หนึ่งวินาทีก็มีค่า: ทีม Sky ทดสอบความแอโร่ยังไง?

แอโรไดนามิคสำคัญแค่ไหน? ตอนนี้หันไปทางไหนในตลาดเราก็เห็นแต่อุปกรณ์ที่เสริมความแอโร่ ลู่ลมสำหรับจักรยานแข่งขันครับ ไม่ว่าจะเป็นชุด เฟรม หมวกกันน็อค แม้กระทั่งถุงเท้ารองเท้าก็มีรุ่นที่ออกแบบเพื่อลดแรงต้านลมเป็นพิเศษ

ถ้าถามว่าสำคัญแค่ไหน คำถามแรกที่ควรถามก่อนคงต้องถามว่า “สำคัญกับใคร?”

สำหรับมือสมัครเล่นที่ไม่ได้เน้นการแข่งขัน แอโรไดนามิคคงเป็นกิมมิคที่ทำให้เราเชื่อว่าจะไปได้เร็วขึ้น มันอาจจะไม่ใช่ปัจจัยแรกในการเลือกซื้ออุปกรณ์อะไรสักอย่าง อุปกรณ์ที่ลู่ลมอาจจะไม่ช่วยให้คุณชนะสนามแข่งวันอาทิตย์ถ้าต้องเจอนักกีฬาตัวจริงที่ซ้อมเป็นอาชีพ แต่สำหรับนักปั่นอาชีพ แค่หนึ่งวินาทีที่ได้มาจากการที่ร่างกายและจักรยานเราต้านลมน้อยกว่าคู่แข่งก็เป็นตัวชี้ผลแพ้ชนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฟิลด์ที่นักกีฬามีความสามารถเท่าเทียมกันแทบทุกคน อุปกรณ์ที่จะช่วยให้คุณได้เปรียบ 1-2% มีความสำคัญขึ้นมาทันที

ลองนึกถึงเคสที่เราชอบพูดกันบ่อยๆ – Tour de France ปี 1989 ที่เกร็ก เลอมองด์พลิกเฉือนเอาชนะลอเรนท์ ฟิญญอง ด้วยเวลาแค่ 8 วินาทีในสเตจ Time Trial สุดท้าย เพราะเขาใช้อุปกรณ์การปั่นที่ลู่ลมกว่า (แอโร่บาร์) …. 8 วินาทีจากการแข่งทั้งหมด 21 สเตจ คิดเป็นเวลา 87 ชั่วโมง 38 นาที 35 วินาที…ถ้าคิดเป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์แล้ว เลอมองด์ปั่นเร็วกว่าฟิญญองแค่ 0.00025% เท่านั้น!

ยิ่งในสมัยนี้ที่ทุกทีมอาชีพระดับสูงสุดพยายามทำทุกอย่างให้นักปั่นตัวเองไปได้เร็วที่สุดแต่ออกแรงน้อยที่สุด ทั้งใช้วิทยาศาสตร์การกีฬา โปรแกรมการฝึกซ้อมใหม่ๆ โภชนาการ และอุปกรณ์การแข่งที่ล้ำสมัยที่สุด คนที่ทุ่มงบแสวงหาความเร็วเพียงเสี้ยววินาทีย่อมได้เปรียบ

หนึ่งในทีมที่พร้อมจะลงทุนกับเรื่องการหาความได้เปรียบจากทุกอย่างที่เขาจะหาได้ก็คือทีม Sky ล่าสุด ทีมโชว์การ optimise ความลู่ลมของนักปั่นด้วยเทคโนโลยีใหม่ แทนที่จะให้นักปั่นไปทดสอบค่าความลู่ลมในอุโมงค์ลม ทีมหันมาใช้ระบบที่จำลองสถานการณ์การแข่งจริง หาค่าแรงต้านลม (drag) แบบ real time ในเวโลโดรม และใช้ซอฟต์แวร์พิเศษ (Alphamantis) ในการเปรียบเทียบปรับหาท่านั่งที่จะมุดลมที่สุด

ในการทดสอบนี้ ทีมเรียกนักปั่นระดับเอซของทีมมาทดลองกันสามคน นั่นคือ เกอเรนท์ โทมัส, มิเคล แลนด้า, และมิฮาล เควียทคอฟสกี้ ทั้งสามคนต้องลองปั่นทั้งเสือหมอบและเฟรม Time Trial เพื่อหาตำแหน่งท่านั่งที่ได้สมดุลที่สุดระหว่าง ความสามารถในการออกแรงปั่น, ความสบายในการปั่น และความลู่ลม แล้วเขาทดสอบกันยังไง?

  • ทีมให้นักปั่นปั่นที่ความเร็วคงที่ตามจำนวนรอบที่กำหนด ใช้เป็นข้อมูล baseline เพื่อดูว่า ในการปั่นที่ความเร็วเท่านี้ ด้วยท่าปั่นแบบนี้ นักปั่นต้องออกแรงกี่วัตต์ และมีค่าแรงต้านลม (drag coefficient) เยอะขนาดไหน
  • เมื่อได้ค่า baseline มาแล้ว ทีมก็ทดลองฟิตติ้งปรับท่าปั่นให้นักปั่น เพื่อให้ใช้กำลังน้อยลงในการปั่นที่ความเร็วเท่าเดิม (นั่นคือ ท่าปั่นมีความลู่ลมมากขึ้น drag coefficient ต่ำลง)

หัวใจการทดลองของ Sky จริงๆ ก็มีสั้นๆ แค่นี้ครับ ในวิดีโอเขาไม่บอกว่านักปั่นลู่ลมมากขึ้นเท่าไร แต่บอกว่าดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

วิธีการทดสอบแบบนี้มีประโยชน์ไม่แพ้การใช้อุโมงค์ลม เพราะผลลัพธ์ที่ได้จะใกล้เคียงกับความเป็นจริงในสภาพการแข่งขันมากกว่าการปั่นอยู่กับที่ในอุโมงค์ลม และเป็นวิธีการที่ผู้ผลิตจักรยาน กับโปรทีมเริ่มนำมาใช้มากขึ้นในการทดสอบแอโรไดนามิก

จริงๆ แล้วเป็นวิธีที่เราพอจะทดลองเองได้ด้วยแบบง่ายๆ นะครับ สมมติอยากทดสอบว่าล้อสองคู่ลู่ลมต่างกันแค่ไหน เราอาจจะไปทดลองในเวโลโดรมหรือเส้นทางที่คุณสามารถคุมตัวแปรหลายๆ อย่างได้เช่นอุณหภูมิ ทิศทางลม ท่านั่งในการปั่น (แต่ต้องมีพาวเวอร์มิเตอร์) จากนั้นอาจจะลองทดสอบเหมือนทีม Sky ปั่นด้วยความเร็วคงที่ ท่าปั่นเหมือนเดิม แล้วก็เทียบดูว่าล้อคู่ไหนใช้วัตต์มากกว่ากันในจำนวนรอบการปั่นที่เท่ากัน อาจจะไม่แม่นยำ 100% แต่ก็น่าจะพอบอกอะไรได้หลายอย่าง DT ว่าจะลองทดสอบมาฝากกันดูเหมือนกันครับ เช่นล้อขอบต่ำ vs ขอบสูง / เฟรมแอโร่ vs เฟรมไต่เขา

ถ้าใครสนใจวิธีการทดสอบแบบนี้เพิ่มเติมลองอ่านวิธีการทดสอบความแอโร่อย่างง่ายๆ ด้วยวิธี Chung’s Method ที่ลิงก์นี้ และลิงก์นี้ครับ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *