5 เหตุผลที่ทำให้ Skyแกร่งกว่าทีมอื่นใน Tour de France

Photo: ASO

อะไรที่ทำให้ทีมๆ หนึ่งแข็งแกร่งกว่าทุกทีม และสามารถคว้าแชมป์ Tour de France ได้ถึง 5 สมัยในระยะเวลา 6 ปีโดยนักปั่นเพียงสองคน? มันเป็นเพียงเพราะ Sky มีเงินมากกว่าทีมอื่นจริงหรือ? ด้วยความสำเร็จต่อเนื่องแบบนี้ ผมว่าเราพอจะมองเห็นแพทเทิร์นครับ ลองมาดูกันว่าทำไม Sky ถึงปั่นแกรนด์ทัวร์ได้ดีกว่าเพื่อนครับ

1) คริส ฟรูมและทีม Sky ควบคุมการแข่งได้ดีที่สุด

ในบรรดาผู้เข้าแข่งขันทุกคนเราจะเห็นว่าฟรูมเป็นคนเดียวที่บริหารการแข่งได้ดีที่สุดในทุกสถานการณ์ครับ ทีมคุมเกมได้ในทุกสถานการณ์ไม่เคยปล่อยให้ช่วงเวลาไหนเป็นวิกฤติเลย และมักจะเป็นทีมที่ขึ้นคุมเกม กำหนดสิ่งที่เปโลตองจะทำเสียด้วยซ้ำ ไม่ใช่การ “ตอบสนอง” (React) เหมือนที่ทีมอื่นๆ ทำกับ Sky ถ้าจะมีจุดวิกฤติจุดเดียวก็แค่ในสเตจที่จบบนยอด Peyregudes สเตจ 11 ที่ฟรูมเสียเสื้อเหลืองให้กับฟาบิโอ้ อารู (Astana) และเป็นวันเดียวที่เขาเสียเวลาจำนวนมากให้คู่แข่งในการแข่งขันนี้ แต่ก็ยังอยู่ในกรอบความคิดที่ว่าจะทวงเวลาคืนได้แน่นอนในสเตจ Time Trial สุดท้าย

ในสเตจภูเขา ฟรูมจัดการได้ดีทั้งการขึ้นเขาและการลงเขา ในสเตจที่จบบนยอดเขาทั้ง 3 สเตจ ฟรูมไต่เขาได้เทียบเท่า (แต่อาจจะไม่เหนือกว่า) คู่แข่ง GC ทุกคน และมีความพร้อมกว่าบางคน เมื่อเขาทำเวลานำฟาบิโอ้ อารูได้ในสเตจ 14 ซึ่งเป็นสเตจที่จบบนเนินเตี้ยๆ ที่แชมป์สเตจตกเป็นของไมเคิล แมธธิวส์แต่ฟรูมและทีม Sky ขึ้นนำกลุ่มและกระชากหนีห่างฟาบิโอ้ อารู, อัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์ และไนโร คินทานา ทั้งๆ ที่ไม่ใช่สเตจภูเขาสูงชันที่กลุ่ม GC จะทำเวลาชิงหนีกัน ยังไม่รวมสเตจ 16 ที่ Sky ขึ้นตั้งทำเกมฉีกกลุ่มระหว่างที่เปโลตอเจอกระแสลมข้างรุนแรง บังคับให้ทีมคู่แข่งต้องออกแรงเยอะเกินกว่าที่ควรจะเป็นในการไล่ปิดระยะห่าง บางคนที่ฟอร์มไม่ดีอย่างคินทานาก็เสียเวลาเพิ่มขึ้นอีกจนหมดหวังติดอันดับโพเดี้ยมหรือ Top 5

วันที่ควรจะเป็นวิกฤติ Sky ก็แก้วิกฤติได้โดยไม่เสียเวลา อย่างสเตจ 15 ระหว่างทางขึ้นเขาลูกสุดท้ายที่ล้อหน้าฟรูมซี่ขาด แล้วทีม AG2R ก็กำลังทำความเร็วบี้กลุ่มกันยกทีม ฟรูมที่หลุดกลุ่มมีเพื่อนร่วมทีมสละลงมาช่วยสามคนและได้มิเคล แลนด้ามาช่วยพากลับเข้ากลุ่มต่อจนสุดท้ายไม่เสียเวลาให้ใครในสเตจนั้น ถ้าเหตการณ์นี้เกิดขึ้นกับเอซทีมอื่นๆ คงยากที่จะกลับตามเข้ากลุ่มด้วยตัวเอง

 

2) ลูกทีม Sky เหนือกว่าทุกทีม

ที่บอกว่าปีหน้า UCI จะลดจำนวนนักปั่นในแกรนด์ทัวร์ให้เหลือทีมละ 8 คนจากทั้งหมด 9 คนเพื่อป้องกันไม่ให้ทีมใดทีมหนึ่งผูกขาดเกมจนเกินไป ผมว่าเราไม่ต้องรอดูปีหน้าก็ได้ เพราะจริงๆ Sky ก็ทำให้เห็นแล้วในตูร์ปีนี้ที่สามารถคุมเกมตลอดสัปดาห์ที่ 2 และ 3 ด้วยนักปั่นแค่ 8 คนเท่านั้น เมื่อผู้ช่วยที่แกร่งที่สุดของทีม เกอเรนท์ โทมัส ล้มและต้องถอนตัวตั้งแต่สเตจ 9 ครับ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า Sky เป็นทีมที่มีงบการทำทีมเยอะที่สุดในเปโลตอง นั่นหมายความว่าทีมสามารถจ้างนักปั่นที่แกร่งมากมาเป็นลูกทีมเพื่อช่วยหัวหน้าทีมได้ ซึ่งลูกทีมเหล่านั้นก็ฝีเท้าดีพอจะนำทีมอื่นๆ ได้ด้วยตัวเอง เช่นเกอเรนท์ โทมัสและมิเคล แลนด้า แม้กระทั่งนักปั่นอย่างมิฮาล เควียทคอฟสกี้ ที่เป็นอดีตแชมป์โลกและตัวเต็งสนามคลาสสิค ซึ่งถ้าอยู่ทีมอื่นอาจจะไม่ต้องทำงานหนักมาก รับหน้าที่คว้าแชมป์สเตจเป็นตัวฟรีให้ทีมในสเตจโรลลิ่งยังยอมทุ่มสุดชีวิต คุมเกมให้ Sky จนตัวเองปั่นต่อแทบไม่่ไหวในทุกๆ สเตจสำคัญ​

การที่ฟรูมมีผู้ช่วยเหลือเยอะที่สุดในช่วงสุดท้ายของสเตจยากๆ มีประโยชน์หลายประการ โดยเฉพาะการมีเพื่อนร่วมทีมที่อันดับเวลา GC อยู่หัวตารางด้วย มันทำให้คู่แข่งไม่สามารถโจมตีได้เลยจนกว่าลูกทีมจะหมดแรงครับ เพราะถ้าคู่แข่งหนีออกไปฟรูมก็ไม่ต้องไล่จับเอง ไม่ต้องเปลืองแรงให้ลูกทีมที่เวลารวมดีๆ อย่างแลนด้าขึ้นไล่ตามก็ได้ หรือถ้าจังหวะดีจะปล่อยให้ลูกทีมชิงหนีกลุ่ม บังคับให้คู่แข่งเปลืองแรงต้องไล่จับ แล้วฟรูมชิงหนีต่อเป็นหมัด 1-2 ก็เป็นสูตรคลาสสิคที่ได้ผลเสมอ

หรือถ้าคู่แข่งคิดจะโจมตีต่อเนื่อง Sky ใช้สูตรการปั่น tempo ทำความเร็วสูงระดับหนึ่งค่อยๆ รวบไล่จับคนที่หนีไปโดยไม่ต้องออกกระชากไล่ตามแบบหวือหวาเปลืองแรง เพราะโดยวิทยาศาสตร์แล้วการปั่นแบบ time trial ขึ้นเขานั้นเร็วกว่าการกระชากโจมตีเป็นระยะๆ เสมอ Sky เข้าใจถึงจุดนี้และใช้เงินสร้าง “หัวลากบนสเตจภูเขา” เพื่อไล่ความเร็วทอนแรงคู่แข่งและโชว์ให้เห็นว่าถึงจะคิดหนีฟรูมไปยังไงก็ไม่รอด เหมือนที่แดน มาร์ติน โดนจับครั้งแล้วครั้งเล่าในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปีนี้ครับ (และเสียเวลาเพิ่มด้วย) ในสเตจ 18 ที่จบบน Col d’Izoard

ถึงฟรูมจะไม่ได้ดูแกร่งเหมือนในทุกๆ ปีที่เขาเคยได้แชมป์แต่ด้วยประสบการณ์สะสมในการเป็นแชมป์ Tour de France ถึงสี่ครั้ง ทีม Sky มีประสบการณ์ของผู้ชนะที่ทีมอื่นๆ ยังไม่มี เป็นหัวใจสำคัญให้ทีมรู้วิธีการรับมือในทุกสถานการณ์นั่นเอง

 

3) ฟรูมรู้ว่าต้องปั่นยังไงให้รอดจนจบ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า Tour de France ปีนี้เป็นปีที่ตัวเต็งบาดเจ็บเยอะที่สุด ไม่ว่าจะเป็นรีชีย์ พอร์ท (BMC), อเลฮานโดร วาวเวอเด้ (Movistar), เกอเรนท์ โทมัส (Sky), ยอน อิซาเกอร์เร (Bahrain-Merida), และยาค็อบ ฟูลก์แซง (Astan) ที่บาดเจ็บถอนตัวระหว่างการแข่งขัน

แต่เราจะเห็นว่าตัวเต็ง GC ที่ชนะบ่อยๆ มักจะโชคดีครับ เป็นอีกเรื่องที่ประสบการณ์สอน เราจะเห็นว่าฟรูมอยู่หน้ากลุ่มตลอดในทุกๆ ครั้งที่จะมีดราม่าหรือเหตุที่ทำให้กลุ่มต้องขาดตอน จนคู่แข่งบางคนเสียเวลาแบบไม่ควรจะเสีย (เห็นได้หลายครั้งในคินทานา คอนทาดอร์ และมาร์ติน) หลายครั้งที่ฟรูมติด Top 10 สเตจที่เป็นทางราบหรือทางโรลลิ่ง นั่นหมายความว่าเขาอยู่กลุ่มหน้าสุดของการแข่งขันตลอดเวลาซึ่งเป็นที่ๆ ปลอดภัยที่สุด

ในช่วงที่เป็นทางลงเขา ฟรูมและ Sky พยายามจัดตำแหน่งให้ตัวเองได้อยู่หน้าสุดของกลุ่ม เช่นในสเตจ 9 บนทางลง Mont du Chat ที่ทำให้พอร์ทต้องออกจากการแข่งขันและมาร์ตินล้มลงไปด้วย

 

4) Sky ชนะได้ทั้งเกมรุกและเกมรับ

เทียบชัยชนะของทีม Sky ในปี 2016 กับปีนี้จะเห็นว่าฟรูมและทีมแข่งในสไตล์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ปีก่อนๆ ฟรูมจะเน้นการโจมตีคู่แข่งที่สเตจภูเขาแรกของการแข่งขันเพื่อคว้าเสื้อเหลืองและป้องกันจนถึงวันสุดท้าย ระหว่างนั้นก็ยังโจมตีเพิ่มเติมด้วย อย่างปีที่แล้วก็มีการโจมตีในจังหวะลงเขา ทุกปีที่ฟรูมได้แชมป์รายการเขาจะได้แชมป์สเตจอย่างน้อย 1-2 สเตจด้วย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเล่นเกมรุกครับ

ปีนี้ต่างออกไป Sky กลับใช้แผนอุดตั้งแต่ต้นจนจบเลือกใช้พลังงานให้น้อยที่สุดในทุกสเตจ และใช้แค่สองสเตจ Time Trial ต้นกับท้ายรายการในการทำเวลานำคู่แข่งเท่านั้น ว่ากันตามตรงแล้วมีแค่ครั้งเดียวที่ฟรูมโจมตีคู่แข่งแบบเด็ดขาดนั่นคือในสเตจ 18 ก่อนถึงเส้นชัยบน Col d’Izoard (แต่อูรานกับบาเดต์ตามได้ทัน)

แผนเกมอุดมีช่องโหว่ นั่นคือถ้า Sky โดนรุมโจมตีต่อเนื่องยังไงแล้วลูกทีมก็คุมเกมไม่ได้ตลอดเวลา แต่กลายเป็นว่าทีมอื่นก็เลือกจะเล่นเกม defense เหมือน Sky ครับซึ่งก็เข้าทางฟรูมเลย เราจะเห็นว่าคู่แข่งของ Sky ไม่ค่อยสมัครสมานโจมตีกันเท่าไร บางครั้งบาเดต์ หรือมาร์ตินอาจจะออกโจมตีบ้าง แต่ก็เป็นการโจมตีแค่ครั้งสองครั้ง และจังหวะไม่ต่อเนื่องกัน (มันเข้าทาง Sky ตรงที่ทีมอื่นๆ เขาก็ไม่ได้มีเป้าหมายเดียวกันและถึงจะโจมตี Sky แล้วก็ต้องระวังทีมอื่นโจมตีตัวเองด้วย) ทำให้ Sky อุดช่องโหว่ตรงนี้ได้ไม่ยาก ส่วนอันดับสองของรายการ ริกโอเบอร์โต้ อูราน (Cannondale) นั้นไม่โจมตีใครเลยด้วยซ้ำ

ตรงนี้ก็ต้องบอกว่าเข้าใจได้ครับ เพราะนักปั่นหลายคนเมื่อเห็นแล้วว่าการจะทำเวลาทิ้งห่างฟรูมไม่ใช่เรื่องง่ายแล้วยังมีสเตจ TT ที่การันตีว่าไม่มีทางปั่นได้เร็วกว่าฟรูมอีก การป้องกันตำแหน่งโพเดี้ยมหรือ Top 5 ของตัวเองก็เป็นเรื่องสำคัญกว่าจะทุ่มหมดหน้าตักแล้วกลับบ้านมือเปล่า จะบอกว่าเป็นการยอมรับความจริงก็ได้ แต่สุดท้ายมันก็เข้าทางทีม Sky เต็มๆ อย่างอูราน เรารู้ว่าทีมเขาแฮปปี้มากที่ได้อันดับสอง เพราะทีมที่ไม่มีซัพพอร์ทอะไรให้เอซเลยและมีงบน้อย แถมยังเป็นทีมม้ามืดไม่ใช่ตัวเต็งนั้น การได้โพเดี้ยมในตูร์มีความหมายมาก และมันเป็นการใช้เรียกสปอนเซอร์ได้ดีอีกด้วย มีนักปั่นคนเดียวที่ทุ่มหมดหน้าตัก (และแผนพัง) นั่นก็คือแดน มาร์ติน ที่สุดท้ายหลุดโพเดี้ยม (แต่ได้ใจคนดู)

ส่วนตัวผมคิดว่าปีนี้ฟรูมอาจจะพอรู้ว่าตัวเองฟอร์มไม่จี๊ดจ๊าดเท่าปีก่อนๆ และพยายามปรับแทคติคให้เข้ากับเส้นทางปีนี้ครับที่เขาสามารถทำเวลานำห่างได้ทั้งช่วงต้นและท้ายรายการ และสเตจทางราบอื่นๆ ถึงเขาจะใส่เสื้อเหลืองแต่ทีมสปรินเตอร์ก็พร้อมจะคุมเกมแทน Sky อยู่แล้ว ทำให้ Sky เซฟแรงไว้ใช้ในสเตจภูเขาได้ 100%

 

5) คู่แข่งน้อยก็มีผล

Tour ปีนี้อาจจะเป็นปีที่เราตั้งคำถาม What if เยอะที่สุดครับ ถ้าคาเวนดิชไม่เจ็บ ถ้าซากานไม่โดนไล่ออก ถ้าพอร์ทไม่ล้ม ถ้าฟูลก์แซงยังอยู่ ถ้าวาวเวอเด้ไม่ได้ถอนตัว….แต่การจะบอกว่าคู่แข่งบางคนไม่อยู่ทำให้ตัวเต็งบางคนได้แชมป์ง่ายขึ้นนั้นดูจะเป็นการดูถูกความสามารถของคนที่ยังอยู่ในการแข่งขันไปหน่อย

การเป็นนักแข่งแกรนด์ทัวร์ที่ดีนั้น หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งคือการเอาตัวรอดแข่งให้จบตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้ายครับ มันคือ Survivor game เพราะงั้นถ้าคุณล้มหรือเจ็บจนต้องออกจากการแข่งขันไป จะด้วยปัจจัยอะไรก็ตาม มันไม่ได้ทำให้ชัยชนะของอีกคนด้อยลงแต่อย่างใด แมธธิวส์เป็นคนที่สมควรจะได้เสื้อผู้นำคะแนนรวมที่สุดเพราะเขาไล่ออกเก็บแต้มอย่างแข็งขันในทุกสเตจที่เขาจะทำได้ ไม่ใช่ต้องมีการใส่หมายเหตุไว้ว่า “แมธธิวส์ได้เสื้อเขียวเพราะซากานไม่อยู่” หรือที่นิบาลีได้แชมป์ตูร์ 2014 เพราะ “ฟรูมและคอนทาดอร์บาดเจ็บถอนตัว” ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในการแข่งขันต่อให้เก่งแค่ไหนก็ชนะไม่ได้

เช่นเดียวกับแชมป์ของฟรูมปีนี้ที่คู่แข่งฟอร์มดีจริงๆ อย่างริชีย์ พอร์ท (BMC) ต้องออกจากการแข่งขันตั้งแต่สเตจ 9 และเราคงไม่รู้ว่า Movistar จะทำเกมได้ดีขนาดไหนถ้าวาวเวอเด้ไม่บาดเจ็บออกไปตั้งแต่สเตจ 1 การขาดซึ่งนักปั่นฟอร์มแกร่งอย่างพอร์ท วาวเวอเด้ และฟูลก์แซงนั้นทำให้พลวัตรเกมเปลี่ยนไปทั้งหมด ยังไม่รวมนักปั่นเก่งๆ ที่ไม่ได้ลงแข่งอย่างนิบาลี (Bahrain) และดูโมลาน (Sunweb) เราเลยไม่ได้เห็นว่าพอร์ทที่ฟอร์มดีที่สุดจะเดินเกมอย่างไร การโจมตีต่อเนื่องของพอร์ท วาวเวอเด้ คินทานา และบาเดต์ น่าจะยากเกินที่ Sky จะรับมือด้วยเกมอุดอย่างเดียว เราอาจจะได้เห็นแลนด้าและโทมัส (ถ้ายังอยู่) ตอบรับและเป็นเกมที่สนุกขึ้นครับ

ทั้งหมดนี้ก็คงเป็นได้แค่คำถามที่อยู่ในหัว เพราะความเป็นจริงมันไม่ได้เกิดขึ้นและ Sky เป็นทีมเดียวที่อยู่รอดและโชคเข้าข้างที่สุดในปีนี้

 

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *