma-Quickstep ซุปเปอร์ทีมจากเบลเยียมที่คว้าชัยชนะทั้งฤดูกาลรวมทั้งสิ้น 62 ชัยชนะ เยอะที่สุดในฤดูกาล โดยผลงานนักปั่น 18 คน จากสมาชิกทีม 30 คน – บางทีมมีชัยชนะเยอะ แต่พึ่งนึกปั่นเพียงแค่คนหรือสองคนเท่านั้น

แน่นอนว่าชัยชนะส่วนใหญ่เป็นผลงานของสปรินเตอร์ มาร์ค คาเวนดิช ที่เก็บไปทั้งหมด 11 รายการ แต่ต่างกับทีมที่หนักไปทางสปรินเตอร์ OPQS มีชัยชนะเกือบครบทุกรูปแบบ ในแทบทุกสภาพสนามแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นชัยชนะสนามคลาสสิค Paris-Roubaix ของนิกี้ เทิร์ปสตรา ชัยชนะ Time Trial กว่า 10 รายการของโทนี มาร์ติน สนามแข่งวันเดียวอย่าง World Road Championship และ Strade Bianche โดยมิฮาล เควียทคอฟสกี ยังไม่รวมแชมป์สเตจในรายการแกรนด์ทัวร์จากแมทเทโอ เทรนทิน และอันดับสอง Giro d’Italia โดยริกโอเบอร์โต้ อูราน

OPQS เป็นหนึ่งในไม่กี่ทีมที่สามารถคว้าแชมป์สเตจในแกรนด์ทัวร์ทั้งสามรายการ โดยรวมแล้วแทบไม่มีสนามใหญ่รายการไหนที่ OPQS ไม่ชนะ (แต่คงจะต้องเว้นชิงแชมป์โลก Team Time Trial ที่ทีมป้องกันแชมป์สองปีซ้อนไม่สำเร็จ พ่ายให้ BMC ไปอย่างน่าเสียดาย) และอีกเรื่องที่ OPQS ยังเติมเต็มไม่ได้คือการคว้าแชมป์แกรนด์ทัวร์ ซึ่งว่ากันตามตรง ในโควต้าสมาชิก 30 คนต่อหนึ่งทีม จะให้มีแชมป์สนามคลาสสิค, Time Trial, แชมป์โลก, เอซสปรินเตอร์ และแชมป์แกรนด์ทัวร์อยู่ด้วยกันได้ทั้งหมด โดยใช้ทรัพยากรนักปั่นผู้ช่วยร่วมกัน เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ การที่ OPQS มีแชมป์ทุกประเภท (ยกเว้นแกรนด์ทัวร์) จึงไม่ใช่เรื่องธรรมดา

Paris - Roubaix 2014

สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดคงเป็นความสามารถของผู้จัดการทีม แพททริค เลอเฟเวอร์ ที่คุมอีโก้ของนักปั่นระดับแชมเปี้ยนนับสิบให้ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น ในขณะที่บางทีม (เอิ่ม Sky…) มีเรื่องสาดโคลนระหว่างตัวเต็งตลอดทั้งปี ผมว่าตัวอย่างที่ดีที่สุดที่โชว์ความสามัคคีของทีมคือสนาม Paris-Roubaix ที่ OPQS เริ่มต้นการแข่งด้วยเอซ 2-3 คน (โบเนน, สไตบาร์, เทิรป์สตรา) ทีมตัดสินใจได้เด็ดขาด เมื่อรู้ว่าโบเนนไม่ฟิตพอจะท้าชิงแชมป์ได้ บอสเลยส่งโบเนนออกกระชากกลุ่มเพื่อทอนแรงคู่ต่อสู้ ตามด้วยการโจมตีหลายระลอกจากสไตบาร์ และแวนเดนเบิร์ก

แทบทุกช่วงสำคัญ เราจะเห็นทีม OPQS อย่างน้อย 3-4 คนอยู่ในกลุ่มตัวเต็ง หรืออย่างน้อยๆ ถ้ามีเบรคอเวย์ต้องมีสมาชิก OPQS อยู่ด้วย คุณอาจจะคิดว่าก็ OPQS มีตัวเต็งเยอะเลยเดินเกมแบบนี้ได้ แต่อย่าลืมว่าทีมอื่นๆ ก็มีผู้เชี่ยวชาญไม่น้อยเหมือนกัน ความคล่องตัวและความพร้อมที่จะสละโอกาสของสมาชิก OPQS จึงเป็นเรื่องที่น่าประทับใจและหาดูได้ไม่บ่อยในสนามแข่งปีนี้ครับ

The Runner Up: Movistar

Giro-D'Itaia 2014 stage 19 ITT

จะให้เลือกแชมป์ทีมเดียว ก็ออกจะยากสักหน่อย เพราะแต่ละทีมก็มีจุดแข็งจุดอ่อนไม่เหมือนกัน ผมว่าฤดูกาล Movistar ก็ทำได้ดีไม่แพ้ OPQS ครับ

Movistar เป็นเสมือนคู่ตรงข้ามของ Quickstep ก็ว่าได้ นอกจากสนามคลาสสิคและการสปรินต์ที่เป็นจุดอ่อนของทีมแล้ว Movistar สามารถชนะได้ทุกประเภทรายการตั้งแต่สเตจเรซ 1 สัปดาห์ แกรนด์ทัวร์  3 สัปดาห์ ไปจนถึงสนามแข่งคลาสสิควันเดียว (ในปีนี้วาวเวอเด้ชนะ Fleche Wallone, Roma Maxima, Classica San Sebastian, ที่สอง Liege, Lombardia และที่ 3 ชิงแชมป์โลก!) จบท้ายปีทีมคว้าแชมป์คะแนนรวมสูงสุดในตาราง UCI World Tour และเป็นทีมเดียวที่ทำผลงานสเตจเรซได้คงเส้นคงวาที่สุด ด้วยแชมป์ Giro (คินทานา), ที่ 3 Vuelta (วาวเวอเด้) และที่สี่ Tour (วาวเวอเด้)

รางวัลประเภทต่อไปเราจะมาดูว่าใครจะเป็นนักปั่นน้องใหม่ยอดเยี่ยมครับ (Best Young Rider)

แล้วทีมไหนเป็นทีมในดวงใจคุณ? คุยกันในคอมเมนต์ครับ :)[/vc_column_text][vc_separator color=”grey”][/vc_column][/vc_row]

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *