5 เรื่องที่คุณไม่เคยรู้เกี่ยวกับ Paris-Roubaix

ว่ากันตามตรงเรื่องราวของสนาม Paris-Roubaix น่าจะเป็นสนามแข่งที่ DT เขียนถึงเยอะที่สุดแล้วก็ว่าได้ครับ ลองอ่านได้ในโพสต์นี้ และโพสต์นี้ และพรีวิว/วิเคราะห์การแข่งอีกหลายครั้ง แต่จะพูดอีกกี่ครั้งก็มีมุมใหม่ มิติใหม่ให้เล่าได้ทุกที ก็แหงหละ รายการนี้แข่งกันมาแล้ว 113 ปีเต็ม! และจะพูดถึงกี่ครั้งก็มีเรื่องน่าสนใจให้เราหยิบมาเล่าได้เสมอ

roubaix

1. Paris-Roubaix จัดแข่งครั้งแรกเมื่อไร? 

สนาม Paris-Roubaix จัดแข่งครั้งแรกในปี 1896 จะบอกว่ามันเป็นหนึ่งในสนามแข่งที่ยืนยาวที่สุดในโลกก็ไม่ผิด (เก่าที่สุดคือ Liege-Bastonge-Liege) ถามว่าใครเป็นคนจัดแข่ง และจัดเพื่ออะไร? ไม่ยากเลยครับ เป็นเรื่องเงินทองและธุรกิจล้วนๆ

2. แล้วใครเป็นคนจัด?

ย้อนกลับไปอีกหนึ่งปี 1895 มีนักธุรกิจหน้าใหม่สองคนจากเมืองรูเบ เพิ่งจะสร้างเวโลโดรมเสร็จ และใช้เป็นสนามแข่งจักรยานลู่จนโด่งดังมาสักพักแล้ว แต่ทั้งคู่คิดว่าแค่แข่งจักรยานลู่วนไปวนมาในสนามคงไม่ครึกครื้นและโด่งดังเท่าไร เขาอยากให้สนามกีฬาดังกว่านี้ ทั้งคู่ก็เลยไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งในตอนนั้นคือ นสพ. Le Velo ในกรุงปารีส เพื่อขอให้มาเป็นผู้ช่วยจัดการแข่งขันสนุกๆ ที่เริ่มจากกรุงปารีส เหมืองคุณหนู มาจบในเวโลโดรมกลางเมืองรูเบ ที่อยู่ของกรรมกรเหมืองแร่ชาวไร่ชาวนา เป็นอิมเมจที่คอนทราสต์ขัดแย้งสมใจคู่หูเขาล่ะ

โปรเจ็คนี้เข้าหูผู้อำนวยการ นสพ. ชื่อนายพอล รูซโซ ก็เริ่มดำเนินการจัดการแข่งขัน แต่ก็มีอุปสรรคกมากมาย เพราะกำหนดการสนามแรกตั้งไว้เป็นวัน Easter Sunday ซึ่งปกติผู้คนต้องไปโบสถ์ ก็เลยต้องเลื่อนวันจัดกันนิดหน่อย

alfredachermannroubaix

3. ใครคือผู้ชนะคนแรก?

ผู้ชนะคนแรกของรายการนี้คือชาวเยอรมันนามว่าโยเซฟ ฟิซเชอร์ (Josef Fischer) เอาชนะเมาริซ​ การิน (แชมป์ Tour de France คนแรก) ที่น่าสนใจคือแชมป์ Roubaix คนล่าสุดก็เป็นชาวเยอรมันเช่นกัน – จอห์น เดเกนโคลบ์ ที่ไม่ได้มาลงแข่งในปีนี้ Paris-Roubaix ตั้งแต่ครั้งแรกถึงปี 1919 จะจบที่ Roubaix Velodrome ทุกครั้ง แต่หลังจากนั้นผู้จัดก็เปลี่ยนเส้นชัยไปสถานที่ต่างๆ รอบเมือง แต่สุดท้ายก็กลับมาให้เวโลโดรมเป็นเส้นชัย เพราะทำให้การแข่งสนุกตื่นเต้นและเป็นเอกลักษณ์กว่า ตั้งแต่ปี 1943 มาจนถึงปัจจุบัน

4. ทำไม Paris-Roubaix ถึงมีชื่อเล่นว่า “นรกทางตอนเหนือ”?

อีกเรื่องที่คนไม่รู้คือ ฉายา Hell of The North หรือนรกทางตอนเหนือนั้น จริงๆ แล้วไม่ได้มาจากสภาพถนนผุๆ พังๆ และหน้าตาอิดโรยของผู้เข้าแข่งขัน แต่มาจากที่ Roubaix เป็นเมืองที่ต้องเจอภัยสงครามโลกทั้งสองครั้ง จนเมืองมีแต่ซากปรักหักพัง หลุมระเบิด และซากรถถัง ซึ่งร่องรอยประวัติศาสตร์เหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่ ทำให้ผู้สื่อข่าวที่รายงานการแข่งขันในช่วงยุคสงครามโลกต้องตั้งชื่อให้ใหม่ว่าสนามแข่งนี้่มันช่างเหมือน “นรก” จริงๆ เพราะมันมีแต่ความทรงจำอันโหดร้ายและผู้คนล้มตายจำนวนมาก

arenberg_forest

5. ใครช่วยซ่อมบำรุงถนนหิน?

เราอาจจะรู้จักสนาม Roubaix เพราะความโหดของสภาพถนนที่มีช่วงถนนหินร่วม 50 กิโลเมตร กับระยะทางรวม 250 กิโลเมตร แต่สมัยก่อนที่ยังไม่มีถนนลาดยาง เส้นทางเกือบทั้งหมดของ Roubaix เป็นทางวิบากยิ่งกว่าสมัยนี้เสียอีก ผู้จัดสมัยนี้ต้องพยายาม “ตามหา” ช่วงถนนหินที่จะเอามาแทรกในสนามแข่ง เพราะเราปูถนนลาดยางกันหมดแล้ว

เมื่อฝรั่งเศสกลับมายืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเองหลังยุคสงคราม และด้วยที่สนามนี้ตราตรึงอยู่ในใจแฟนๆ จักรยานทั่วยุโรป ทำให้มีกลุ่มคนร่วมพันคนฟอร์มตัวกันสร้างองค์กร Les Amis de Paris-Roubaix ซึ่งมีหน้าที่ช่วยกันเฟ้นหาและซ่อมบำรุงถนนหินเพื่อใช้ในการแข่งขันสนามนี้โดยเฉพาะ เพราะเขาเชื่อว่ามันเป็นอัตลักษณ์อันโดดเด่นที่พวกเขาไม่อยากให้มันชำรุดจนไม่สามารถนำมาใช้ในการแข่งขันได้อีก!

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *