สะบักร้าว, โคมไฟสีแดง, และเวโลโดรมในเทกซัส

แม้ตูร์เดอฟรองซ์ปีนี้เพิ่งปิดม่านลงไปเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา แต่ยังมีอีกหนึ่งเรื่องราวน่าสนใจของ Le Grand Boucle อยู่ในมุมตรงข้ามกับผู้ชนะ เกเรนต์ โธมัส คือเรื่องราวของนักปั่นจากเทกซัสที่ชื่อ ลอว์สัน แครดด็อก (EF Education First-Drapac p/b Cannondale)

แครดด็อก เป็นหนึ่งใน 176 คนที่ได้ออกสตาร์ทตูร์เดอฟรองซ์ในปีนี้ และเป็นหนึ่งใน 145 คนจากจำนวนนั้นที่ปั่นจนถึงปารีส

อ่านถึงตรงนี้ อาจฟังดูธรรมดา

แต่แครดด็อกนั้นอับโชคตั้งแต่สเตจแรกของการแข่งขัน เพราะล้อหน้าของเขาพลั้งไปแล่นทับขวดน้ำใน feed zone ทำให้เขาล้ม คิ้วแตก และสะบักร้าว อย่างไรก็ตาม การบาดเจ็บของเขานั้นไม่จำเป็นต้องผ่าตัด เพียงพักฟื้นกระดูกก็จะเชื่อมติดกันได้ และนั่นจึงเป็นที่มาของการตัดสินใจที่ยากที่สุดของเขาในการแข่งครั้งนี้

การจะได้รับคัดเลือกจากทีมให้มาร่วมการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกนั้นต้องอาศัยการเตรียมตัวเป็นปี ต้องอาศัยวินัยการซ้อมอย่างหนักเพื่อให้ฟอร์มเข้าฝักพร้อมทำหน้าที่ของแต่ละคน เขาเป็นหนึ่งในแปดคนของทีม EF Education First ที่ได้สิทธิ์นั้นเพื่อมาช่วยสนับสนุนริโกเบอร์โต้ อูราน เอซของทีม แต่เขากลับล้มบาดเจ็บหนักตั้งแต่วันแรก ปัญหาก็คือกระดูกสะบักของเขาไม่ได้แตกยับเยินจนต้องถูกบังคับถอนตัวอย่างไม่มีทางเลือก (เหมือนอย่างริชชี่ พอร์ท หรือวินเชนโซ นิบาลีที่เลือกอะไรไม่ได้ ต้องถอนเท่านั้น) แต่ครั้นจะปั่นต่ออีกยี่สิบวันก็ต้องทนฟันฝ่าความเจ็บปวดทรมานแสนสาหัสไป โดยที่ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้กับทีมในฐานะผู้ช่วยอูรานมากนัก เขาจะทำอย่างไร?

เขาเลือกที่จะกัดฟันสู้กับอุปสรรคและความเจ็บปวด โดยตั้งปณิธานว่าจะบริจาคเงิน 100 ดอลลาร์สหรัฐในทุก ๆ 1 สเตจที่เขาปั่นได้จนจบให้กับเวโลโดรมอัลเค็กในรัฐเทกซัสซึ่งโดนเฮอร์ริเคนฮาร์วี่ถล่มจนเสียหายไปเมื่อปลายปีก่อน เวโลโดรมแห่งนี้เป็นที่ที่เขาผูกพันเป็นอย่างมาก เพราะเขาไปซ้อมที่นั่นเป็นประจำเมื่อตอนเป็นเด็ก มันคือสถานที่ฟูมฟักความรักต่อการปั่นจักรยานของเขา และเขาเชิญชวนให้คนทั่วโลกร่วมบริจาคให้กับสถานที่แห่งนี้ไปพร้อม ๆ กัน โดยมีคุณพ่อของเขาเป็นคนช่วยตั้งแคมเปญใน gofundme ให้ในนามของลูกชาย

ในตอนแรก เป้าหมายที่เขาตั้งไว้คือ 1,000 ดอลลาร์ ซึ่งยอดบริจาคเกินไปตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงแรก และ ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ ที่เรารู้แล้วว่าเขาปั่นจนถึงปารีสได้ทั้ง ๆ ที่สะบักแตก เขารวบรวมเงินได้มากกว่า 240,000 ดอลลาร์ (กว่า 8,000,000 บาท) แล้ว

สุดท้าย การปั่นตูร์เดอฟรองซ์ครั้งนี้ของแครดด็อกเป็นการต่อสู้กับจิตใจตัวเอง ไม่ให้ย่อถอยต่อความเจ็บปวด ไม่ให้ทิ้งขว้างความพยายามฝึกซ้อมให้เสียเปล่า และไม่ให้จำยอมต่อทางลัดของการถอนตัวไปพัก ว่ากันตามตรง เขาไม่ได้ทำประโยชน์ให้ทีมมากนักในแง่การแข่งขันนับจากวันแรกที่เขาล้ม นอกจากช่วยขึ้นมานำหน้าในสเตจ 3 ทีมไทม์ไทรอัลบ้างเป็นคิวสั้น ๆ แต่ในแง่การประชาสัมพันธ์แล้ว เขาประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น

เขาปั่นอยู่กับ gruppetto (กรุปเพ็ตโต้) หรือกลุ่มท้ายขบวนเกือบทุกวัน เขากลายเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ของตูร์ที่ได้รับตำแหน่ง lanterne rouge (ลองแทร์น รูจ) หรือโคมไฟสีแดงตั้งแต่สเตจ 1 จนถึงสเตจสุดท้าย และในการนั้นเขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลกไปพร้อมกันด้วย เขากลายเป็นสัญญะของการไม่ยอมแพ้แม้ในวันที่โชคไม่เข้าข้าง ในขณะที่สปรินเตอร์หัวกะทิหลายคนถอนตัวกลับบ้าน เด็กเมื่อวานซืนที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักชื่อกลับพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อจะไปให้ถึงเส้นชัยในแต่ละวันให้ทันไทม์คัต

คำว่า lanterne rouge นั้นมีที่มาจากโคมไฟสีแดงที่ห้อยอยู่ท้ายตู้โดยสารตู้สุดท้ายของรถไฟในสมัยก่อน เพื่อแสดงว่าตู้นั้นเป็นท้ายขบวน คำนี้ถูกนำมาใช้เป็นตำแหน่งเรียกอย่างไม่เป็นทางการของคนที่มีเวลารวมมากที่สุดในแต่ละวันที่จบสเตจ (แต่ยังไม่โดนไทม์คัต) เป็นตำแหน่งที่ตรงข้ามกับ maillot jaune (มาโย โชน) หรือผู้ถือครองเสื้อเหลือง อย่างไรก็ดี ตำแหน่งนี้ไม่เป็นทางการ เพราะไม่มีการประกาศรางวัล ไม่มีเงินรางวัล ไม่มีเสื้อสีใด ๆ ทั้งสิ้น และผู้จัดแข่ง ASO ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรกับมัน แต่สื่อสิ่งพิมพ์และผู้ติดตามการแข่งขันจำนวนมากให้ความสนใจตำแหน่งนี้ คงเพราะมันแสดงถึงความอดรนทนสู้ของมนุษย์ที่ไม่ยอมจำนนง่าย ๆ แม้ตนไม่ได้เก่งกาจ ในสมัยก่อน นักปั่นหลายคนรู้เรื่องนี้แล้วจงใจปั่นช้า ๆ เพื่อเอาตำแหน่งโคมไฟสีแดงมาสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง ให้เมืองต่าง ๆ เชิญไปแข่งไครทีเรียมหลังจบตูร์ จนทำให้ในช่วงปี ’80 ASO พยายามกำจัดตำแหน่งนี้ด้วยซ้ำ โดยการตัดสิทธิ์คนเข้าเส้นคนสุดท้ายของทุก ๆ วันตั้งแต่สเตจ 14 เป็นต้นไป แต่ทำอยู่ไม่กี่ปีก็ล้มเลิกกติกาข้อนี้ไป

ในยุคนั้น ค่าจ้างนักปั่นให้ไปปรากฏตัวตามไครทีเรียมที่เมืองต่าง ๆ นั้นอาจสูงได้เทียบเท่าเงินเดือนของพวกเขา หลายคนใช้ประโยชน์จากความสนใจประชาชนสร้างรายได้ให้กับตนเอง และดูเหมือนในปีนี้ แครดด็อกก็ใช้ประโยชน์จากตำแหน่งสมมุตินี้เช่นกัน แต่ไม่ใช่เพื่อตัวเองเหมือนที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ แต่เพื่อที่คนรุ่นหลังจะได้ใช้เวโลโดรมนั้นต่อไปอย่างที่เขาเคยได้ใช้มัน

ในที่สุดแล้ว เวลารวมที่แครดด็อกใช้ในการปั่นจบ 21 สเตจนั้นมากกว่าเกเรนท์ โธมัสถึง 4 ชั่วโมง 34 นาที และเมื่อตูร์สเตจหนึ่งใช้เวลาปั่นประมาณ 4–6 ชั่วโมง เราจะบอกว่าเขาปั่นเทียบเท่า 22 สเตจก็คงไม่ผิดนัก

การตั้งเป้าหมายชีวิตให้ยิ่งใหญ่กว่าตนและการอุทิศเพื่อสาธารณประโยชน์เป็นสองในวิธีที่ยอดเยี่ยมในการสร้างความหมายและสร้างแรงผลักดันในชีวิต และดูเหมือนลอว์สัน แครดด็อก จะเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบในการจุดไฟให้กับใจของเขาเองและคนอื่นนับแสนนับล้านคนรอบโลกด้วยวิธีการดังกล่าว

 

“ถ้าไม่ใช่เพราะแคมเปญระดมทุนนั่น ผมคงแพ็คของกลับบ้านไปนานแล้ว ยิ่งวันแรก ๆ หลังล้มใหม่ ๆ นี่ผมได้แรงบันดาลใจจากแคมเปญนี้เยอะมาก”

ลอว์สัน แครดด็อก

 

สำหรับคนที่สนใจร่วมระดมทุน สามารถเข้าไปบริจาคได้ที่นี่ครับ

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott

1 comment

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *