Latex tube 101: ทำความรู้จักยางในไฮเอนด์!

หมายเหตุ: ผลิตภัณฑ์ในบทความนี้เป็นของส่วนตัวที่ผู้เขียนซื้อใช้เอง ไม่ได้รับมาจากผู้นำเข้าหรือผู้จัดจำหน่ายแต่อย่างใด

เมื่อพูดถึงยางในสำหรับล้อจักรยาน ผมเชื่อว่าเกือบร้อยทั้งร้อยของท่านผู้อ่าน DT คงนึกถึงยางเส้นดำ ๆ วงหนึ่งที่มีวาล์วยื่นออกมา ผมเองก็เช่นกันครับ ปั่นเสือหมอบจริงจังมาก็หลายปี เข้าใจมาตลอดว่าความหนาคือสิ่งเดียวที่ทำให้ยางในแต่ละกล่องแตกต่างกัน จนกระทั่งเร็ว ๆ นี้เองที่ผมได้รู้จักกับ…

ยาง “ลาเทกซ์” !

คือลาเทกซ์น่ะรู้จักครับ แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามียางในที่ทำจากวัสดุนี้ด้วย ส่วนยางในดำ ๆ ที่ใช้มาหลายปีดีดักนี้ทำจาก “บิวทิว” ย่อมาจาก polyisobutylene ซึ่งเป็นโพลีเมอร์เช่นกัน แต่คนละชนิดครับ

 

ยางในลาเท็กซ์ต่างกับบิวทิวยังไง?

ลาเทกซ์เป็นโพลีเมอร์ที่มีความยืดหยุ่น (elasticity) สูงกว่าบิวทิวมาก โดยตัวมันสามารถยืด (plastic deform) ได้ประมาณเจ็ดเท่าเมื่อเทียบกับบิวทิวที่ยืดได้เพียงหนึ่งเท่าครึ่งเท่านั้น ด้วยคุณสมบัตินี้เองทำให้ในทางทฤษฎีแล้วลาเทกซ์สามารถ

1) ทนต่อการแตกและการรั่วได้มากกว่าบิวทิว เช่นเมื่อตกหลุมถนน หรือเมื่อปั่นกระแทกฟุตปาธตรง ๆ มุมฉากของขอบฟุตปาธจะกระแทกยางนอกและยางในด้วยพื้นที่กระทำที่น้อยมาก ทำให้แรงดันในยางสูงขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว ยางลาเทกซ์ซึ่งยืดหยุ่นกว่าจะทนทานต่อการกระแทกในลักษณะเช่นนี้มากกว่าบิวทิว และ

2) มีแรงต้านทานการหมุน (rolling resistance, RR) ที่น้อยกว่า เพราะเมื่อมีน้ำหนักของผู้ปั่นและจักรยานกดลงบนยางและลงพื้นถนนอีกที ยางจะ “แบน” ลงเพื่อแนบพื้น พลังงานตรงนี้ที่ถูกใช้และเสียไปเพื่อเปลี่ยนรูปลาเทกซ์จะน้อยกว่าบิวทิวเพราะคุณสมบัติความยืดหยุ่นนี้เอง (จินตนาการเปรียบเทียบการยืดหนังยางเส้นบาง ๆ กับเส้นหนา ๆ ก็ได้ครับ)

 

ต่างกันแค่ไหน

คุณยาร์โน เบียร์แมน ผู้ทดสอบยางอิสระเจ้าของเว็บไซต์ bicyclerollingresistance.com ได้ทดสอบยางในที่ทำจากลาเทกซ์เทียบกับบิวทิว โดยใช้ Continental Race 28 (Butyl) เทียบกับ Michelin AirComp A1 Latex กับยางนอกยอดนิยมสองตัวคือ Continental GP4000S II 25mm และ Vittoria Open Corsa CX III 25mm โดยใช้ความเร็ว 29 กม./ชม. และโหลด 42.5 กก. (ต้องคูณสองก่อนสำหรับสองล้อ จะเทียบเท่ากับผู้ขี่และจักรยานรวมที่ 85 กก.) และอ้างความคลาดเคลื่อน ± 0.3 วัตต์ พบว่าสำหรับ Vittoria Open Corsa CX III แล้ว ยางลาเทกซ์มี RR ต่ำกว่ายางบิวทิว 1.3, 1.4, และ 1.8 วัตต์/ข้าง ที่ความดัน 120, 100, และ 80 PSI ตามลำดับ และสำหรับ Continental GP4000S II แล้วยางลาเทกซ์มี RR ต่ำกว่า 1.6, 1.8, และ 1.9 วัตต์/ข้าง ที่ความดัน 120, 100, และ 80 PSI ตามลำดับ ดังนั้นในการทดสอบของคุณยาร์โน ยางลาเทกซ์จะประหยัดพลังงานได้ประมาณ 2.6 – 3.8 วัตต์ (± 0.6 วัตต์) ต่อล้อหนึ่งคู่นั่นเอง

ในอีกการทดลองหนึ่งซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ผลเร็ว ๆ นี้ คุณเลนนาร์ด ซินน์ บรรณาธิการฝ่ายเทคนิคของเว็บไซต์ Velonews.com ได้ทดสอบยางนอก 34 เส้น การทดลองนี้เน้นเทียบยางงัดกับยางทิวป์เลสเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตามมียางนอกหนึ่งเส้นที่ได้ทดลองทั้งยางลาเทกซ์และยางบิวทิว ก็คือ Challenge Elite 25mm โดยใช้ Michelin AirStop A1 (Butyl) เทียบกับ Bontrager XXX Latex ที่ความเร็ว 40 กม./ชม. โหลด 50 กก. และความดัน 116 PSI ค่าเดียว อ้างความคลาดเคลื่อน ± 0.15 วัตต์ ในการทดลองนี้คุณเลนนาร์ดพบว่ายางลาเทกซ์ประหยัดพลังงานได้ประมาณ 2.6 วัตต์ ± 0.3 วัตต์ต่อล้อหนึ่งคู่

 

ใช้งานจริงรู้สึกได้มั้ย

เนื่องจากผมเปลี่ยนจาก Michelin Pro4 SC 23mm + Bontrager Race X Lite มาใช้ Continental GP4000S II 23mm + Bontrager XXX Latex มาประมาณ 1 เดือน ทำให้ไม่สามารถเทียบได้โดยตรงเพราะมียางนอกมาเกี่ยวข้องด้วย และยางนอกแต่ละเส้นมี RR ต่างกันมากกว่ายางในพอสมควร หากอ้างอิงจากฐานข้อมูลของ bicyclerollingresistance.com การเปลี่ยนทั้งยางในและนอกครั้งนี้น่าจะทำให้ RR ของจักรยานผมลดลงเกือบ ๆ 10 วัตต์ที่ 30 กม./ชม. ความรู้สึกที่จับได้ทันทีที่ขึ้นยางคู่ใหม่คือความ “ลื่น” ที่มากกว่าเดิม เป็นความรู้สึกคล้าย ๆ ตอนเปลี่ยนจากยางขอบลวดหนัก ๆ (Maxxis Detonator) มาใช้ขอบพับดี ๆ (Michelin Pro4 SC) แล้วไม่ต้องเติมบ่อยเท่าเดิมเพื่อให้ได้ความเร็วเท่าเดิม แต่ไม่ได้รู้สึกต่างกันฟ้ากับดินเท่าครั้งนั้นครับ แต่หากถามว่าเปลี่ยนแค่ยางในแล้วลดไป 3 วัตต์จะรู้มั้ย ส่วนผมไม่เชื่อว่าความต่างเท่านั้นจะจับต้องได้ด้วยฟีลลิ่งอย่างเดียว อาจต้องใช้การจับเวลาซ้ำ ๆ ในเส้นทางเดิม ๆ มาช่วย

ส่วนเรื่องรั่วยากนี่พูดยาก ยางแตกยางรั่วเป็นเรื่องของฝนฟ้าและสวรรค์เป็นหลักครับ (ฮา) ยางหนา ๆ หนัก ๆ Maxxis Detonator รั่วหน้ารั่วหลังในทริปเดียวก็เคยมาแล้ว ดังนั้นผมว่าประสบการณ์ส่วนตัวไม่บอกอะไรเลย (แต่เดือนนึงผ่านไปก็ยังไม่รั่วนะ ยังก่อน) แต่ถ้ารั่วขึ้นมา วิธีปะยางก็เหมือนกัน ใช้แผ่นซ่อมกับกาวแบบเดียวกับที่ใช้ซ่อมยางในปรกติได้เลย

 

มีข้อเสียบ้างมั้ย

อ่านมาถึงตรงนี้เหมือนยางลาเทกซ์จะมีแต่ข้อดี แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นครับ ความยืดหยุ่นและความเหนียวของลาเทกซ์ทำให้การขึ้นยางยุ่งยากกว่าเดิม ควรลงแป้งฝุ่นที่มือและยางก่อนขึ้นยาง แต่ยางก็ยังมีสิทธิ์ติดนิ้วและปลิ้นออกมานอกยางนอกได้ง่ายอยู่ดี หากไม่ทันสังเกต เมื่อสูบลมเข้าไป ส่วนที่ปลิ้นก็จะโดนบีบอัดกับขอบเบรคและแตกได้ง่าย ๆ นอกจากนี้ลาเทกซ์ยังมีความพรุน (porosity) มากกว่าบิวทิวมาก ทำให้ไม่สามารถเก็บลมไว้ได้นาน เท่าที่ผมใช้มา พบว่าหากสูบไว้ 100 PSI เพียงข้ามคืนลมก็จะรั่วออกเหลือ 80 PSI ทุกครั้ง ทำให้ต้องสูบลมก่อนออกปั่นทุกวัน ถึงจะใช้เวลาไม่ถึงสามนาที แต่ก็เพิ่มความยุ่งยากครับ

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือราคาและการหาของ เท่าที่เข้าออกร้านจักรยานนั้นทีนี้ทีมาหลายร้าน ผมเคยเห็นร้านเดียวเองที่มียางในลาเทกซ์ขาย แถมราคาสูงลิบจนต้องหยิบวาง หยิบวาง อยู่หลายรอบ จนสุดท้ายความอยากรู้อยากเห็นก็ชนะจนได้

สรุป

ลื่นกว่าในทางทฤษฎี ใช้งานยุ่งยากกว่าในทางปฏิบัติ ของหายากและแพง เหมาะเอาไว้ใช้ในวันแข่งครับ

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *