Flanders 2016: จุดเปลี่ยนผ่านของซากาน

สำหรับนักปั่นอาชีพ การได้ครองเสื้อสีรุ้งอาจจะเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ แต่การเป็นแชมป์โลกก็มากับความคาดหวังและความรับผิดชอบขนาดมหึมาเช่นกัน

ไม่เช่นนั้นคงไม่มีวลีอย่างคำว่า “คำสาปเสื้อสีรุ้ง” – สภาวะที่แชมป์โลกไม่สามารถทำผลงานชนะรายการอะไรได้เลยหลังจากที่เขาได้ครองเสื้อแชมป์โลก แน่นอน คำสาปเสื้อสีรุ้งไม่มีอยู่จริง แต่ลองถาม รูย คอสต้า, ฟิลลิป จิลแบร์ หรือมิฮาล เควียทคอฟสกี้ดูได้ ว่าการได้สวมใส่เสื้อที่เด่นที่สุดในเปโลตองมันทำให้แข่งขันยากขึ้นขนาดไหน

จากการแข่งขันทั้งหมด 100 ปี, มีชายเพียง 5 คนที่สามารถคว้าแชมป์ Tour of Flanders ได้ในขณะที่ยังเป็นแชมป์โลกอยู่ พวกเขาคือ Louison Bobet (ปี 1955), Rik Van Looy (ปี 1962), Edder Merckx (ปี 1975), ทอม​ โบเน็น (ปี 2006) และล่าสุด ปีเตอร์ ซากาน (2016)

 

ในกีฬาที่การได้อันดับสองหมายถึงความล้มเหลว ชีวิตนักปั่นของปีเตอร์ ซากาน (Tinkoff) แทบจะกลายเป็นมุกตลกให้คู่แข่งและผู้ชมทางบ้านได้ล้อเลียนกันสนุกสนาน เขาอยู่กับคำว่าเฉียด แทบทุกการแข่งขัน ที่สอง…ที่สาม… Top 10 แต่ไม่ชนะ หลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในสเตจเรซ รายการใหญ่ หรือใน Tour de France เขาอาจจะชนะบ้างในบางสนาม แต่ไม่ใช่สนามที่เขาตั้งใจจริงๆ บ้างถูกคู่แข่งหมายหัวพลิกเอาชนะด้วยกลยุทธ์ที่เหนือกว่า บ้างเป็นการตัดสินใจผิดของเขาเองที่ทำให้พลาดในวินาทีสุดท้าย แต่ไม่เคยมีคำว่ายอมแพ้ และเลิกพยายาม

ด้วยความสำเร็จต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มเทิร์นโปร หลายคนลืมไปว่าเขามีอายุเพียง 26 ปีเท่านั้น แต่ถ้าเราย้อนกลับไปดูผลงานของเขาใน Flandedrs – ที่ 5 ในปี 2012, ที่ 2 ในปี 2013, ที่ 4 ในปี 2015… เมื่อเทียบกับอายุกับผลงานแล้ว ซากานไม่ใช่นักปั่นธรรมดาๆ เขามีพละกำลังแต่ยังขาดประสบการณ์และไหวพริบ

โยฮาน มูเซวล์ แชมป์ Flanders 3 สมัยกล่าวว่า “จะชนะ Tour of Flanders ได้ คุณต้องจำเส้นทางได้ทุกตารางเมตร ทุกโค้ง ทุกเนิน ทุกหลุมบ่อและหินทุกก้อน ไม่มีใครชนะ Flanders ได้ตั้งแต่ปีแรกที่เขาลงแข่ง มันเป็นสนามที่ต้องใช้ประสบการณ์”

ชัยชนะของซากานใน Tour of Flanders ปีนี้เป็นเครื่องชี้วัดอะไรหลายๆ อย่าง วิธีการได้มาซึ่งชัยชนะสะท้อนถึงความแข็งแกร่ง ความฉลาดหลักแหลมในการตัดสินใจ และความกล้าที่จะพนันกับคู่แข่งออนฟอร์มที่ประสบการณ์มากกว่าและมีทีมสนับสนุนพร้อมกว่า

 

นาทีวิกฤติ

 

32 กิโลเมตรสุดท้าย มิฮาล เควียทคอฟสกี้ (Sky) ออกกระชากหนีกลุ่มเปโลตอง เป็นการโจมตีแบบสาดกระสุนของ Sky ที่ส่งนักปั่นออกยิงคู่แข่งหลายต่อหลายครั้งก่อนหน้านี้ เมื่อเอียน สแตนนาร์ดโดนรวบ ก็เป็นทีของอดีตแชมป์โลกปี 2015 – ซากานและเซป ฟานมาร์ค (LottoNL-Jumbo) ออกไล่ตามทันที สำหรับ Sky แล้วการส่งเควียทคอฟสกี้ออกไปเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ทีมมีตัวเต็งหลายคนอยู่ในกลุ่มเปโลตอง ซึ่งพร้อมจะช่วยเขาเมื่อจำเป็นหรือเมื่อถูกรวบจับ แต่สำหรับซากานและฟานมาร์คแล้ว มันเป็นการพนันที่เสี่ยง เพราะทั้งคู่ไม่มีตัวเต็งหรือตัวช่วยในเปโลตองจากทีมเดียวกัน ถ้าเควียทคอฟสกี้ไม่ช่วย ทั้งคู่ต้องเต็มที่กับการหนีเพื่อให้รอดไปถึงเส้นชัย

แต่ไม่ใช่เซปและซากานที่เดิมพันราคาสูง, เฟเบียน แคนเชอลารา (Trek-Segafredo) ก็ลงเดิมพันเช่นกัน ด้วยการไม่ออกตามในวินาทีที่สามคนหลบหนีไป (ซึ่งเขาและผู้จัดการทีมให้สัมภาษณ์ว่าเป็นความผิดพลาด: “การที่ผมไม่ตามกลุ่มนี้อาจจะเป็นการตัดสินใจที่ผิด / เฟเบียนควรจะออกตามซากานและเควียทคอฟสกี้ – ผู้จัดการทีม”)

 

แคนเชอลาราไม่สามารถไล่จับเบรคอเวย์ได้ทุกครั้งที่มีการโจมตี เขาเดิมพันกับการที่ทีมตัวเต็งทีมอื่นอย่าง Quickstep และ Sky ยังมีเอซอีกหลายคนในกลุ่ม และน่าจะช่วยกันไล่จับสามตัวเต็งที่หนีไปได้ไม่ยาก และคาดหวังว่าโดเมสติกอย่างสไตน์ ดีโวลเดอร์จะช่วยเขาลากคู่แข่งกลับเข้ากลุ่มได้

มันง่ายที่เราจะบอกว่าแคนเชอลาราควรจะรีบประกบกลุ่มหนีตั้งแต่ตอนที่เขาออกไป เพราะมันไม่ใช่การโจมตีที่รุนแรงจนตามกันไม่ไหว แคนเชอลาราเลือกพนันในสิ่งที่เขาเชื่อ และคงไม่มีใครรู้ว่าซากานจะออนฟอร์มในแบบที่เขาแสดงให้เราเห็น

 

จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน

เมื่อระยะห่างระหว่างผู้หนีกับผู้ไล่ไม่ลดลง Trek-Segafredo ตกอยู่ในเกมรับทันทีและเป็นทีมเดียวที่ทำงานหนักที่สุด Sky ไม่ช่วยลากเพราะมีเพื่อนในเบรคอเวย์ ส่วน Etixx-Quickstep ที่ขาดผู้นำก็หวังว่า Trek จะยอมเหนื่อยแทน

เข้าสู่เนินสุดชันสองลูกสุดท้าย เควียทคอฟสกี้หมดแรงหลุดกลุ่มไปบนเนิน Kwaremont ส่วนฟานมาร์คก็เฟดบนเนิน Paterberg ลูกถัดมา Trek ทุ่มแรงเฮือกสุดท้ายในการไล่จับซากาน จากระยะห่างร่วม 25 วินาที แคนเชอลาราไล่มาจนเกือบทันซากานบนยอด Paterberg แต่เขาก็เสียแรงไปเยอะ จนต้องยอมฟอร์มทีมกับฟานมาร์คเพื่อไล่ล่าซากานในช่วง 12 กิโลเมตรสุดท้าย

 

ถึงจุดนี้ฟานมาร์คเป็นตัวถ่วงมากกว่าตัวช่วย แคนเชอลาราไม่สามารถรอให้เปโลตองฟอร์มตัวช่วยกันไล่จับคู่แข่งตัวฉกาจของเขาได้ วินาทีนี้ทุกคนรู้แล้วว่าถ้าไม่ทุ่มแรง 100% จะไม่มีใครจับแชมป์โลกคนนี้ได้แน่นอน แค่ดูจากท่าปั่นที่ตัดสับไปมาระหว่างกลุ่มหน้ากับกลุ่มหลังเราก็พอจะบอกได้ว่าใครแข็งแกร่งที่สุดในสนามนี้ ซากานไม่เคยเหลียวหลังจนร้อยเมตรสุดท้าย ท่วงท่าการปั่นของเขาแสดงออกถึงความมั่นใจที่รู้ตัวว่าไม่มีทางโดนจับแน่นอน ทำให้เราย้อนนึกถึงปี 2013 ที่แคนเชอลาราเป็นคนหนี และซากานเป็นคนไล่โดยไม่มีวี่แววจะจับทัน

ภาพเปิดบทวิเคราะห์นี้สื่อความหมายทุกอย่างได้สมบูรณ์แล้ว ซากานคว้าแชมป์สนามคลาสสิระดับ Monument ครั้งแรกในชีวิต เขาอาจจะชนะไม่เยอะ (หรือใช้คำว่าแพ้บ่อยดี?) แต่สนามที่เขาชนะ เชื่อได้เลยว่าเป็นรายการที่นักปั่นแทบทุกคนยอมแลกผลงานที่ผ่านมาทั้งหมดเพื่อให้ได้เป็นแชมป์โลก หรือเป็นแชมป์ Flanders…

ไม่ใช่แค่โตขึ้นในเกมการแข่งขันอย่างเดียว ซากานสลัดภาพเด็กหนุ่มมาดกวนที่ไม่แคร์โลก พร้อมจะเล่นสนุกในทุกจังหวะการแข่งขัน กลายมาเป็นผู้ใหญ่ที่ให้เกียรติคู่แข่งและสนามแข่งมากกว่าเดิม จากคนที่เคยบีบก้นสาวโพเดี้ยม เขามอบชัยชนะ Flanders ให้ Antoine Demoitie ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในงานแข่งเมื่อสุดสัปดาห์ก่อน แต่ก็ยังไม่ลืมที่ยกล้อโชว์แฟนๆ หลังเข้าเส้นชัย

Sagan flanders 2

สำหรับทีมตัวเต็งอย่าง Sky และ Quickstep ก็เป็นอีกสนามที่ทำไม่สำเร็จ ทั้งสองทีมเดินหมากกดดันคู่แข่งหลายครั้งแต่ปิดเกมไม่ได้ เควียทคอฟสกี้เฟดไปในช่วงสุดท้าย และสแตนนาร์ดกับโทมัสก็ไม่มีบทบาทในช่วงสำคัญ มีแค่ลุค โรว์น้องใหม่ของทีมที่ติด top 10 ส่วน Quickstep เองก็ยังขาดกัปตันตัวจริง ทั้งแวนเดนเบิร์ก สตีบาร์ มาร์ติน และเทิร์ปสตร้าเคาน์เตอร์การโจมตีคู่แข่งและเข้ากลุ่มเบรคอเวย์ได้ แต่ไม่มีไพ่ใบสุดท้ายสำหรับปิดเกม (นั่นคือโบเน็นที่ฟอร์มไม่มาสักที)

สนามต่อไปที่ซากานอยากจะพิสูจน์ตัวเองให้ได้คือ Paris-Roubaix – รายการที่เขาสารภาพว่าไม่ถนัดเท่า Flanders และมีประวัติผลงานที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไร แต่ด้วยฟอร์มตอนนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ ในมุมกลับสนาม Roubaix วัดกันเรื่องความอึดมากกว่ากลยุทธ์ ทีมที่มีเอซหลายคนอาจจะได้เปรียบกว่าซากานที่ขาดตัวช่วย ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับ Sky, Trek และ Etixx-Quickstep ครับ

ในส่วนของ Tour of Flanders หญิงที่แข่งกันก่อนหน้า แชมป์ตกเป็นของลิซซี่ อาร์มิสเตด แชมป์โลกหญิงจากอังกฤษจากทีม Boels-Dolmans ที่สปรินต์เอาชนะเอ็มม่า จอห์นสัน (Wiggle-High5) ไปอย่างเฉียดฉิว นอกจากจะเป็นแชมป์โลกและแชมป์ Flanders แล้ว ปีนี้เธอยังชนะ Omloop, Strade Bianche, และ Trofeo Alfredo Binda ด้วยวัยเพียง 27 ปีเท่านั้น

ผลการแข่งขัน

วิดีโอไฮไลท์ (ชาย)

วิดีโอไฮไลท์ (หญิง)

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *