เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ปีที่แล้วผมเคยเขียนถึงเรื่องความตกต่ำของคัมปัญโญโล่ ผู้ผลิตอะไหล่จักรยานชื่อดังจากอิตาลี ซึ่งสวนทางกับการเติบโตและผูดขากตลาดของ Shimano คู่แข่งคนสำคัญจากญี่ปุ่น สัปดาห์นี้เราจะมาดูภาคธุรกิจของ Shimano ผู้ผลิตอะไหล่จักรยานเบอร์หนึ่งของโลกและอิทธิพลที่เขามีต่อวงการจักรยานกันครับ

ถ้าคุณสังเกตอะไหล่จักรยานเสือหมอบโดยเฉพาะชุดขับเคลื่อน แทบ 90% ในตลาดเมืองไทยและต่างประเทศจะเป็นชุดขับของ Shimano (ชิมาโน่)   ลองดูข้อมูลส่วนแบ่งตลาดจากบริษัท Credit Suisse ที่วิเคราะห์หุ้นของ Shimano เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ (อ่าน report ได้ที่ลิงก์นี้)

global-sports-bike-market-share

สังเกตว่า Shimano กินส่วนแบ่งตลาดอะไหล่จักรยานเกือบทั้งหมด ตามตัวเลขแล้ว Shimano คือธุรกิจจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในโลกครับ ด้วยรายได้ 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2015 เทียบกับรายได้ของ Giant Bicycles ผู้ผลิตจักรยานอันดับหนึ่งของไต้หวันที่ 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีเดียวกัน

มูลค่าหุ้น Shimano อยู่ที่ 18,220 เยนต่อหนึ่งหุ้น มูลค่าเพิ่มจากปีที่แล้ว +4.3%

 

Shimano ผูกขาดตลาดยังไง?

shimano-1

เหตุผลแรกที่ทำให้ Shimano กลายเป็นมหาอำนาจชี้นำชะตาวงการจักรยานนั้นต้องย้อนกันไปหลายทศวรรษครับ

Shimano ก่อตั้งในปี 1921 ในเมืองซะไกในจังหวัดโอซาก้า และเป็นผู้เชี่ยวชาญในการแปรรูปเหล็กให้เป็นอะไหล่จักรยาน เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตสินค้าจักรยานที่เก่าแก่ที่สุดในโลกและผลิตสินค้าคุณภาพมาตลอด แต่จุดเปลี่ยนผ่านคือยุค 1980s ที่บริษัทจักรยานแทบทุกแบรนด์เปลี่ยนฐานการผลิตจักรยานมาที่ไต้หวัน ทำให้ Shimano สามารถลดต้นทุนการขนส่งอะไหล่ไปประกอบเป็นคันจักรยานได้เป็นจำนวนมาก

จากแต่เดิมที่ต้องกระจายสินค้าไปโรงงาน OEM ทั่วโลก ก็เปลี่ยนเป็นการส่งไปเพียงไต้หวัน ต้นทุนระบบการจัดส่งสินค้าที่ลดลงมหาศาลทำให้คู่แข่งอย่างคัมปัญโญโล่ที่ผลิตแต่สินค้าไฮเอนด์และมีไลน์สินค้าน้อย ไม่สามารถสู้เรื่องราคาและการกระจายตลาดได้เลย จังหวะนั้น Shimano ขยายประเภทสินค้าที่ตัวเองผลิต มีทั้งอะไหล่ ชุดขับ ล้อ จักรยานเสือหมอบ เสือภูเขา จักรยานแม่บ้านทั่วไป จนสามารถยึดหัวหาดเป็นผู้นำทั้งด้านประสิทธิภาพและราคาได้ในที่สุด

 

The Japanese Giant

shimano-2

หากจะเปรียบเทียบ Shimano ก็คงเหมือนกับนาฬิกา Seiko ผู้ผลิตกลไก Quartz ที่ทั้งแม่นยำและราคาถูกกว่านาฬิกากลไกจักรกลราคาแพงจากสวิสเซอร์แลนด์ นาฬิกาอย่าง Omega และ Rolex อาจจะเปรียบได้กับคัมปัญโญโล่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราว ภาพลักษณ์อันหรูหราและราคามหาโหด แต่ก็ไม่สามารถต่อกรกับเทคโนโลยีการผลิตระดับมหาภาคของ Shimano และ Seiko ที่ได้สินค้าประสิทธิภาพใกล้เคียงกันในราคาถูกกว่าหลายเท่า

ถึงจะขาดภาพลักษณ์ไฮเอนด์ แต่มันก็ทำให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีจักรยาน (และนาฬิกา) ระดับสูงได้ง่ายขึ้น และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม Shimano ถึงมีรายได้ปีละสามพันล้านดอลลาร์สหรัฐในขณะที่คัมปัญโญโล่ยังเป็นแค่ธุรกิจครอบครัวกับพนักงานไม่ถึงสองร้อยชีวิต

อิทธิพลในตลาดของ Shimano นั้นมากเกินกว่าที่ผู้บริโภคธรรมดาจะเข้าใจได้ สินค้าใหม่ระดับไฮเอนด์ของ Shimano ที่วางจำหน่ายทุกรอบ 3–4 ปีนั้นสามารถบังคับรอบการผลิตจักรยานของทุกแบรนด์ในโลก ลองหยุดคิดตรงนี้สักสิบวินาที….

จักรยานจะไม่เป็นจักรยานที่ใช้งานได้ถ้าไม่มีอะไหล่… แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อมีผู้ผลิตอะไหล่ที่สามารถชี้ขาดมาตรฐานวงการได้?

นักออกแบบจักรยานต้องออกแบบรถให้รองรับการทำงานกับชุดขับของ Shimano และในทุกๆ ปีก็ต้องคอยสั่งซื้อและออกสเป็คจักรยานใหม่ให้มีอะไหล่ของ Shimano รุ่นล่าสุดก่อนแบรนด์อื่นๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคยอมจับจ่ายอัปเกรดหรือซื้อจักรยานของตัวเองที่มากับเทคโนโลยีล่าสุด เหตุผลนี้ทำให้ร้านจักรยานหลายๆ ร้านทั่วโลกยอมทิ้งแบรนด์ที่ตัวเองถืออยู่หากแบรนด์ใหม่สามารถส่งจักรยานที่มากับอะไหล่รุ่นใหม่ของ Shimano ได้เร็วกว่า

 

ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้

shimano-3

ราคาของจักรยานแต่ละคันนั้นแทนที่จะถูกกำหนดด้วยภาพลักษณ์ของแต่ละแบรนด์เอง กลายเป็นว่าทุกแบรนด์ต้องพยายามตั้งราคาจักรยานแต่ละรุ่นตามระดับอะไหล่ของ Shimano — ถ้าแบรนด์ A มาพร้อมกับชุดขับเคลื่อนเสือหมอบรุ่นท็อป Shimano Dura-Ace เขาต้องพยายามตั้งราคาให้เทียบเท่ากับเสือหมอบของแบรนด์อื่นที่ใช้ชุดขับเคลื่อนเดียวกัน ถึงแม้ว่าแบรนด์ A จะเหนือกว่าแบรนด์คู่แข่งในด้านอื่นๆ ผู้บริโภคส่วนมากในตลาดยอมไม่ซื้อแบรนด์จักรยานที่ตัวเองชอบ หากแบรนด์คู่แข่งให้อะไหล่ Shimano มากับรถในราคาที่ถูกกว่า

ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ Shimano ผูกขาดตลาดได้สุดท้ายแล้วอยู่ที่คุณภาพครับ Shimano ใช้กลยุทธ์การผลิตสินค้าระดับเรือธงราคาสูงเพื่อดึงดูดนักปั่นที่สามารถจ่ายราคาแพงได้ (สินค้าไฮเอนด์ของ Shimano ไม่ได้ถูกไปกว่าแบรนด์คู่แข่งเท่าไรนัก) Shimano ไม่ปล่อยค่า R&D ให้เสียเปล่า เขานำเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาใช้กับสินค้าในระดับรองลงมาจนประสิทธิภาพรุ่นรองราคาเข้าถึงได้แทบจะไม่ต่างกับรุ่นท็อป จะต่างกันก็แค่หน้าตา ภาพลักษณ์ และการใช้งานระยะยาวเท่านั้น

กลยุทธ์นี้ทำให้ Shimano สามารถครองตลาดได้ทุกระดับตั้งแต่ระดับผู้เริ่มต้นไปจนถึงมืออาชีพ เพราะทุกคนที่ซื้อ Shimano มั่นใจได้ว่าเขาจะได้ประสิทธิภาพจักรยานที่ดีไม่แพ้ตัวเลือกจากแบรนด์อื่นๆ

 

อำนาจของเงิน

Not today, kid.
Not today, kid.

เมื่อมีโกไลแอท ก็ต้องมีเดวิด แต่มหากาพย์กรุ๊ปเซ็ตเรื่องนี้ เดวิดยังโค่นยักษ์ไม่ได้ครับ อีกหนึ่งเหตุผลที่ Shimano เป็นเจ้าของตลาดอะไหล่จักรยาน ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีการผลิตและขนาดที่เหนือกว่าคู่แข่งอย่างเดียวแต่ยังมีกลยุทธ์ อีกหลายอย่างที่ใช้ขวางประตูไม่ให้คู่แข่งรายอื่นได้เติบโต

ย้อนไปปี 1991 ที่ SRAM เพิ่งจะกระโดดเข้ามาในวงการอะไหล่จักรยาน SRAM เปิดเกมด้วยการยื่นขอศาลให้ตรวจสอบการผูกขาดตลาดของ Shimano (Anti-trust Lawsuit) ถึงทั้งคู่จะจบคดีด้วยการยอมความนอกศาล แต่หลังจากนั้นก็มองหน้ากันไม่ติดอีกเลย โดยที่ SRAM ไม่สามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด ทั้งแบบค้าปลีกและในแบบ B2B (OEM) จาก Shimano ได้ในระดับที่น่าพอใจ

แน่นอนครับ เมื่อมีทรัพย์ชีวิตย่อมสะดวก Shimano ใช้ทุนที่หนากว่าในการกว้านสปอนเซอร์โปรทีมให้ใช้อุปกรณ์ของตัวเอง โดยมีข้อแม้ที่เข้มงวดกว่าสปอนเซอร์รายอื่นๆ ตรงที่ หากคุณต้องการให้ Shimano สปอนเซอร์ คุณต้องใช้ของของเราเกือบทั้งหมด นั่นหมายถึง กรุ๊ปเซ็ต ล้อ แฮนด์ สเต็ม และในอนาคตอาจจะมีพาวเวอร์มิเตอร์ด้วย แต่เราไม่ได้ขอให้คุณใช้ฟรีๆ เพราะเราจะจ่ายเงินให้คุณมากกว่าสปอนเซอร์รายอื่นอีกต่างหาก

Trainingscamp Giant - Alpecin 2015

ในฤดูกาล 2017 Shimano จะสปอนเซอร์ทีมดิวิชัน 1 ในระดับ UCI WorldTour อย่างน้อย 13 ทีมจากทั้งหมด 18 ทีม (Cyclingnews) SRAM สปอนเซอร์แค่ Katusha ทีมเดียว และคัมปัญโญโล่สปอนเซอร์ 3 ทีม — Movistar, Lotto-Soudal และ TJ Sport

 

My backyard is not yours to sit on.

การผูกขาดของ Shimano ในตลาดอะไหล่จักรยานดูจะแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการพัฒนาสายการผลิต การกระจายสินค้า และเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง ทำให้การเข้ามาของผู้เล่นใหม่เป็นเรื่องยากจนแทบเป็นไปไม่ได้ สินค้าใหม่ๆ จาก FSA, SRAM, Rotor และคัมปัญโญโล่ในรอบ 3–4 ปีที่ผ่านมาก็ดูจะขายได้แต่เพียงกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์จำนวนน้อย แต่ก็อย่างว่าหละครับ ความสำเร็จนี้ไม่ได้มาจากความฟลุ๊กหรือสินค้าเด็ดๆ ไม่กี่ตัว แต่เป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องและความหลักแหลมทั้งด้านยุทธศาสตร์ธุรกิจและเทคโนโลยีจากค่ายญี่ปุ่นร่วม 100 ปีที่ทำให้ Shimano เป็นราชันย์แห่งวงการจักรยานได้อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้

CEO ของ SRAM สรุปสถานการณ์ปัจจุบันได้ดีที่สุดครับ เขากล่าวว่า

Shimano ก็เหมือนกับ IBM ในยุค 80s และ 90s — ลูกค้า (ผู้ผลิตจักรยาน) เลือก Shimano เป็นมาตรฐาน เขาจะเลือกเราก็ต่อเมื่อเรามีสินค้าที่ดีกว่าเท่านั้น

* * *

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเดือนตุลาคม 2559 ในคอลัมน์ The Inside Line

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

1 comment

  1. ชอบบทความนี้มากครับ แค่Shimanoออก BB86 มาจักรยานครึ่งค่อนโลกก็ต้องใช้กระโหลกแบบนี้

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *