บทเรียนจากโปร: 8 คำถามสำคัญกับ 3 นักปั่นจากทีม Movistar

บทความนี้เป็นตอนต่อจากครั้งที่แล้วที่เราได้พูดคุยกับนักปั่น 3 คนจากทีม Movistar ในโอกาสที่เขามาปั่นงาน Garmin x Movistar Exclusive Fan Meet เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บทสัมภาษณ์ตอนนี้จะเป็นคำถามที่เหลือทั้งหมดครับ มีคำถามจากทั้งทางคนฟังและคำถามบนเวทีผสมกันนะครับ

นักปั่นที่เราคุยด้วย (จากซ้ายไปขวา) มีคุณแดเนียล เบนนาต (สปรินเตอร์), เยอร์เกนท์ โรแลนท์ (ผู้เชี่ยวชาญสนามคลาสสิค), หลุยส์ แมส (นักไต่เขาของทีม), และมีคุณเจบี โมลิเนโร ผู้จัดการทีมฝ่ายการตลาดด้วย

 

1. เราควรดู Heart Rate หรือพาวเวอร์มากกว่ากัน?

ทั้งสามคนช่วยกันตอบ: “Heart Rate หรืออัตราการเต้นหัวใจเราใช้ดูการตอบสนองของร่างกายต่อแรงที่เรากำลังออกได้ดีก็จริง แต่มันเป็นค่าที่บางครั้งก็เชื่อถือไม่ได้แม่นยำนัก เช่นถ้าสมมติคืนก่อนหน้าคุณนอนน้อย วันรุ่งขึ้นถ้าคุณตื่นมาปั่น หัวใจก็อาจจะเต้นสูงกว่าปกติ แต่ไม่ได้แปลว่าคุณออกแรงมากขึ้นนะ”

“ส่วนพาวเวอร์มันบอกค่าวัตต์ หรือแรงที่คุณออก ณ ตอนนั้น เดี๋ยวนั้น มันไม่ใช่การตอบสนองของร่างกายเหมือนค่า heart rate ถ้าคุณปั่นได้ 100 วัตต์ มันก็คือ 100 วัตต์ มันไม่ได้แคร์ว่าคุณจะป่วย หรืออดนอน ค่ามันไม่สวิง”

“แต่ก็ไม่ใช่ว่าคุณควรดูแค่พาวเวอร์อย่างเดียว เพราะพาวเวอร์มันก็ไม่ได้บอกสภาพร่างกายตอนนี้ของคุณเหมือนกัน ซึ่งตรงนี้ heart rate จะบอกได้ คุณต้องดูทั้งสองข้อมูลคู่กันเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ข้อมูลจากทั้งสองส่วนมันจะช่วยให้คุณเห็นประสิทธิภาพของตัวเองได้ชัดเจนที่สุด เช่นถ้าหัวใจคุณเต้นต่ำ แต่คุณออกแรงได้เยอะ (ดูจากค่าวัตต์) มันก็เป็นสัญญาณว่าร่างกายคุณแข็งแรงขึ้นแล้ว คุณจะมองไม่เห็นภาพแบบนี้เลยถ้าคุณพึ่งแค่ค่าเดียว”

เยอร์เกนท์: “ผมเองปิดค่าพาวเวอร์เลยตอนแข่ง เพราะมันไม่จำเป็นสำหรับนักปั่นแบบผมที่โฟกัสในสนามคลาสสิค อย่างที่คุณรู้ สนามคลาสสิคแบบแข่งวันเดียวจบ เส้นทางมันจะมีเนินสั้นๆ ชันๆ เยอะ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาปีนไม่ถึงห้านาที และหลายๆ ครั้งเราต้องไล่ตามล้อคันข้างหน้า จะปล่อยให้หลุดไม่ได้ เพราะงั้นพาวเวอร์มันจะสวิงมาก เดี๋ยวพุ่งเยอะ เดี๋ยวต่ำ และเกมมันไว มันไม่มีประโยชน์เลยที่จะขี่ตามค่าวัตต์ เพราะถ้ามัวก้มดูวัตต์ แล้วคันหน้าหลุดไป คุณก็แพ้ ไม่ว่าวัตต์จะมากแค่ไหน ถ้าคุณไม่อยากแพ้คุณก็ต้องตามเขาให้ได้”​

“แต่พวกนักปั่นแกรนด์ทัวร์หรือตัวเต็งของทีม ที่ต้องปีนเขายาวๆ 20-30 นาที พวกนี้จะได้ประโยชน์จากการดูวัตต์ เพราะเขาสามารถขี่ที่ค่า threshold ไปเรื่อยๆ ได้ (จุดที่เร็วและหนักพอที่จะยังไม่ร่วงหมดแรง) ค่าวัตต์ตรงนี้จะทำให้เขาใช้ศักยภาพได้เต็มที่พอดี และรู้ว่าตรงไหนควรผ่อน ตรงไหนยังหนักไม่พอ เพราะค่าวัตต์มันนิ่ง มันปีนเขาไปเรื่อยๆ”

“พวกกลุ่มนักปั่น TT ก็ได้ประโยชน์จากการดูวัตต์เหมือนกัน เพราะมันเป็นการปั่นให้เร็วที่สุดที่เราสามารถทำได้ในระยะทางที่กำหนด การคำนวนแรงและความเร็วด้วยวัตต์ที่เราออกก็ช่วยให้เราทำ pacing strategy ได้สมบูรณ์แบบ”

 

2. VO2 Max สำคัญขนาดไหน?

หลุยส์ แมส: “VO2 Max ของผมตอนนี้คือ 83 (คนดูฮือฮา) แต่เอาจริงๆ แล้วมันไม่ได้สำคัญขนาดนั้นหรอกครับ มันเป็นค่าที่ดูหวือหวา แต่เวลาซ้อมกันจริงๆ พวกเราสนใจแค่อัตราการเต้นหัวใจ (heart rate) และพาวเวอร์ เราเช็คสองค่านี้กันตลอด ทั้งช่วงค่ายซ้อมก่อนเริ่มฤดูกาล พอเปิดฤดูกาลไปแล้วเราก็รีเช็คอีก เพื่อดูสภาพร่างกายและความฟิตของเรา บางคน VO2 Max มากๆ ก็เข้าทีมโปรไม่ผ่านก็มีเยอะ”

 

3. นักปั่นอาชีพแคร์เรื่องน้ำหนักตัวขนาดไหนครับ ผมเห็นนักปั่นคนไทยจำนวนมากต้องการจะลดน้ำหนักให้ได้มากที่สุดแบบ ผอมไปเลย แต่ผมเห็นพวกคุณทั้งสามคนจริงๆ ก็ตัวใหญ่กันพอสมควร ไม่ได้แบบผอมเพรียวบางขนาดนั้น?

ทั้งสามคนช่วยกันตอบ: “ทั้งสนใจและไม่สนใจครับ มันขึ้นอยู่กับหน้าที่ของแต่ละคนในทีม ผมยกตัวอย่างเยอร์เกนท์ (นักปั่นสายคลาสสิค) ต่อให้เขาหนัก 74 หรือ 78 กิโลกรัม เขาก็ไม่มีทางตามนักไต่เขาแบบพวกแชมป์รายการได้อยู่ดี เพราะงั้นต่อให้จะลดน้ำหนักไปมากๆ ก็ไม่มีประโยชน์ มันไม่ใช่ความถนัดของเขา สู้หนักขึ้นสักหน่อยแล้วมีแรงมาช่วยลากหรือบังลมให้ทีมจะมีประโยชน์กว่า โดยเฉพาะในช่วงสเตจทางราบที่เขาถนัด ซึ่งต้องใช้แรง ถ้าผอมแห้งคุณก็ไม่มีแรงมาสู้ลมหรอก”

“คุณต้องหาสมดุลให้เจอระหว่างน้ำหนักตัว พลังที่คุณออกได้ และเป้าหมายการปั่นของคุณ เบาที่สุดไม่ได้แปลว่าดีที่สุด หรือควรเอาเป็นแบบอย่าง”

 

4. มืออาชีพนี่ซ้อมกันเยอะขนาดไหนครับ?

หลุยส์: “เยอะเกินไป!” ปกติแล้วผมซ้อมสัปดาห์ละ 3-4 วันครับ ออกปั่นครั้งนึงก็ 4-5 ชั่วโมง วันอื่นๆ ก็คือวันพัก (เห็นไหมว่าผมไม่ได้ซ้อมหนักทุกวัน!) รวมๆ แล้วเวลาปั่นก็ราวๆ 25-30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์”

 

5. ต้องมี FTP เท่าไรถึงจะเป็นโปรได้?

ทั้งสามคนช่วยกันตอบ: (ใช้เวลาคิดนาน) “มันขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวนะ อย่างน้อยๆ ต้อง 5 วัตต์ต่อกิโลกรัม เช่นถ้าคุณหนัก 70 กิโลกรัม คุณควรจะมี FTP อย่างน้อย 350 วัตต์ และนี่คือขั้นต่ำนะ”​

 

6. ทีม Movistar เลือกสปอนเซอร์หรือพาร์ทเนอร์ทีมยังไงครับ?

เจบี: “อันดับแรกคือสปอนเซอร์ที่จะเข้ามาทำงานกับทีมเราต้องช่วยให้เรามีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์จักรยาน ชุดปั่น หรือด้านโภชนาการ มันต้องทำให้เราเร็วขึ้นและได้เปรียบคู่แข่ง ต่อให้จะให้เงินมากขนาดไหน แต่ถ้าสิ่งที่เขาเสนอมันไม่ทำให้ทีมเราได้เปรียบเราก็ไม่เลือก”

“และอย่างที่สอง สปอนเซอร์เราต้องมีแพสชันกับกีฬาจักรยานครับ เราไม่เลือกสปอนเซอร์ที่แค่อยากจะโปรโมทแบรนด์ตัวเองแค่ชั่วครั้งชั่วคราว พาร์ทเนอร์หลายๆ คนของเราทำงานด้วยกันมา 25 ปีแล้ว บริษัทของพวกเขาแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเราไปแล้ว มันทำให้เกิดความไว้ใจกันนะ”

สิ่งที่น่าสนใจจากที่เจบีพูดคือ ในวงการจักรยานอาชีพเราจะเห็นว่ามีทีมจำนวนมากที่หาสปอนเซอร์ไม่ได้และต้องยุบทีมอยู่เรื่อยๆ แต่ Movistar เองปีนี้เป็นปีที่ทีมมีอายุครบ 40 ปี และเป็นหนึ่งในไม่กี่ทีมในเปโลตองที่ไม่เคยมีปัญหาเรื่องสปอนเซอร์และเงินทุนในการทำทีมเลย อย่าง Campagnolo ก็เป็นสปอนเซอร์ทีมมาตั้งแต่ปีแรกที่ก่อตั้งทีม

นั่นคือสปอนเซอร์ทีมนี้มา 40 ปีเต็ม (!!) และการที่ทีมเลือกสปอนเซอร์เฉพาะคนที่หลงไหลกีฬานี้ก็น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทีมมีสปอนเซอร์ที่เหนียวแน่นและซื่อสัตย์กับทีมมาตลอดด้วย

 

7. ที่ผ่านมาคุณมีนักปั่นเก่งๆ หลายๆ คนในทีม ทั้งไนโร คินทานา, อเลฮานโดร วาวเวอเด้, และมิเคล แลนด้า เราอยากรู้ว่าคุณบริหารความทะเยอทะยานและความต้องการของกัปตันทีมเหล่านี้ยังไง เพราะเรามักจะเห็นข่าวทีมไม่สามัคคีกันบ่อยๆ?

เจบี: “กลยุทธ์ของทีมเราเชื่อมั่นเสมอว่ามันดีกว่าที่จะมีนักปั่นเก่งๆ หลายคน เหมือนเรามีไพ่หลายใบ นักข่าวก็เขียนไปเรื่อยนั่นหละครับ เพราะมันคืองานของเขาที่ต้องสร้างเรื่อง แต่ในทีมของเราแล้วผมพูดได้เลยว่าเราไม่เคยขัดแย้งกันเรื่องนี้”

“เป้าหมายของนักปั่นทุกคนตรงกันตลอดเวลานั่นคือเรามีหน้าที่คว้าแชมป์รายการ แต่มันไม่สำคัญว่าใครจะเป็นผู้ชนะ การที่เรามีกัปตันทีมหลายคนก็ทำให้ทีมอื่นสับสน เพราะไม่รู้ว่าต้องระวังคนไหนเป็นพิเศษ มันเป็นแผนที่เราใช้มาตลอด”​

 

8. ถ้าคุณแนะนำนักปั่นสมัครเล่นได้หนึ่งอย่าง อยากจะแนะนำอะไรครับ?

หลุยส์: “ซ้อม! และซ้อมให้ถูกต้อง คุณต้องรู้เป้าหมายการปั่นของตัวเองนะ ถ้าคุณอยากแข่งหรือไปร่วมลงรายการที่มันยาวๆ ระยะทางไกล ก็ต้องหัดซ้อมปั่นไกลๆ ให้ชิน ความผิดพลาดของนักปั่นสมัครเล่นที่ผมเจอบ่อยที่สุดคือพวกเขาปั่นกันหนักหน่วงตลอดเวลา! คุณต้องเข้าใจว่าความแข็งแรงมันไม่ได้มาจากการปั่นหนักอย่างเดียว ร่างกายของคุณต้องมีเวลาได้พักฟื้นตัวด้วย”

เยอร์เกนท์: “สำหรับผมการปั่นจักรยานมันเป็นเสมือนวิถีชีวิตนะ นอน ตืน กิน ปั่น พัก วนไปเป็นลูปแบบนี้ ถ้าคุณทำทุกส่วนให้มันถูกต้องและเหมาะสมได้ คุณก็จะเป็นนักปั่นที่ดี มันไม่ใช่แค่ปั่นเยอะ หรือได้ปั่นหนักอย่างเดียว ต้องดูและทุกๆ ส่วนให้เสมอกัน”​

แดนเนียล: “มีความสุขกับการปั่นครับ ถ้าคุณมีความสุขกับสิ่งที่ทำ คุณก็จะทำมันได้ดีแน่นอน”

เจบี: “ถ้าคุณมีแพสชันกับสิ่งที่ทำ คุณจะสามารถทำอะไรที่คุณไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้มาก่อน”

คำถามทั้งหมดที่เราได้คุยกับสมาชิกทีม Movistar ก็มีเท่านี้ หวังว่าะจะได้ประโยชน์จากคำตอบของโปรนะครับ ~

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!