การปั่นจักรยานในอากาศร้อนระยะเวลาสั้นๆ นั้นอาจจะไม่เป็นอันตรายอะไรมากนัก แต่เมื่อเราต้องปั่นยาวนานเกินหนึ่งชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นการปั่นเล่น ปั่นแข่งขัน หรือจะกินลมชมวิวก็ตาม เราควรต้องรู้วิธีการป้องกันแสงแดดและดูแลตัวเองในสภาพอากาศร้อนด้วย บทความตอนนี้เราจะมาดูกันว่าเราต้องเตรียมตัวรับมือวันที่อากาศร้อนมากและแดดจัดได้ยังไงบ้าง ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการปั่นครับ
1. ดื่มน้ำให้พอ
การปั่นจักรยานต่างจากกีฬาอื่นๆ ตรงที่เวลาเราเหงื่อออก เราจะไม่ค่อยรู้สึกว่าเสียน้ำในร่างกายเยอะ เพราะเหงื่อมันกระทบกับลมระหว่างที่เราปั่นจนรู้สึกเย็นสบายตัว ไม่รู้สึกว่าอมเหงื่อ ทำให้นักปั่นส่วนใหญ่เลือกดื่มน้ำเวลาที่กระหาย ซึ่งก็สายเกินไปแล้วที่ร่างกายจะฟื้นตัวทัน คำแนะนำมาตรฐานคือควรจิบน้ำทุกๆ สิบห้านาทีหรือถี่กว่านั้นถ้าอากาศร้อนมาก หรือปั่นเร็วมาก
ในหนึ่งชั่วโมงเราควรดื่มน้ำให้หมดหนึ่งขวด (ขนาด 500ml) แต่ถ้าเป็นคนตัวใหญ่เหงื่อออกเยอะ ก็อาจจะต้องดื่มมากกว่านั้น
จักรยานของเราติดตั้งขากระติกสำหรับใส่กระติกน้ำได้สองจุด ถ้ารู้ว่าต้องออกไปปั่นเจออาการร้อนมาก ให้เตรียมน้ำขวดหนึ่งเป็นเครื่องดื่มเกลือแร่หรือเครื่องดื่มให้พลังงานเพื่อชดเชยแร่ธาติที่สูญเสียไปกับเหงื่อ อีกขวดเป็นน้ำเปล่า แต่พยายามหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเยอะ เช่นน้ำอัดลม เพราะถึงจะให้พลังงานชั่วคราวแต่มันกระตุ้นให้เราสูญเสียน้ำในร่างกายในอัตราที่เร็วกว่าปกติครับ
เทคนิคง่ายๆ ในการทำให้ร่างกายสดชื่น วันไหนเรารู้ว่าต้องไปปั่นกลางแดด คืนก่อนหน้าให้แช่แข็งน้ำกระติกที่สอง (ถ้าคุณใช้น้ำเปล่าทั้งสองขวด) ตอนเช้ามาค่อยเอาออกจากตู้เย็นครับ เติมน้ำสัก 3/4 เพราะถ้าเติมไว้เต็มมันจะขยายจนขวดปริ เวลาเราดื่มน้ำขวดแรกหมด น้ำแข็งในขวดที่สองก็ละลายเย็นสดชื่นพอดี
ปกติถ้าเราใส่น้ำแข็งตอนก่อนปั่นเลยมันจะละลายเร็วจนน้ำอุ่นหมด
2. เหตุผลที่ต้อพกเครื่องดื่มเกลือแร่
สิ่งที่เราเสียออกมากับเหงื่อไม่ได้มีแค่น้ำอย่างเดียว แต่มีแร่ธาติต่างๆ ด้วย แร่ธาติที่สำคัญมากกับระบบร่างกายของเราขณะออกกำลังกายก็คือโซเดี้ยม และมันง่ายมากที่เราจะขาดโซเดี้ยมในวันที่อากาศร้อนครับ
หน้าที่ของโซเดี้ยมคือการรักษาปริมาณน้ำเลือด (พลาสมา) ในร่างกายและช่วยส่งน้ำไปเลี้ยงอวัยวะและกล้ามเนื้อต่างๆ ผ่านทางกระแสเลือด
ยิ่งเราเหงื่อออกมากเท่าไรก็ยิ่งเสียโซเดี้ยมมากเท่านั้น อัตราการเสียเหงื่อของแต่ละคนไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับชาติพันธ์ุและโครงสร้างร่างกายด้วย คนที่เกิดในเขตเมืองร้อนจะจำกัดการเสียเหงื่อและแร่ธาติได้ดีกว่าคนที่เกิดในเมืองหนาว ซึ่งไม่คุ้นชิ้นกับการที่เหงื่อออกเยอะๆ
ขณะเดียวกันนักปั่นที่มีกล้ามเนื้อปริมาณมากก็จะเสียเหงื่อได้เร็วกว่าคนที่ร่างกายเพรียวบาง อัตราการเสียเหงื่อของแต่ละคนนั้นต่างกันได้มากถึง 10% เพราะงั้นถ้าเรารู้ว่าตัวเองเป็นคนเหงื่อออกเยอะก็ต้องเตรียมเครื่องดื่มเกลือแร่ไว้ให้พร้อมและดิื่มให้พอครับ
3. อากาศร้อนก็มีผลกับจักรยานของเราด้วย
การใช้น้ำมันหล่อลื่นให้ถูกประเภทช่วยยืดอายุการใช้งานของเราได้ พยายามเลือกใช้น้ำมันหล่อลื่นแบบแห้ง (dry lube) ที่จะจับฝุ่นน้อยกว่า Wet lube (ออกแบบมาสำหรับใช้ในฤดูฝน และเกาะติดฝุ่นง่ายกว่า)
ถึงเลือกน้ำมันหล่อลื่นถูกประเภทก็ใช่ว่าฝุ่นจะไม่เกาะ ใครที่ชื่นชอบความเร็วไม่อยากเสียวัตต์ก็ควรทำความสะอาดโซ่และจุดหมุนเมื่อฝุ่นเริ่มเกาะ คราบดำเริ่มติด อย่างน้อยหลังปั่นเสร็จใช้ผ้าขี้ริ้วเช็ดโซ่ให้เอี่ยมแล้วหยดน้ำมันหล่อลื่นใหม่ทุกครั้งก็จะยืดอายุการใช้งานอะไหล่ของเราได้ไม่น้อยครับ
ถ้าวันไหนอากาศร้อนมากๆ จนยางมะตอยบนถนนเหลว เวลาเราปั่นทับถนนร้อนๆ มันจะหนืดแล้วทำให้ยางเกาะติดเอาพวกฝุ่นผง กรวด แก้ว กระจกติดล้อมาได้ง่ายกว่าปกติทำให้ยางรั่วกลางทางโดยไม่รู้ตัว ก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษครับ
4. ระวังอัตราการเต้นหัวใจสูงเกินปกติ
เช่นนั้นแล้วควรผ่อนความเร็วหรือออกแรงน้อยกว่าที่คุ้นชินสักเล็กน้อยจนกว่าเราจะชินกับอากาศในวันนั้น ไม่งั้นร่างกายจะ overheat เอาได้ง่ายๆ และอาจจะเป็นลม หน้ามืดเป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น
เรื่องนี้ต้องระวังเป็นพิเศษเวลาขึ้นเขาเพราะไม่มีลมปะทะเหมือนการขี่ทางราบ ร่างกายก็จะระบายความร้อนได้แย่กว่าปกติด้วยครับ
5. ปรับตัวให้เข้ากับอากาศร้อน
งานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัย King’s College London พบว่า คนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น 1–2 องศาเซลเซียสวันละ 60–90 นาทีทุกวัน เป็นเวลาอย่างร้อย 4–10 วัน ร่างกายของพวกเขามีปริมาณน้ำเลือด (พลาสมา) เพิ่มขึ้น ร่างกายขับเหงื่อได้ดีขึ้น ซึ่งเหมาะสมกับการออกกำลังกายในสภาพอากาศร้อน
วิธีการปรับสภาพร่างกายให้คุ้นชิ้นกับอากาศร้อนง่ายๆ ก็คือการออกไปปั่นกลางแจ้งตามสภาพอากาศที่จะต้องเจอในวันงานอย่างน้อย 1–2 สัปดาห์ก่อนเริ่มงานครับ ถ้าปกติปั่นแต่เทรนเนอรอยู่ในบ้าน หรือปั่นตอนเย็น แต่งานจริงเราต้องอยู่กลางแดด ก็ต้องทำให้ร่างกายคุ้นชิ้นกับการออกแรงเยอะๆ เวลาออกแดดด้วย เพื่อฝึกให้ระบบในร่างกายพร้อมใช้งานได้เต็มศักยภาพ
ช่วงวันแรกๆ ที่เราลองซ้อมตามสภาพอากาศจริงก็อาจจะปั่นช้ากว่าปกติ และไม่ต้องอยู่กลางแดดนานมาก ค่อยๆ บิลด์จนร่างกายพร้อมและชินกับอากาศร้อนไปเรื่อยๆ ระหว่างนี้ก็คอยเช็คสำรวจร่างกายว่าตอบสนองยังไง กระหายน้ำเร็วขึ้นหรือเปล่า หรือมีอาการไม่ชอบมาพากลอย่างหน้ามืด ตะคริวขึ้นเร็วกกว่าปกติ เวลาถึงวันงานจริงเราจะได้พร้อมรับทุกสถานการณ์ครับ
6. งดปั่นตอนเที่ยง/บ่าย
ตรงข้ามกับกรณีข้างบนที่เราจำเป็นต้องปั่นกลางแดด ถ้าเราไม่ได้จำเป็นต้องปั่นกลางแจ้งก็ควรเลี่ยง เลือกออกปั่นแต่เช้าตรู่หรือตอนที่ตะวันตกดินแล้วก็จะช่วยถนอมร่างกายได้มากครับ โดยเฉพาะเวลาที่เราต้องซ้อมหนักๆ อากาศร้อนจะทำให้เราออกแรงได้ไม่เต็มที่
7. เลือกชุดปั่นที่เหมาะกับอากาศร้อน
แล้วชุดปั่นที่เหมาะกับเมืองร้อนต้องเป็นยังไงบ้าง? อย่าแรกที่ต้องดูคือน้ำหนักของผ้า ถ้าผ้าหนักก็จะไม่สบายตัวโดยเฉพาะเวลาเหงื่ออออกเยอะๆ แต่ถ้าบางจนเกินไปก็ไม่ทนทาน ฉีกขาดได้ง่ายเช่นกัน ชุดปั่นเมืองร้อนมักจะมีชื่อรุ่นต่อท้ายว่า Ultralight, Super light, Climbers — สะท้อนว่าเป็นผ้าประเภทที่บางเบาไม่อมเหงื่อ
ชุดปั่นที่ดีควรมีคุณสมบัติ ‘wicking’ หรือการถ่ายเทความชื้นจากผิวหนังไปสู่เนื้อผ้าแทน เมื่อเหงื่อเราไม่อมอยู่ในเนื้อผ้า แต่ระบายไปยังผิวผ้า เวลาลมปะทะชุดปั่นร่างกายก็จะรู้สึกเย็นสบายครับ
ปกติแล้วน้ำถ่ายเทความร้อนได้ดีกว่าอากาศ 20 เท่า ถ้าเหงื่ออมอยู่ในเนื้อผ้าก็จะทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ประสิทธิภาพการปั่นก็ลดลงตามไปด้วย ชุดปั่นสมัยใหม่คอเลคชันฤดูร้อนนิยมใช้ผ้าที่ถ่ายเทเหงื่อได้รวดเร็ว แต่ก็จะมีราคาสูงตามไปด้วย
สีของชุดปั่นก็สำคัญ ชุดปั่นสีดำและสีเข้มดูดกลืนความร้อนมากกว่าสีสว่าง เราเลยเห็นทีมจักรยานอาชีพหลายๆ ทีมเลือกใส่ชุดสีขาวหรือสีสว่างเพื่อลดการดูดความร้อนของชุดปั่นครับ ทีมที่เลือกใช้ชุดสีดำก็ต้องพึ่งเทคโนโลยีที่ลดความร้อนอย่าง Coldblack ที่ทำเส้นใยพิเศษช่วยเพิ่มการสะท้อนรังสีความร้อนจากแสงอาทิตย์ในเนื้อผ้าสีดำ
8. อย่าลืมใส่แว่นกันแดด
แว่นกันแดดนอกจากจะช่วยป้องกันรังสี UV ที่เป็นอันตรายต่อดวงตาแล้ว ยังช่วยป้องกันฝุ่นผงที่เราต้องเจอแน่ๆ ในวันที่อากาศร้อนและแห้งครับ
ถ้าเราต้องปั่นในช่วงเย็น สิ่งที่อาจจะเจอในบางพื้นที่คือแมลง หมวกกันน็อคของนักปั่นที่มีรูระบายอากาศเป็นอะไรที่ดึงดูดแมลงได้เป็นอย่างดี การใส่แว่นก็ช่วยป้องกันแมลงเข้าตาได้อีกทางหนึ่ง สำหรับวิธีการเลือกซื้อแว่นจักรยานอ่านได้ที่ลิงก์นี้ครับ
9. อย่าลืมคูลดาวน์หลังปั่น
ระหว่างคูลดาวน์คอยเช็คอัตราการเต้นหัวใจให้ต่ำลงเรื่อยๆ จนอยู่ที่โซน 1–2 แล้วค่อยลงจากรถ หลบเข้าร่ม ดื่มน้ำเย็นและเกลือแร่ จากนั้นพักผ่อนอาบน้ำ ทานอาหาร คอยจิบน้ำเรื่อยๆ โดยเฉพาะวันที่แดดจัดเราจะเสียน้ำในร่างกายเป็นจำนวนมาก ใช้วิธีขึ้นตาชั่งก่อนออกปั่นและหลังปั่นดูว่าเสียน้ำหนักไปกี่กิโลกรัม นั่นคือปริมาณน้ำที่หายไประหว่างออกปั่นครับ
10. วิธีป้องกันลมแดด (ฮีทสโตรก)
โรคลมแดดเป็นโรคอันตรายสำหรับคนที่ชอบออกกำลังกลางแจ้ง เกิดจากการที่ร่างกายอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงและได้รับความร้อนมากเกินไปทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของสมองในส่วนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายทำให้มีอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง เช่นความดันต่ำลงกะทันหัน โรคลมแดดขั้นต้นผู้ป่วยจะมีอาการมึนศีรษะ
อาการแรกที่ต้องรู้คืออาการเพลียแดด ความดันต่ำกะทันหัน เกิดจากการเสียน้ำและเกลือแร่ (ดื่มไม่พอ!) เพราะตากแดดเป็นเวลานาน อาการคือเพลีย อ่อนล้า รู้สึกคลื่นไส้หรือไม่สบายตัว หน้ามืด และรู้สึกอยากพัก ถ้าอาการมาเต็มแบบนี้ควรหยุดปั่นโดยทันที เข้าที่ร่ม ดื่มน้ำโดยการจิบ หาผ้าเปียกมาเช็ดตัว (แต่ไม่ใช่น้ำเย็นจัด หรือน้ำแช่น้ำแข็ง) พักอย่างน้อย 20–30 นาที ถ้าอาการยังไม่หายควรไปพบแพทย์ครับ
แต่ถ้าเกิดอาการข้างต้นขึ้นแล้วยังฝืนปั่นต่อ ที่นี้อาจจะเจอโรคลมแดด (heat stroke) ซึ่งน่ากลัวกว่าหลายเท่า อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้นต่อเนื่อง, เหงื่อหยุดไหล และผู้ป่วยรู้สึกหนาวเย็น (ถึงแม้ร่างกายจะร้อนมากก็ตาม) หายใจหนักขึ้น หัวใจเต้นแรงขึ้น อาจจะเป็นตะคริว มีอาการอยากอาเจียน ปวดหัว และหน้ามืดวิงเวียน ถ้าเป็นหนักมากอาจจะหมดสติไปเลย ถ้าร้ายแรงหัวใจจะเต้นเร็วแต่แผ่วเบา ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้น
ถ้าเรารู้สึกถึงอาการแบบนี้ ควรหยุดปั่น เข้าร่ม จิบน้ำ และให้เพื่อนเรียกรถพยาบาลทันที ค่อยๆ เช็ดตัวหรือพรมน้ำให้เย็น และหลีกเลี่ยงการลงสระน้ำหรืออาบน้ำเย็นทันทีที่จะทำให้อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
สำหรับผู้ที่มี ความเสี่ยงในการเกิดโรคฮีทสโตรก คือ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่อดนอน ผู้ที่ดื่มเหล้าจัด ผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน รวมถึงนักกีฬา และทหารที่เข้ารับการฝึก โดยไม่มีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด
11. ครีมกันแดดเป็นของจำเป็นมาก
ผลการศึกษาจากองค์กร Cancer Reserach UK พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งผิวหนังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการไม่ดูแลผิวหนังภายใต้แสงแดดครับ
นักปั่นเป็นกลุ่มคนออกกำลังกายที่จะเจอปัญหาผิวหนังจากแสงแดดมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นกีฬากลางแจ้งที่เราอยู่ใต้แสงอาทิตย์เป็นเวลาต่อเนื่องหลายชั่วโมง และเป็นประจำ งานวิจัยในปี 2000 ที่ทดสอบนักปั่น 6 คนระหว่างการแข่งขันจักรยาน 8 วันติดต่อกันพบว่าผิวหนังของพวกเขารับแสง UV เกินกว่าจุดปลอดภัยถึงสามสิบเท่า
รังสี UV ที่เป็นอันตรายต่อผิวหนังและที่ต้องระวังมีสองประเภท
- รังสี Ultraviolet A เรียกสั้นๆว่า UVA ในแสงแดดจะมี UVA มากถึง 95% รังสีชนิดนี้สามารถผ่านทะลุกระจกได้แม้เราอยู่ในร่ม และเข้าสู่ผิวหนังชั้นลึกสุดของเรา ถ้าผิวต้องรับ UVA เป็นวลานานมันจะกดภูมิต้านทานของผิวหนัง ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถปกป้องผิวจากการเกิดและแพร่กระจายของมะเร็งผิวหนังได้ และทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่น เกิดฝ้า กระ แก่ก่อนวัยหรือเกิดจุดด่างดำ
- รังสี Ultraviolet B หรือ UVB มีประมาณ 5% ในแสงอาทิตย์ รังสีนี้ไม่ทะกระจกและอาคาร แต่จะทำให้ผิวไหม้เกรียม
เวลาเลือกซื้อครีมกันแดด มีสองค่าที่เราต้องดูให้ดีคือค่า PA (Protection Grade of UVA) สำหรับป้องกัน UVA และ SPF (Sun Protection Factor) สำหรับป้องกัน UVB
ปกติค่า PA จะมีเครื่องหมายบวกต่อท้าย ยิ่งมีมากเช่น PA+++ ก็ยิ่งป้องกันได้มากขึ้น ปกติแล้วเวลาออกปั่นควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่า PA+++ เป็นอย่างน้อย (ป้องกัน UVA ได้ 8–16 เท่า)
ส่วนค่า SPF นั้นป้องจะบอกระยะเวลาในการป้องกันอาการผิวหนังไหม้แดด เช่น SPF 30 ก็จะป้องกันอาการผิวไหม้แดดได้ 300 นาที ในการปั่นควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 เป็นอย่างน้อย
ขอบคุณกันแดด Sunplay Sport ผู้สนับสนุน content~
กันแดด Sunplay Sport มีสองสูตรให้เลือก แบบโลชั่น Sunplay Sport Lotion SPF50+ PA++++ สูตรบางเบาทนเหงื่อ ที่แห้งเร็วทันทีหลังทาบนผิว และทาทับผิวเปียกได้โดยไม่เหนียวเหนอะหนะ ใช้ได้กับทั้งผิวหน้าและผิวกาย ราคา 329 บาท
สูตรที่สองเป็นสเปรย์กันแดดสูตรบางเบา ทนเหงื่อ Sunplay Sport UV Body Mist SPF50+ PA++++ ที่ละอองสเปรย์บางเบา ทนเหงื่อและทนน้ำได้ยาวนาน แห้งเร็วและฉีดทับผิวเปียกได้ เหมาะกับทั้งผิวหน้าและผิวกาย ราคา 495 บาท
สนใจสามารถหาซื้อได้ที่ Watsons, Tops Super Market, The Mall, Tsuruha และ Eve And Boy ครับ