วิธีเอาจักรยานขึ้นเครื่องบิน – ตอนที่ 1: เอาจักรยานใส่กระเป๋า

เมื่อเห็นเพื่อน ๆ แพ็คจักรยานขึ้นเครื่องบินไปปั่นที่นั่นที่นี่กัน อยากจะไปบ้าง แต่ก็คิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยากแน่ ๆ เลย วันนี้ DT มาแนะนำวิธีพาเอาจักรยานคู่ใจไปเที่ยวต่างที่ต่างถิ่นครับ ไม่ซับซ้อนอย่างที่คิดแน่นอน

บทความนี้แบ่งเป็นสองตอน โดยตอนแรกจะแนะนำวิธีเอาจักรยานใส่กระเป๋า จากนั้นตอนสองจะแนะนำวิธีเอากระเป๋าใส่เครื่องบินครับ


ในปัจจุบัน ไม่น่ามีสายการบินใดอนุญาตให้ผู้โดยสารเอาจักรยานเปลือย ๆ จูงไปโหลดขึ้นเครื่องได้อีกแล้ว ผู้โดยสารจึงต้องนำจักรยานคู่ใจไปใส่ไว้ในกระเป๋าหรือกล่องให้เรียบร้อยก่อน แล้วจึงจะสามารถนำกระเป๋าจักรยาน/กล่องจักรยานไปขึ้นเครื่องบินได้

กฎข้อหนึ่งที่เป็นจริงเสมอสำหรับกล่องจักรยานก็คือ ขนาดกล่องแปรผกผันกับความยากง่ายในการถอดประกอบเสมอ

กล่องเล็ก-ถอดเยอะ-แพ็คนาน-ประหยัดที่
กล่องใหญ่-ถอดน้อย-แพ็คเร็ว-กินที่

ในต่างประเทศ มีคนประดิษฐ์กระเป๋านินจาขึ้นมา ซึ่งมีขนาดเท่ากระเป๋าสัมภาระปรกติเลย ทำให้มีจุดขายคือไม่ต้องเสียค่าโหลดอุปกรณ์กีฬาเพิ่มเติม แต่ต้องถอดอะไหล่เกือบทั้งคัน

ในทางตรงกันข้าม กล่องใหญ่ ๆ ที่แพ็คเร็ว ๆ ถอดน้อย ๆ ก็จะมีขนาดเทอะทะ ครอบครัวที่ใช้รถยนต์ซีดาน 4 ประตู และต้องเอากล่องจักรยานใส่ไว้เบาะหลัง ก็อาจมีปัญหาใส่ไม่เข้าได้ รวมถึงการเรียกอูเบอร์แล้วได้รถ 4 ประตูคันเล็ก ๆ ก็เช่นกัน

ดังนั้น เราต้องหาสมดุลระหว่างความสะดวกตอนถอดประกอบกับความกะทัดรัดของกระเป๋าให้เหมาะสมกับบริบทการใช้งานของตัวเอง โดยระลึกว่าเดินทางครั้งนึงต้องถอดและประกอบอย่างน้อยก็ 4 ครั้ง คือที่บ้าน ตอนถึงที่หมาย ก่อนเดินทางกลับ และเมื่อกลับถึงบ้านแล้ว ไม่รวมว่าถ้าทริปไหนมีการย้ายสถานที่จาก A -> B ด้วยรถยนต์หรือรถบัสอีก ก็บวกไปอีกทีละ 2 ครั้ง

กลับมาที่อุปกรณ์ที่นำมาแพ็คจักรยาน สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

1. ลังกระดาษ

มันคือลังกระดาษที่ผู้ผลิตจักรยานใช้ส่งจักรยานเต็มคันลงเรือไปขายยังประเทศต่าง ๆ นั่นเองครับ ร้านจักรยานใหญ่ ๆ มักมีเหลือทิ้งเป็นประจำ ผมเองก็เคยไปขอมาใช้อยู่สองสามครั้งจากสองสามร้าน และก็ได้มาฟรี ๆ ทุกที ถ้าจะขอให้ร้านแพ็คจักรยานลงลังให้ด้วย ก็อาจมีค่าบริการเล็กน้อย แต่ก็ยังประหยัดมากอยู่ดี ดังนั้นการใช้ลังกระดาษจึงเป็นวิธีที่ประหยัดที่สุด ใช้เงินแค่หลักร้อยเท่านั้น

นอกจากนี้ ลังพวกนี้มักมีขนาดกลาง ๆ ถึงเล็ก เพราะเน้นประหยัดพื้นที่พาเล็ตเวลาขนส่งทางเรือ ทำให้เมื่อนำมาใช้ จะสามารถเคลื่อนย้ายจักรยานก่อนไปถึงสนามบินและหลังออกจากสนามบินได้อย่างกะทัดรัด เช่น ท้ายกระบะ ท้ายรถห้าประตู เป็นต้น แต่ก็อย่างที่บอกไปข้างต้นบทความว่าขนาดสุทธิที่เล็กย่อมแลกมากับการถอดอะไหล่ที่มากกว่า อย่างน้อย ๆ ก็ต้องถอดแฮนด์ออกจากสเต็มและถอดหลักอานจากเฟรมครับ

ข้อดีอีกประการคือน้ำหนัก เนื่องจากมันเป็นลังกระดาษ จึงมีน้ำหนักเบา ไม่เพิ่มน้ำหนักจากจักรยานเปลือยมากนัก

อย่างไรก็ดี ข้อเสียของลังกระดาษคือการป้องกันที่อาจด้อยกว่าวิธีอื่น (ขึ้นกับลังด้วย รายละเอียดย่อหน้าถัดไป) การนำมาใช้ซ้ำที่อาจจะได้สัก 1-3 ไฟลท์ก่อนที่ลังจะเสียหายจนใช้ต่อไม่ได้อีก และที่สำคัญอีกอย่างคือยกและเลื่อนลำบาก กล่าวคือมันอาจเบาและกะทัดรัดก็จริง แต่มันไม่มีล้อและไม่มีหูจับในตำแหน่งที่ยกง่าย ๆ ทำให้ลากเหมือนกระเป๋าไม่ได้ ต้องยกเอา แล้วมันทุลักทุเลด้วย กรณีใช้รถยนต์เข้าออกจากสนามบินอาจไม่เป็นปัญหามาก เช่น ขับรถไปดอนเมือง บินไปเชียงใหม่ มีรถรับจากสนามบินเชียงใหม่ไปต่อ กรณีนี้แค่ยกลังจากท้ายรถไปลงรถเข็นสนามบินเท่านั้น ไม่ยุ่งยากเท่าไร แต่ผมเคยทำแบบนี้ตอนไปญี่ปุ่นครั้งแรก ต้องยกลังอย่างทุลักทุเลออกจากสนามบินนาริตะ ไปขึ้นรถไฟนาริตะเอกซ์เพรสเข้าตัวเมือง แล้วต่อรถไฟในเมืองอีกทอดเพื่อไปสถานีอุเอโนะ เล่นเอาเหนื่อยตั้งแต่ยังไม่ได้ปั่นครับ

ลังของผู้ผลิตแต่ละเจ้าก็แข็งแรงไม่เท่ากัน แต่ที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือลัง Bike Guard ของ Canyon เพราะเป็นบริษัทที่ธุรกิจขึ้นกับลังกระดาษมากจริง ๆ ในขณะที่บริษัทอื่น ๆ ใช้ลังขนจักรยานจากโรงงานไปยังท่าเรือของประเทศผู้นำเข้า แต่ Canyon ต้องพึ่งลังนี้ไปจนถึงหน้าประตูบ้านลูกค้าเลย ทำให้ลังของ Canyon หนา แข็งแรง และน่านำกลับมาใช้ซ้ำมาก ๆ ผมเองเคยใช้ลัง Canyon ขนจักรยานขึ้นเครื่องอยู่ 2 ครั้ง อุ่นใจมาก และจักรยานก็ถึงที่หมายปลอดภัยตามคาดครับ

สุดท้าย ในด้านความสะดวกสบาย ลังกระดาษจะด้อยกว่าวิธีอื่น นอกจากต้องถอดเยอะแล้ว ยังต้องเก็บหรือมัดให้แน่นหนาด้วย เพราะด้านในลังเป็นพื้นที่โล่ง ๆ ไม่มีช่องเก็บของเหมือนกระเป๋าจักรยาน เช่น ช่องเก็บแกนปลด ช่องเก็บหลักอาน ฯลฯ ถ้ามีชิ้นส่วนใดที่ขยับได้อิสระ ก็มีสิทธิ์กระเด็นไปขูดจักรยานเป็นรอยได้ง่าย ๆ ทั้งหมดนี้ทำให้การถอดอะไหล่ออกและประกอบใหม่ใช้เวลานาน

สรุป

ราคา ★★★★★
น้ำหนัก ★★★★★
ความปลอดภัย ★★★☆☆ ถึง ★★★★☆
ความสะดวกเวลาเคลื่อนย้าย ★★☆☆☆
ความเร็วในการถอดและประกอบใหม่ ★☆☆☆☆

2. ซอฟต์เคส

ซอฟต์เคสคือกระเป๋าจักรยานที่ทำจากผ้าไนล่อนหนา ๆ แล้วบุด้วยโฟมโดยรอบเพื่อกันกระแทกอีกที ผู้ผลิตหลาย ๆ รายจะให้แท่นโลหะมาด้วยกับกระเป๋า ใช้สำหรับยึดตรงดรอปเอาท์ตะเกียบหน้าและตะเกียบหลังของจักรยานเข้าแทนที่ล้อ เพื่อให้จักรยานอยู่กับที่ไม่กระเด็นไปมา อีกทั้งยังช่วยยกตีนผีลอย ไม่ถูกกดทับด้วยน้ำหนักของจักรยานด้วย ถ้าไม่มีแท่นโลหะที่ฐานนี้ แนะนำว่าถอดตีนผีออกจากตัวยึดตีนผีจะช่วยให้เดินทางอุ่นใจขึ้น ลดโอกาสที่ตัวยึดตีนผี/ตีนผีจะงอหรือเสียหายลงไป ราคามีตั้งแต่ไม่ถึงครึ่งหมื่น (โลคัลแบรนด์) ไปจนหมื่นต้น ๆ (แบรนด์นอก)

ข้อดีของกระเป๋าประเภทนี้คือน้ำหนักค่อนข้างเบา ประมาณ 6-8 กก. สามารถแพ็คจักรยานใส่ได้สะดวก ใช้เวลาไม่นาน มักมีช่องใส่ล้อ ใส่แกนปลด และอุปกรณ์อื่น ๆ ให้นอกจากนี้เวลาไม่ใช้งานมักสามารถพับเก็บให้ขนาดเล็กลงได้ ทำให้ประหยัดพื้นที่ในบ้าน

นอกจากรุ่นประหยัดที่ลักษณะเหมือน tote bag ใบใหญ่ที่ต้องสะพายไหล่เวลาเคลื่อนย้ายแล้ว ก็จะมีล้อลากทุกรุ่น ทำให้เคลื่อนย้ายสะดวกแม้อยู่นอกสนามบินและไม่มีรถเข็น

อย่างไรก็ดี กระเป๋าประเภทนี้ ว่าไปก็คล้ายถุงคลุมสูท คือเอาวัสดุนิ่ม ๆ หนา ๆ มา “คลุม” ของข้างในไว้อีกที ดังนั้นข้อเสียที่สำคัญในมุมมองของผมกับเคสประเภทนี้คือ มันป้องกันการกระทบกระทั่งและรอยขูดขีดได้เท่านั้น แต่รับน้ำหนักและการกระแทกแรง ๆ ไม่ได้ เพราะไม่มีโครงเสริมความแข็งแรง เวลาเจ้าหน้าที่สนามบินโหลดขึ้นเครื่องแล้ว ถ้าถูกซ้อนทับด้วยกระเป๋าสัมภาระใบอื่น ๆ สูงเป็นกองพะเนิน หรือถูกโยนลงจากที่สูง จะเกิดอันตรายได้ง่ายมาก ส่วนที่มักเกิดปัญหาคือตะเกียบหลัง (seat stays) อันบอบบางที่มักจะมีคนมาเล่าว่าหักหลังลงจากเครื่องอยู่เนือง ๆ

สรุป

ราคา ★★★☆☆
น้ำหนัก ★★★★☆
ความปลอดภัย ★★☆☆☆
ความสะดวกเวลาเคลื่อนย้าย ★★★★★
ความเร็วในการถอดและประกอบใหม่ ★★★★☆

3. ฮาร์ดเคส

ฮาร์ดเคสคือกระเป๋าจักรยานที่ทำจากพลาสติกขึ้นรูปหรือโลหะทั้งใบ ทำให้แข็งแรงมาก กันกระแทกได้ รับน้ำหนักได้ อุ่นใจหายห่วงเมื่อเดินทาง แต่ราคาก็โหดตามกัน เริ่มต้นอย่างเป็นมิตรสุด ๆ ก็ต้องมีหมื่นต้น ๆ ไปจนสี่หมื่นกว่าบาท (Buxumbox) และน้ำหนักก็มากตามวัสดุที่ใช้ เริ่มต้นที่ 10 กก.++ แม้จะลากง่ายเพราะมีล้อ แต่ก็ยกยากหน่อยเพราะหนัก นอกจากนี้ยังไม่สามารถพับเก็บเมื่อไม่ใช้งานได้เหมือนซอฟต์เคส

รายละเอียดนอกจากนี้ก็จะคล้าย ๆ ซอฟต์เคส คือมีช่องย่อย ๆ ไว้ใส่อุปกรณ์ต่าง ๆ เหมือนกัน มีล้อให้ลากเหมือนกัน ส่วนจำนวนอะไหล่ที่ต้องถอดนั้นแล้วแต่รุ่น ยิ่งเล็กกะทัดรัดก็ย่ิงต้องถอดเยอะเช่นเคย

สรุป

ราคา ★☆☆☆☆
น้ำหนัก ★★☆☆☆
ความปลอดภัย ★★★★★
ความสะดวกเวลาเคลื่อนย้าย ★★★☆☆
ความเร็วในการถอดและประกอบใหม่ ★★★★☆

4. ไฮบริดเคส

ไฮบริดเคสคือกระเป๋าจักรยานกึ่งแข็งกึ่งนิ่ม ผสมเอาข้อดีของซอฟต์เคสกับฮาร์ดเคสเข้าด้วยกัน มีการป้องกันที่ดีกว่าซอฟต์เคส แต่ก็น้ำหนักเบากว่าฮาร์ดเคส ในตลาดมีกระเป๋าที่จัดอยู่ในประเภทนี้ไม่กี่ตัวเลือก และแต่ละผู้ผลิตก็ตีความหมายของไฮบริดเคสต่างกันออกไป เช่น Polaris EVA Pod ซึ่งใช้ EVA (ethylene vinyl acetate) ขึ้นโครงสร้างกระเป๋าที่รูปทรงเหมือนฮาร์ดเคส แม้ไม่แข็งเท่าพลาสติกขึ้นรูป แต่ก็แข็งกว่าผ้าไนลอน น้ำหนักก็อยู่ตรงกลางระหว่างสองวัสดุ หรือ Thule RoundTrip Pro ซึ่งเป็นซอฟต์เคสแต่มีช่องเสียบแผ่นป้องกันแข็ง ๆ ที่ด้านข้างทั้งสองข้าง ถอดเข้าออกได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในเมืองไทยมีกระเป๋าไฮบริดเคสไทยทำอยู่เจ้าหนึ่ง คือ MOVE ซึ่งใช้โครงอลูมีเนียมที่ด้านข้างของกระเป๋าสองข้าง ลักษณะคล้าย ๆ โครงของบานเลื่อนมุ้งประตูบ้าน แต่แข็งแรงกว่า จากนั้นก็บุด้านข้างด้วยแผ่นป้องกันอีกที ทำให้รับน้ำหนักกดทับได้ ถูกวางซ้อนทับได้ และป้องกันการกระแทกได้ด้วย โดยมีน้ำหนักอยู่ระหว่างซอฟต์เคสและฮาร์ดเคสที่ 10 กก. พอดี

และด้วยขนาดที่ใหญ่กว่ากระเป๋าอื่น ๆ ทำให้การถอดประกอบง่ายมาก ถ้าทำคล่อง ๆ แล้วไม่ถึงห้านาที ยิ่งถ้าเป็นคนตัวเล็ก ไม่ต้องกดหลักอานลงหรือถอดหลักอานด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องแลกมากับขนาดที่ค่อนข้างเทอะทะ ใส่ท้าย Civic รุ่นล่าสุดเกือบไม่เข้า ต้องช่วยกันบิดและปล้ำกันสักพัก

สรุป (MOVE)

ราคา ★★★☆☆
น้ำหนัก ★★★☆☆
ความปลอดภัย ★★★★☆
ความสะดวกเวลาเคลื่อนย้าย ★★★★☆
ความเร็วในการถอดและประกอบใหม่ ★★★★★

สำหรับตอนที่ 2 ของบทความนี้ อ่านต่อได้ที่นี่

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott