ใครจะเป็นแชมป์โลกจักรยานถนน 2017?

ใครจะได้ครองเสื้อสีรุ้งประจำฤดูกาล 2017?

จะเป็นปีเตอร์ ซากานที่ทำแฮททริค คว้าเสื้อรุ้งสามสมัยซ้อนเป็นคนแรกของโลกหรือจะเป็นตัวเต็งคนอื่น? ด้วยเส้นทาง 267.5 กิโลเมตร กับการแข่งขันแบบเซอร์กิตเรซที่มีเนินชันให้ปีนถึง 12 รอบ การันตีได้ว่าสนามนี้จะเป็นหนึ่งในสนาม One Day Race ที่สนุกที่สุดในปีนี้ครับ

โพสต์นี้เราจะมาวิเคราะห์เส้นทาง ตัวเต็ง และทำนายรูปเกมที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้

 

1. เส้นทาง: ยาก, ยาว, ชัน

เส้นทางแข่งปีนี้แบ่งออกได้เป็นสองช่วงครับ: ช่วงเปิดสนาม ที่นักปั่นเริ่มจากจุดสตาร์ทตรงเข้าไปยังเมืองเบอร์เกน ตรงนี้ระยะทางรวม 39.5 กิโลเมตร เริ่มจากหมู่บ้าน Rong เข้าสู่ชานเมือง

ช่วงที่สองเป็นลูปเซอร์กิตเรซแข่งรอบเมืองเบอร์เกน ก่อนจะเข้ารอบแรกนักปั่นแบบไม่เต็มรอบ 17.9 กิโลเมตร จากนั้นเข้าสู่เส้นทางลูป 19.1 กิโลเมตร ซึ่งต้องปั่นทั้งหมด 11 รอบ รวมระยะทางวันนี้ 267.5 กิโลเมตร เป็นหนึ่งในสนาม One Day Race ที่ยาวที่สุดในรอบปีครับ (แพ้แค่ Milan Sanremo แต่ทางยากกว่าเยอะ)

เนินในลูปนี้มีอยู่สามจุด ลูกแรกยาว 500 เมตร ลูกที่สองยาว 1 กิโลเมตร และลูกที่สามซึ่งเป็นไฮไลท์ขอวรายการยาว 1.5 กิโลเมตร ชื่อว่า Salmon Hill อยู่ตรงประมาณกลางลูปพอดี เพราะงั้นเนินนี้นอกจากจะเป็นจุดคัดตัวแล้ว น่าจะเป็นลานสังหารในรอบสุดท้ายเพื่อคัดตัวผู้ชนะด้วยครับ

Salmon Hill ความยาว 1.5 กิโลเมตร ชันเฉลี่ย 6.4% จุดที่ชันที่สุดอยู่ช่วงแรกของลูป รวมแล้วนักปั่นต้องขึ้นเนินนี้ 12 ครั้ง (รวมกับรอบไม่เต็มก่อนเข้าลูปด้วย)​

ถึงยอดเนินแล้ว นักปั่นเหลือระยะทาง 10 กิโลเมตรก่อนเข้าเส้นชัย 2.5 กิโลเมตรสุดท้ายเป็นทางราบเรียบสนิท

 

สนามชิงแชมป์โลกแข่งยังไง?

รายการชิงแชมป์โลกจักรยานถนนเป็นไม่กี่สนามในฤดูกาลที่แข่งกันด้วยทีมชาติแทนทีีมอาชีพครับ ซึ่งทำให้รูปเกมน่าสนใจทีเดียว!

  1. นักปั่นจากชาติเดียวกันที่อยู่คนละทีมอาชีพมักจะได้อยู่ทีมเดียวกัน และมันจะนำมาซึ่งความขัดแย้งและดราม่าเสมอ ยกตัวอย่างเช่นปี 2013 ที่รูย คอสต้า (Movistar – โปรตุเกส) ได้แชมป์ อันดับโพเดี้ยมปีนั้นเป็นวาคิม โรดริเกรซ (Katusha – สเปน) และอเลฮานโดร วาวเวอเด้ (Movistar – สเปน) โรดริเกรซบ่นว่าวาวเวอเด้ไม่ซื่อสัตย์ต่อประเทศ และไม่ยอมไล่จับคอสต้าให้เขา เพราะถือว่าเป็นนักปั่นทีมอาชีพเดียวกัน ซึ่งวาวเวอเด้ก็ปฏิเสธและบอกแค่ว่าเขาหมดแรงแล้ว ตามใครไม่ทันหรอก!ในสถานการณ์นี้จะเห็นว่า ถึงวาวเวอเด้หรือโรดริเกรซจะช่วยจับคอสต้าได้ทัน คำถามต่อไปคือแล้วสเปนจะให้ใครเป็นแชมป์!? เพราะทั้งโรดริเกรซและวาวเวอเด้ต่างก็เป็นเอซของทีมตัวเองและเป็นนักปั่นที่มีจุดแข็งสไตล์เดียวกันด้วย จะสู้กันเอง หรือจะมีคนเสียสละ? เพราะเสื้อสีรุ้งใส่ได้คนเดียวครับ ถ้าทีมไม่ตกลงผลประโยชน์ชัดเจนว่าปีนี้จะให้ใครเป็นเอซตั้งแต่ก่อนแข่งรับรองว่ามีดราม่าหลังจบงาน
  2. ชาติเล็กๆ ที่ไม่มีโอกาสมักช่วยทีมอาชีพตัวเองเสมอ – อันนี้เห็นได้บ่อย อย่างออสเตรียมีนักปั่นแค่สามคน และไม่มีใครเป็นตัวเต็ง ในอดีต เบอร์นี ไอเซิลสมัยที่ยังอยู่กับ Sky เราจะเห็นเขาไปลากให้ทีมสหราชอาณาจักรบ่อยๆ เพราะถึงจะแข่งเพื่อออสเตรียก็ไม่มีทางชนะอยู่แล้ว ออกมาทำงานให้ทีมอาชีพตัวเองที่จ่ายเงินเดือนให้ดีกว่า
  3. แต่ละชาติมีจำนวนนักปั่นไม่เท่ากัน: ในสนามแข่งอาชีพทั่วไป ทุกทีมต้องส่งนักปั่นลงแข่งจำนวนเท่ากัน แต่ไม่ใช่ในสนามชิงแชมป์โลกครับ เพราะจำนวนนักปั่นนั้นคัดจากผลงานการแข่งในสนามอาชีพรวมของแต่ละชาติจากคะแนน UCI

ชาติที่มีนักปั่นในทีมใหญ่เยอะเช่นสเปน อิตาลี ออสเตรเลีย เยอรมัน ก็ย่อมมีคะแนนสะสมเยอะและส่งนักปั่นลงได้เต็มจำนวน 9 คน กลับกันชาติที่มีนักปั่นในสนามใหญ่น้อยก็มีโควต้าน้อยด้วยเช่นกันครับ ทีมใหญ่ก็จะมีผู้ช่วยและออปชันเยอะ แต่ก็ใช่ว่าทีมเล็กจะไม่มีโอกาสชนะ อย่างรูย คอสต้าจากโปรตุเกสก็แทบไม่มีเพื่อนช่วยเลยเช่นกัน

 

เกมจะจบยังไง?

ตามสูตรการแข่ง Road Race ยังไงก็ต้องมีกลุ่มหนีพยายามจะเข้าเส้นชัยก่อนเปโลตองครับ ส่วนใหญ่จะเป็นส่วนผสมของนักปั่นจากชาติเล็กๆ ที่มีลูกทีมไม่เยอะ ไม่มีตัวเลือกมาก ไม่มีสปรินเตอร์ โอกาสที่จะชนะทางเดียวคือเข้าเส้นชัยก่อนกลุ่มใหญ่ให้ได้ หรืออย่างน้อยถ้ารู้ว่าไม่มีโอกาส เข้าเบรคอเวย์ก็ยังได้ออกกล้องโชว์สปิริตให้ประเทศตัวเอง

เบรคอเวย์น่าจะนำเปโลตองได้จนถึง 2-3 รอบสุดท้าย ซึ่งเกมคงคุมโดยทีมจากชาติใหญ่ที่สมาชิกเยอะ เช่นเบลเยียม เนเธอร์แลนด์​ อิตาลี สเปน เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร ที่ส่งเต็ม 9 คน (ชาติเล็กอย่างญี่ปุ่น รวันดา คอสตาริก้า อัลเบเนีย กรีซ..มีนักปั่นคนเดียว)

เมื่อเบรคอเวย์โดนจับแล้วการันตีได้ว่าจะมีหลายทีมพยายามโจมตีซ้ำอีกครั้งเพื่อทิ้งกลุ่มให้หลุดครับ

แต่ผมว่าเกมวันนี้น่าจะจบด้วยการสปรินต์จากกลุ่มเล็กมากกว่าเบรคอเวย์ เพราะเส้นทางคอร์สนั้นยากที่จะหนีเดี่ยว เนิน Salmon Hill ไม่ได้ชันหรือยาวเกินจะตัดตัวคู่แข่งได้หมด หลังลงเนินมาแล้วเบรคอเวย์ต้องโซโล่คนเดียวเกือบสิบกิโลเมตร หลังจากที่ปั่นมาร่วม 250 กิโลเมตร ผมว่ายากที่จะหนีรอด และกลุ่มเล็กที่ทำงานร่วมกันมีโอกาสรอดมากกว่า อย่างในศึก U23 แชมป์ก็มาจากการสปรินต์กลุ่มเล็กๆ ไม่ถึง 30 คน

เพราะงั้นเกมวันนี้ออกจะดูคล้ายๆ Milan-Sanremo อยู่ไม่น้อย เส้นทางเลยเหมาะกับนักปั่นที่พอจะปีนเนินได้ไว และสปรินต์ได้ดีครับ แน่นอนว่ามีแชมป์ที่ solo คนเดียวจนชนะ MSR แต่นั่นก็เพราะเนินสุดท้ายใน MSR มันอยู่ห่างเส้นชัยไม่เยอะเท่าไร


ใครลงแข่งบ้าง?

เช็ครายชื่อนักปั่นทั้งหมดได้จาก ลิงก์นี้ 

ตัวเต็งสำหรับเกมสปรินต์

ถ้าจบด้วยสปรินต์ ตัวเต็งมีหลายคนที่น่าสนใจครับ

 

ปีเตอร์ ซากาน (สโลวาเกีย)

แชมป์โลกสองสมัยและคนปัจจุบันมีโอกาสสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการคว้าแชมป์โลกสามสมัยติดต่อกัน ซึ่งไม่มีใครเคยทำได้มาก่อน ถ้าเขาหายป่วยและฟอร์มดี สนามนี้เหมาะกับเขามากกว่าใครๆ ด้วยเส้นทางที่ยาก ยาว และโอกาสจบแบบสปรินต์สูง

ซากานมีโมเมนตั้มที่ดีจากผลงานแชมป์สเตจใน BinckBank Tour สองสเตจเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และแชมป์รายการ GP de Quebec ต้นเดือนนี้ ทักษะความสามารถอื่นๆ นั้นคงไม่ต้องบรรยายอะไรมาก ชนะได้ทุกรูปแบบเส้นทาง จะเนิน จะหนีเดี่ยว หรือจะสปรินต์ก็ดี ในชิงแชมป์โลกปีที่แล้วเขาสปรินต์ชนะมาร์ค คาเวนดิชและทอม โบเน็นได้แบบสบายๆ

รูปเกมที่ซากานไม่ชอบคงเป็นการเบรคอเวย์ในกลุ่มเล็กๆ ซึ่งไม่มีคู่แข่งคนไหนอยากช่วยเขาทำงานผลัดกันนำไปจนถึงเส้นชัย เพราะแทบทุกสถานการณ์ ซากานสปรินต์ได้ดีกว่าคนอื่นครับ ถ้าเกมเข้าแบบนี้แล้วคนอื่นเกี่ยงไม่ช่วยซากาน เขาจะโดนทอนแรงจนเหนื่อยสปรินต์สู้ไม่ได้ หรืออย่างร้ายโดนเปโลตองจับแล้วต้องมาหาโอกาสสปรินต์จากกลุ่มใหญ่กว่าเดิม

 

ไมเคิล แมธธิวส์ (ออสเตรเลีย)

ปีนี้เป็นปีที่เขาฟอร์มดีมากได้ทั้งเสื้อเจ้าความเร็วและสองแชมป์สเตจใน Tour de France และทีผ่่านมา ผลงานในชิงแชมป์โลกของแมธธิวส์ก็ไม่เลวครับ ได้ที่ 2 และที่ 4 ในปี 2015 และ 2016 และปีนี้เขาจะได้นำทีมออสเตรเลียคนเดียว ไม่ต้องแบ่งตำแหน่งหัวหน้ากับใคร

ปัญหาใหญ่ของแมธธิวส์คือนักปั่นที่เจนสนามคลาสสิคกว่าเขาอย่างซากานและแวน เอเวอร์มาร์ท (ขอย่อว่า GVA) ตามสถิติจากเว็บไซต์ Procyclingstats ที่ซากานเจอแมธธิวส์แบบ head-to-head ทั้งหมด 32 ครั้งที่ทั้งคู่จบแบบ Top 10, ซากานชนะแมธธิวส์ถึง 25 และได้แชมป์สเตจ/รายการนั้นไปเลยถึง 17 ครั้ง ในขณะที่แมธธิวส์ได้อันดับดีกว่าซากานเพียง 7 ครั้งและชนะ สเตจ/รายการ แค่ 3 ครั้งเท่านั้น

 

เกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท (เบลเยียม)

แชมป์โอลิมปิกและ Paris-Roubaix คนล่าสุด เป็นอีกหนึ่งตัวเต็งและคู่กัดตัวฉกาจของซากานครับ ในสนาม Quebec เมื่อต้นเดือนนี้เขาเพิ่งแพ้ซากานมา ได้อันดับสอง (แมธธิวส์ได้ที่สาม!)

ตามสถิติ head-to-head ซากานและ GVA ที่ตัดสินแชมป์สเตจ/รายการ ถึง 11 ครั้ง โดยรวมแล้ว GVA ชนะเยอะกว่าที่ 6 ชัยชนะ เทียบกับซากานที่ 5 ชัยชนะ แต่ปีนี้ผลงาน ตัว-ตัวของซากานเหนือกว่า GVA

รวมๆ แล้วทั้งคู่เป็นนักปั่นที่สูสีกันมากครับ ซากานสปรินต์ได้เร็วกว่าโดยพื้นฐานแต่มักแพ้เรื่องจังหวะและการวางตำแหน่งให้ GVA เป็นคู่ที่น่าลุ้นทีเดียว

 

เอ็ดวาล์ด บอสซัส ฮาเก็น / อเล็กซานเดอร์ คริสทอฟ (นอร์เวย์)

ประเทศเจ้าถิ่นส่งเอซลงสองคนให้ไปชิงดีกันเองครับ จริงๆ แล้วสมาคมจักรยานนอร์เวย์นี่ตั้งใจสร้างเส้นทางให้เข้าทางทั้งคู่ (สารภาพออกข่าวเลย) แต่ทางที่เหมาะกับคู่นี้ก็ย่อมเหมาะกับตัวเต็งสามคนแรกที่เรากล่าวถึงด้วย

บอสซัน ฮาเก็น (EBH) ปีนี้ก็ผลงานดีทีเดียว แชมป์สเตจใน Tour de France, Tour of Britain, Tour de Fjords และ Tour of Norway

เกมที่เขาถนัดน่าจะเป็นการสปรินต์จากกลุ่มเล็ก หรือ solo move ซึ่งต่างกับคริสทอฟ ที่เป็นเพียวสปรินเตอร์ และโอกาสชนะมาจากการสปรินต์กลุ่มมากกว่า

กลับกันกับ EBH ปีนี้คริสทอฟฟอร์มไม่ดี แต่อย่างน้อยๆ เขาก็เป็นแชมป์เสือหมอบยุโรปคนปัจจุบันครับ จะอย่างไรก็ดี ทั้งคู่มีแรงกระตุ้นเป็นพิเศษ เพราะการได้เสื้อรุ้งในบ้านเกิดตัวเองนั้นยากจะหาอะไรเทียบ

 

เฟอร์นันโด กาวิเรีย (โคลอมเบีย)​

อีกคนที่แกร่งมากในสนามสไตล์วันเดียวที่โอกาสจบแบบสปรินต์สูง ด้วยวัยแค่ 22 ปีแต่กลับมีผลงานแชมป์สเตจใน Giro 4 สเตจรวดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ และยังเกือบชนะ Milan Sanremo 2016 แค่พลาดล้มหน้าเส้นชัยเท่านั้น (ปีนั้นทั้งซากานและแคนเชอลาราสารภาพว่าถ้ากาวิเรียไม่ล้ม ทุกคนแพ้เขาแน่นอน)​

 

แมทเทโอ เทรนติน / เอเลีย วิวิอานี (อิตาลี)

นักปั่นอิตาเลียนที่ฟอร์มร้อนแรงที่สุดในชั่วโมงนี้เป็นเทรนตินอย่างไม่ต้องสงสัย กับผลงานล่าสุด 4 แชมป์สเตจใน Vuelta a Esapana และ GP Impanis-Van Petegem เมื่อต้นเดือนกันยาครับ เทรนตินจะเชี่ยวเรื่องการสปรินต์จากกลุ่มเล็กและไต่เขาได้ดีเทียบกับเพียวสปรินเตอร์คนอื่นๆ และแข่งรายการคลาสสิคได้ดีหลายรายการ แต่มักจะเป็นผู้ช่วยมากกว่าหัวหน้าทีม

ถ้าเกมจบด้วยกรุ๊ปใหญ่ วิวิอานีน่าลุ้นกว่าเทรนตินเพราะสปีดปลายดีกว่า จุดอ่อนคือขึ้นเขาได้ไม่ดีเท่าเทรนตินครับ ไม่งั้นก็ยังมี ซันนี โคลเบรลลี เพื่อนร่วมชาติที่เป็นแผน C

 

มิฮาล เควียทคอฟสกี้ (โปแลนด์)

อดีตแชมป์โลก 2014 อาจจะไม่ใช่สปรินเตอร์ที่เร็วที่สุด แต่ถ้าเป็นการสปรินต์แบบตัว-ตัวจากกลุ่มเล็ก คนนี้ทำได้ไม่เลวครับ ใน Amstel Gold 2015 เขาสปรินต์ชนะแมธธิวส์และ GVA และใน MSR ปีนี้อย่าลืมว่าเขาสปรินต์ชนะซากาน

ไม่่ใช่แค่เกมสปรินต์แต่เควียทคอฟสกี้ยังเล่นเบรคอเวย์ได้ชั้นเซียนด้วย ปี 2014 เขาหนีเดี่ยวเพื่อคว้าแชมป์โลก และใน Strade Bianche ปีนี้เขาก็ใช้แผน solo move คว้าแชมป์สมัยที่สองเช่นกัน สิ่งที่หลายคนไม่รู้คือเควียทคอฟสกี้เป็น time trialist ฝีเท้าดีครับ


ถ้าเกมจบด้วยเบรคอเวย์?

ไม่ใช่ทุกชาติที่จะมีเอซที่สปรินต์ได้ดีครัย โดยเฉพาะทีมเล็กๆ ที่หวังพึ่งเกมเบรคอเวย์ หนีเดี่ยวหรือหนีกลุ่มเล็กแล้วไปตัดสินวัดดวงกันหน้าเส้นชัย ซึ่งโอกาสชนะอาจจะเยอะกว่าการเสี่ยงสปรินต์กับกลุ่มใหญ่หลายสิบคน

แน่นอนว่าในตัวเต็งสปรินเตอร์ที่เรากล่าวถึงข้างต้น มีหลายคนที่เบรคอเวย์เองได้ทั้งด้วยตัวคนเดียวและทั้งแบบกลุ่ม เช่น GVA, ซากาน, เควียทคอฟสกี้ แต่พวกนั้นจะรอบด้านกว่าตรงที่ปิดเกมด้วยการสปรินต์ได้ด้วย คนอื่นๆ ที่เราจะพูดถึงนี้อาจจะไม่รอบด้านเท่าแต่ก็มีโอกาสลุ้นในเกมเบรคอเวย์ครับ

ฟิลลิป จิบแบร์ / โอลิเวอร์ เนเซ็น / ดีแลน เทิร์นส์ / แยสเปอร์ สตอยเว็น / ทิม เวลเลนส์ / ทีช เบนูท / เยนส์ เคอคิวแลร์ (เบลเยียม)

จะบอกว่าเบลเยียมเป็นชาติที่ผลิตนักปั่น one day race เก่งๆ เยอะที่สุดก็คงไม่ผิด รายชื่อข้างบนเรียกว่าเป็น all star line up ในสนามคลาสสิคเลยก็ว่าได้ และหลายคนเป็น breakway specialist ที่มีผลงานระดับดิวิชัน 1 หลายสนามครับ ปีนี้เราเห็นเนเซ็น ตีคู่กับ GVA และซากานใน Tour of Flanders และสนามคลาสสิครายการอื่นๆ สตอยเว็นก็เคยหนีเดี่ยวจนได้แชมป์ Kuurne-Brussel-Kuurne

แต่เด็ดสุดคงไม่พ้นฟิลลิป จิลแบร์ ถึงอายุจะเริ่มมากแล้วแต่ปีนี้กลับเป็นปี comeback ของเขาเลยก็ว่าได้กับผลงานแชมป์คลาสสิคสองรายการ และชนะ Tour of Flanders ด้วยการเบรคอเวย์คนเดียว 55 กิโลเมตร

ถึงเบลเยียมจะฝากความหวังไว้กับ GVA แต่การมีจิลแบร์เป็นแผน B นั้นทำให้ทีมเบลเยียมอันตรายมากสำหรับคู่แข่งครับ

 

ลิเลียน คาเมลยาน / จูเลียน อลาฟิลลิป (ฝรั่งเศส)

ฝรั่งเศสก็มีคู่ร้ายไม่แพ้กัน แต่สไตล์การปั่นจะต่างจากสิงห์เบลเยียมเล็กน้อย ตรงที่เอซคู่นี้เป็นสาย attack บนเนินครับ ปีนี้คาเมลยานชนะสเตจใน Tour de France จากการเบรคอเวย์และชนะรายการเล็กๆ อีกสามรายการด้วยแผนเดียวกัน

คาเมลยานจะถนัด solo move แต่ก็สปรินต์จากกลุ่มเล็กได้ไม่เลว ส่วนอลาฟิลลิปเป็นสายระเบิดเนิน อย่าลืมว่าเขาได้ที่สาม Milan San Remo ปีนี้ จากที่หนีไปกับซากานและเควียทคอฟสกี้ และล่าสุดได้แชมป์สเตจใน Vuelta จากการหนีเดี่ยวด้วย เรียกได้ว่าออนฟอร์มทั้งคู่

 

นิกี้ เทิร์ปสตร้า / ลารส์ บอม / ทอม ดูโมลาน (เนเธอร์แลนด์)

เราอาจจะไม่ได้มองทีมดัทช์เท่าไร จากที่นักปั่นชื่อดังไม่ได้อยู่ในทีมนี้ครับ แต่อย่าลืมว่าผลงานแชมป์โลกปีนี้ทั้งชายและหญิงชาวดัทช์กวาดไปเกือบหมดทุกรายการเลย! ทั้ง TTT/TT หญิงและชาย เมื่อคืน Road race ประเภทหญิงชาวดัทช์ก็ได้แชมป์อีก เพราะงั้นแรงกระตุ้นมีมากเป็นพิเศษ

และทีมก็ส่งนักปั่นเก่งๆ มาหลายคนครับ นิกี้ เทิิร์ปสตร้าตัวเต็งรายการคลาสสิคอดีตแชมป์ Paris-Roubaix, ลาร์ส บอมแชมป์โลก Cyclocross, และแม้แต่ทอม ดูโมลานที่อาจจะเล่นแผน TT เดี่ยวสิบโลสุดท้ายก็เป็นอะไรที่ลุ้นได้เช่นกัน!

สำหรับชาติอื่นที่ไม่ได้มีทีมใหญ่ มีหลายคนที่ลุ้นขึ้น จับตามอง ดาริล อิมปีย์ (แอฟริกาใต้), รูย คอสต้า (โปรตุเกส),และริกโอเบอร์โต้ อูราน (โคลอมเบีย)​ และอดัม ไบลท์ (สหราชอาณาจักร) 


ถ่ายทอดสด

ถ่ายทอดสดเเริ่มเวลา 15:05-22:30

ชมผ่านทาง UCI Youtube Channel หรือวิดีโอข้างล่างนี้ หรือถ้าอยากดูไปด้วยแชทไปด้วยกับเพื่อนๆ คนอื่น ไปดูได้ใน Duckingtiger.com/live ซึ่งเราจะนำลิงก์ streaming มาแปะไว้ข้างห้องแชทครับ

SaveSave

SaveSave

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *