หลังจากวันก่อนที่เราได้ดูรายละเอียดและดีไซน์คร่าว ๆ ของ Lapierre Aircode DRS ไปแล้ว วันนี้เราจะมาเจาะรายละเอียดการออกแบบและที่มาที่ไปของจักรยานคันใหม่ล่าสุดจากค่าย Lapierre ซึ่งเพิ่งคว้าแชมป์สเตจ 4 จิโรดิตาเลียไปเพียงไม่กี่มิลลิเมตรนี้กันครับ
ในยุคที่รูปทรงจักรยานเริ่มใกล้กันขึ้นเรื่อย ๆ และความได้เปรียบทางอากาศพลศาสตร์เริ่มหายากขึ้น แบรนด์ต่าง ๆ ยิ่งต้องเพิ่มงบประมาณการวิจัยและพัฒนาเพื่อรีดศักยภาพการแหวกอากาศของเฟรมจักรยานทรงเพชร สิบปีก่อนแค่ออกแบบให้ “ดู” แอโร่ก็เพียงพอแล้ว ห้าปีก่อนใช้ซอฟต์แวร์จำลองการไหลของอากาศเพียงอย่างเดียวก็รับได้ ในขณะที่ปัจจุบัน เจ้าไหนไม่เข้าอุโมงค์ลมจริง ๆ เริ่มจะตามคนอื่นไม่ทันแล้ว ผลประโยชน์ทั้งหมดก็ตกกับผู้บริโภคนี่ล่ะครับ
สำหรับการออกแบบ Aircode รุ่นที่สามนี้ แบรนด์จากเมืองดิฌองไปร่วมมือกับ เบิร์ท บล็อคเค่น อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีไอนด์โฮเว่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งหากติดตามวงการจักรยานมาสักระยะ อาจจะเคยเห็นชื่ออาจารย์ท่านนี้ผ่านตามาก่อน เพราะเขานี่เองที่ทดลองเอาท่านั่งปั่นบนท่อนอน ที่ฟรูมใช้หนีกลุ่มตอนลงจากเขาลาพลองช์เดเบลฟีส์ มาพิสูจน์ในอุโมงค์ลมดูว่ามันแอโร่จริงไหม ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าบริษัทได้ที่ปรึกษาซึ่งเป็นนักอากาศพลศาสตร์ตัวจริงและคร่ำหวอดวงการจักรยานแข่งขันแน่นอน
จากการออกแบบเบื้องต้นด้วยซอฟต์แวร์ CFD (computational fluid dynamics) พบว่าเมื่อย้ายส่วนที่ป้านที่สุดจากด้านท้ายท่อล่าง (เดิม, สีส้ม) มาไว้ส่วนกลาง (ใหม่, สีฟ้า) ทำให้คงความสติฟของตัวถังไว้ได้ แต่แหวกอากาศได้ดีขึ้น นอกจากนี้ส่วนบนของตะเกียบหน้ากับส่วนบนของท่อล่างก็ถูกออกแบบมาให้เสมือนเป็นชิ้นเดียวกัน ให้อากาศไหลผ่านจากตะเกียบไปท่อนั่งได้โดยไม่รบกวนการไหลของอากาศ พอคิดรวมทั้งระบบแล้ว คันใหม่ลู่ลมกว่าเดิม 13% ที่ลมปะทะตรง และ 5% ที่ลมปะทะ 10 องศา (ความเร็ว 50 กม./ชม.)
นอกจากจะปรับแต่งรูปทรงของเฟรมให้ลู่ลมแล้ว Aircode DRS ยังปรับท่านั่งของผู้ปั่นให้คล้ายรถไตรขึ้นเล็กน้อย เพราะแรงต้านอากาศส่วนใหญ่มาจากร่างกายของผู้ปั่นมากกว่า ด้วยท่อนั่งที่ชันขึ้น จึงมีผลทำให้ขยับอานมาหน้ามากขึ้น และระยะเอื้อมที่มากกว่าเดิมนิดหน่อย ประมาณ 7–8 มม. ในแต่ละไซส์ นอกจากนี้คอมพลีตไบค์ยังให้แฮนด์ที่แคบกว่ารุ่นก่อนมาอีกด้วย ทั้งหมดนี้รวมกันย่อมช่วยเรื่องการส่งแรง เพราะตำแหน่งนั่งขยับมาเหนือกะโหลกกว่าเดิม และเรื่องการแหวกลมเพราะไหล่ที่หุบเข้าในกว่าเดิมและท่านั่งที่ยืดไปด้านหน้ากว่าเดิม
จุดยึดของตะเกียบนั่งไม่สัมผัสกับท่อนั่ง แต่อ้อมไปสัมผัสกับท่อบน ทำให้ท่อนั่งให้ตัวได้มากกว่าเดิมเล็กน้อย ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ยกมาจาก Xelius SL ทำให้รถคันนี้นอกจากลู่ลมกว่าเดิมแล้วยังนุ่มนวลกว่าเดิมอีกด้วย
นอกจากนี้ หากใช้เกียร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ Di2/EPS จะอยู่ตรงกะโหลกและไม่ได้อยู่ในหลักอาน ทั้งนี้เพื่อให้จุดศูนย์ถ่วง (CG) ของรถอยู่ต่ำที่สุดเท่าที่จะพอปรับจูนได้ เพื่อให้ความรู้สึกช่วงล่างแน่นที่ความเร็วสูง ๆ เช่นเวลาลงเขาและเวลาสาดโค้ง เป็นต้น
สเต็มที่มากับคอมพลีตไบค์เป็นแบบกึ่งอินทีเกรต ไม่ล็อคค่ายว่าต้องใช้แฮนด์เฉพาะของแบรนด์เท่านั้น จุดยึดกลม 31.8 มม.ที่หาได้ทั่วไป แต่ไม่ว่าจะใช้แฮนด์อะไรก็สามารถเดินสายภายในสเต็มหรือใต้สเต็มได้ทั้งหมด จากนั้นก็ลงไปในท่อคอทั้งสองกรณี จึงสามารถเดินสายภายในได้ไม่ว่าจะใช้แฮนด์อะไรก็ตาม
ไลน์อัพ Aircode DRS ประกอบด้วยคอมพลีตไบค์ 4 รุ่น และเฟรมเซ็ต 2 สี มีเฟรมสองเกรด ตามแนวทางของ Lapierre ที่ทำมาตลอด คือเฟรมที่มากับคอมพลีตไบค์ ใช้เนื้อคาร์บอน 3 ประเภท รวม 305 แผ่น ให้น้ำหนัก 1,090 กรัม (ไซส์ M) ส่วนอีกเกรดหนึ่งคือที่ขายเฉพาะเฟรมเซ็ต (เรียก Ultimate) ซึ่งขั้นตอนการผลิตซับซ้อนกว่า ใช้เนื้อคาร์บอน 6 ประเภท รวม 395 แผ่น ให้น้ำหนักเบากว่าพอสมควรที่ 975 กรัม (ไซส์ M) (ความต่างประมาณ 110-130 กรัมแล้วแต่ไซส์) ส่วนตะเกียบใช้ร่วมกันทั้งคอมพลีตไบค์ น้ำหนัก 424 กรัม มีรายละเอียดที่ต้องระวังอย่างคือ เฟรมที่มากับคอมพลีตไบค์รองรับทั้งเกียร์ปรกติและเกียร์ไฟฟ้า แต่ถ้าเป็นเฟรมเซ็ตรองรับเฉพาะเกียร์ไฟฟ้า
สุดท้าย สองรุ่นบนสุดที่เป็นคอมพลีตไบค์ มากับแฮนด์ที่ Lapierre ออกแบบเองให้มีจุดยึดสำหรับแอโร่บาร์ ซึ่งแอโร่บาร์นี้ก็ให้มากับจักรยานด้วยไม่ต้องซื้อเพิ่ม สามารถยึดกับแฮนด์ได้โดยตรงไม่ต้องใช้แหวนรัด สำหรับนักปั่นที่อยากใช้จักรยานคันเดียวเป็นทั้งเสือหมอบและรถไตร