พาเที่ยว Cycle Mode International ตอนที่ 3: ของที่หาดูได้เฉพาะญี่ปุ่นเท่านั้น

จักรยาน Panasonic คันนี้น่าสนใจมาก เพราะเป็นจักรยานแข่งขันรายการ Japan Bike Technique 2019 ซึ่งไม่ใช่การแข่งขันธรรมดา ๆ แต่มันคือการแข่งขันของทีมผู้ผลิตจักรยานแฮนด์เมด แต่ละทีมประกอบด้วยนักปั่นและผู้ผลิตจักรยานรายย่อย นักแข่งจะต้องใช้จักรยานที่เพื่อนร่วมทีมสร้างขึ้นมาเท่านั้น เพื่อแข่งสไตล์แรลลี่เก็บเช็คพอยต์ บนเส้นทางหินกรวดสุดทรหด ปีล่าสุดไปแข่งกันที่เมืองทาคายามะ จังหวัดกิฟุ ทั้งขึ้นเขาลงห้วย แน่นอนว่าคนชนะก็ต้องขาแรงเหมือนรายการอื่น ๆ นั่นแหละ แต่ในขณะเดียวกัน จักรยานก็ต้องอเนกประสงค์พอด้วย พกเสบียงได้ไหม ติดกระเป๋าได้แค่ไหน ทนเส้นทางโหด ๆ ได้หรือเปล่า เป็นงานแข่งเพื่อโปรโมตช่างฝีมือรายย่อยว่า งานศิลปะเหล่านี้ใช้งานได้จริงนะ

หลังจากเกริ่นนำงาน Cycle Mode International ไปแล้วในตอนที่ 1 และพาไปดูสินค้าจัดแสดงในตอนที่ 2 เราก็มาถึงตอนสุดท้าย ตอนที่ 3 ซึ่งเป็นของเด็ดสุดที่ผมเก็บไว้ท้ายสุดแล้วล่ะครับ นั่นก็คือ สินค้าจากแบรนด์ญี่ปุ่นนั่นเอง ในมุมมองผม บูธเหล่านี้ทำให้งาน Cycle Mode มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนงานจัดแสดงสินค้าที่ไหน ถ้าไม่ได้เห็นที่นี่ก็ไม่น่าได้เห็นที่อื่นแล้ว มีทั้งโรงเรียนจักรยาน จักรยานแฮนด์เมด สินค้าจิปาถะอื่น ๆ ไปจนถึงการเปิดตัวสินค้าใหม่ของ global brand (ที่สัญชาติญี่ปุ่น) ในงานเป็นที่แรก! ข้อสุดท้ายนี่ผมว่าพิเศษหน่อย ๆ เพราะงาน Eurobike ซึ่งเป็นงานนิทรรศการจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นจัดก่อน Cycle Mode แค่เดือนเดียว ใครมีของใหม่อะไรก็มักจะไปแสดงในงานนั้นหมดแล้วนั่นเองครับ

ไปชมกันเลย

  • Yonex Aeroflight นี่พี่คูนเขียนบทความแยกไปแล้วเรื่องหนึ่งก็จะขอผ่านไปอย่างรวดเร็ว
  • เฟรมทุกเฟรมผลิตที่จังหวัดนีกาตะ ที่เดียวกับไม้เทนนิสและไม้แบด น้ำหนักแค่ 830 กรัมเท่านั้นสำหรับเฟรมเปล่า เบามากเมื่อเทียบกับเฟรมแอโร่ด้วยกัน
  • ส่วนอันนี้ Yonex Carbonex เฟรมจักรยานแรกที่ Yonex ทำออกมาขาย น้ำหนักเบาหวิว เทียบชั้น Cervelo RCA หรือ Canyon Ultimate CF EVO ได้เลย
  • ยาง Panaracer นี่เป็นแผนกหนึ่งของอาณาจักร Panasonic และไลน์อัพ Race Evo ก็ได้อัพเกรดเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว ผลิตในญี่ปุ่นทุกเส้นเช่นเดิม เปิดตัวไปช่วงเดือนเมษาปีนี้ สำหรับ Race A (All-round) กับ Race D (Durable) ได้อัพเดตมาใช้เนื้อยาง ZSG สูตรใหม่ซึ่งลดแรงต้านทานการหมุน 10% จาก Evo 3 แต่ไฮไลท์ที่สำคัญกว่านั้นคือมีรุ่นทิวบ์เลสให้เลือกแล้ว คือ Race A Evo 4 TLC ซึ่งเป็นยางทิวบ์เลสสำหรับเสือหมอบเส้นแรกของ Panaracer (ไม่ได้อยู่ในภาพนี้ สอบถามจนท.ประจำบูธบอกว่าของหมด ฮา)
  • ส่วน Race L (Light) สำหรับไทม์ไทรอัลหรือฮิลล์ไคลม์ถูกยกเลิกไปในรุ่นที่ 4 แต่มีรุ่นขอบแก้ว Race C (Classic) เข้ามาเพิ่ม (ไม่ได้มาแทนที่เพราะคนละจุดประสงค์กัน) Classic ในที่นี้หมายถึงเน้นการยึดเกาะถนนในสภาพถนนเปียก (แบบสนามคลาสสิค Tour of Flanders เป็นต้น เปียก ๆ หนาว ๆ) ตรงไหล่ยางมีดอกยางละเอียดเพื่อช่วยการยึดเกาะ เมื่อเทียบกับ Race A กับ Race D ซึ่งเป็นยางสลิคทั้งเส้น
  • วิทยาลัยเทคนิคจักรยานโตเกียว มีสอนทั้งสอนเป็นเมคานิคจักรยาน (พรีเซนเตอร์คนนึงของ GCN Japan ก็สอนอยู่ที่นี่) และสอนการทำจักรยานแฮนด์เมดด้วย
  • เช่นเสือหมอบคันนี้เป็นต้น ก็เป็นผลงานของนักเรียนจากวิทยาลัยนี้
  • แน่นอนว่าเป็นวิทยาลัยเทคนิคจักรยานก็ย่อมมีสอนมากกว่าแค่ต่อเฟรมเสือหมอบ ตรงนี้เป็นบูทจักรยานไฟฟ้าซึ่งทรงแปลกตาสุด ๆ ล้อหน้าทัวร์ริ่งล้อหลังแฟตไบค์คืออะไร ฮา
  • จักรยานเสือหมอบแทนเด็มไฟฟ้า เอาจักรยานสามประเภทมาฟิวชั่นกันได้เป็นคันนี้
  • เดินมาอีกเล็กน้อยเจอมุมจักรยานแฮนด์เมดญี่ปุ่น เจอ Cherubim Cento Racer ตั้งตระหง่านอยู่ คันนี้ใช้ท่อลิมิตเต็ด Columbus Cento รุ่นฉลองครบรอบ 100 ปีบริษัท Columbus มาสร้างเป็นจักรยานด้วยชื่อเดียวกัน
  • ส่วนคันนี้คือ Cherubim Sticky ซึ่งใช้ท่อล่างขนาดเล็กเป็นพิเศษ (25.4 มม.) เพื่อขับเน้นคุณลักษณะการให้ตัวและความยืดหยุ่นของท่อเหล็ก เจาะตลาดไบค์แพ็กกิ้งและออแดกซ์
  • อีกด้านหนึ่งเป็นจักรยาน Ogre จากเกียวโต ความเชี่ยวชาญของเขาคือการเชื่อมท่อโลหะเข้าหากัน ทำท่อโค้ง ๆ ด้วยการเอาท่อสั้น ๆ มาต่อกันหลาย ๆ ท่อแทนที่จะเอาท่อยาว ๆ มาบิด เฟรมเสือหมอบคันนี้ไม่ได้โชว์ทักษะนั้นมากนัก แต่โชว์อีกเอกลักษณ์นึงของผู้ผลิตรายนี้คือการให้สีแบบดิบ ๆ ด้วยสีเหล็กที่เพิ่งโดนอ๊อกใหม่ ๆ
  • ดูใกล้ ๆ แล้วสวยงามมาก ๆ
  • Made in Japan พร้อมเส้นร่างของศาลาวัดโทจิ ซึ่งเป็นไอคอนของเมืองเกียวโต
  • ที่ว่าถนัดงานเชื่อมเหล็กก็ดังเช่นที่แสดงในคันนี้ หน้าตาเหมือนหุ่นยนต์จากยุค 90’s
  • ท่อคาร์บอน ข้อต่อเหล็ก สีดำด้าน ทั้งโมเดิร์น ทั้งคลาสสิค คันนี้จาก Macchi Cycles จังหวัดชิกะ
  • งานปรานีตสวยงามมาก ๆ
  • Handmade by Maki Ueda http://www.macchicycles.com/
  • เฟรมกราเวลสีส้มตัดกับเหล็กขัดเงาคันนี้จาก Toyo Frame
  • head badge สวย และการขัดเงาก็เงาวิ้งจริง ๆ
  • จักรยาน Panasonic คันนี้น่าสนใจมาก เพราะเป็นจักรยานแข่งขันรายการ Japan Bike Technique 2019 ซึ่งไม่ใช่การแข่งขันธรรมดา ๆ แต่มันคือการแข่งขันของทีมผู้ผลิตจักรยานแฮนด์เมด แต่ละทีมประกอบด้วยนักปั่นและผู้ผลิตจักรยานรายย่อย นักแข่งจะต้องใช้จักรยานที่เพื่อนร่วมทีมสร้างขึ้นมาเท่านั้น เพื่อแข่งสไตล์แรลลี่เก็บเช็คพอยต์ บนเส้นทางหินกรวดสุดทรหด ปีล่าสุดไปแข่งกันที่เมืองทาคายามะ จังหวัดกิฟุ ทั้งขึ้นเขาลงห้วย แน่นอนว่าคนชนะก็ต้องขาแรงเหมือนรายการอื่น ๆ นั่นแหละ แต่ในขณะเดียวกัน จักรยานก็ต้องอเนกประสงค์พอด้วย พกเสบียงได้ไหม ติดกระเป๋าได้แค่ไหน ทนเส้นทางโหด ๆ ได้หรือเปล่า เป็นงานแข่งเพื่อโปรโมตช่างฝีมือรายย่อยว่า งานศิลปะเหล่านี้ใช้งานได้จริงนะ
  • การเชื่อมท่อเนี้ยบมาก
  • และลายสีเหลี่ยมขนมเปียกปูนบนจักรยานก็สวยมากเช่นกัน
  • ไม่นึกว่าจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ใหม่เปิดตัวในงาน แต่เดินมาบูธ Cateye แล้วเจอไฟท้ายหน้าตาไม่คุ้นจัดแสดงอยู่ ปรากฏเป็นของใหม่จริง ๆ ด้วย (ในเว็บไซต์ยังไม่มีข้อมูลเลย) ในภาพนี้คือ Tight Kinetic ซึ่งมีคุณสมบัติคือกันน้ำดีเยี่ยม (IPX7) ใช้ถ่านไฟฉาย AA สองก้อน และมี accelerometer ในตัว เวลาเบรคจะเปลี่ยนจากไฟกระพริบเป็นไฟเปิดแช่ให้อัตโนมัติเพื่อส่งสัญญาณกับผู้ใช้ถนนคนอื่นว่าเรากำลังชะลอ ข้อสุดท้ายเรื่องไฟเบรคนี่ Cateye ทำฟังก์ชั่นนี้ให้หลายรุ่นแล้ว แต่ที่ผมชอบเป็นพิเศษคือถ่าน AA มากกว่า เพราะหลัง ๆ มานี้ผู้ผลิตหันมาทำไฟจักรยานด้วยแบต Li-Polymer ฝังใน ชาร์จด้วย USB กันมาก ซึ่งผมไม่ชอบเท่าไรเพราะความจุมันน้อย ประมาณ 30-50 ชม.เท่านั้นเอง ต้องชาร์จบ่อย ส่วน Tight Kinetic ตัวนี้ เคลมอายุ 180 ชั่วโมง พอ ๆ กับไฟมะขามของ Cateye ที่คนฮิต ๆ กันเมื่อก่อน
  • นอกจากอุปกรณ์จักรยานแล้ว จังหวัดต่าง ๆ ก็มาออกบูธดึงลูกค้าเข้าจังหวัดกันครึกครื้น Boso Bicycle Base คือโปรเจ็คที่การรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่น (JR) ลงมาเล่นตลาดจักรยานด้วยการใช้ทรัพย์สินที่ตัวเองมีอยู่แล้ว คือทางรถไฟและขบวนรถไฟ โดยปรกติแล้ว นักจักรยานสามารถเอาจักรยานขึ้นรถไฟได้ก็จริง แต่กฎระเบียบคือต้องถอดประกอบให้กะทัดรัดแล้วคลุมด้วยถุงจักรยานให้มิดชิด แต่โปรเจ็คนี้เป็นโปรเจ็คแรกที่ JR East ดัดแปลงตู้รถไฟให้ขนส่งจักรยานได้เป็นพิเศษ​ สามารถเข็นเข้าไปได้ทั้งคันไม่ต้องถอดไม่ต้องคลุมอะไรทั้งสิ้น ปลายทางคือแหลมโบโซ จังหวัดจิบะ ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจยอดนิยมแห่งหนึ่งของคนกรุง มีการแข่งจักรยานและไตรกีฬาเป็นประจำ
  • อาโอโมริก็มาโปรโมต เป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากปั่นไปเก็บแอปเปิลกิน ฮา
  • Eight ก็มาออกบูธกับเขาด้วย บริษัท Eight นี่เป็นบริษัทที่เฉพาะทางมาก ผลิตสินค้าประเภทเดียวเท่านั้น คือประแจหกเหลี่ยม (ปีหลัง ๆ นี้ทำประแจ Torx เพิ่มมาอีกอย่าง) นอกนั้นไม่มีอย่างอื่นอีกเลย ไขควง คีม อะไรไม่ทำทั้งนั้น มีกระทั่งรับทำประแจหกเหลี่ยมขนาดคัสตอมสำหรับลูกค้าอุตสาหกรรม! แน่นอนว่าบริษัทที่มุ่งมั่นทำสินค้าแค่ชนิดเดียวอย่างนี้ ทำสิ่งเดียวนั้นได้เลิศเสมอ ด้วยน็อตจักรยานส่วนใหญ่เป็นน็อตหกเหลี่ยม ตลาดจักรยานจึงเป็นลูกค้ากลุ่มสำคัญ ผมเองก็ใช้ประแจ Eight อยู่เหมือนกัน (เมื่อหลายปีก่อนก็แอบสังเกตว่าช่าง Bike Zone ก็ใช้) ถึงจะแพงแต่ทน มาตรฐานการผลิตเยี่ยม ไม่เคยทำให้น็อตผมเกลียวหวานเลยสักครั้ง
  • สินค้าที่อินดี้ที่สุด ชิคที่สุดในงาน ขอยกให้ Windracer ตัวนี้ของบริษัท Showa Denki ซึ่งปรกติทำพัดลมดูดควันสำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ไม่รู้อะไรดลใจให้เอาความชำนาญเรื่องพัดลมมาทำพัดลมสำหรับปั่นเทรนเนอร์ !!
  • ก็นั่นล่ะครับ มีให้ลองปั่นเทรนเนอร์ในบูธแล้วเอาพัดลมของบริษัทเป่า ให้เห็นกันชัด ๆ ไปเลยว่าเย็นสบายดีมั้ย ต่อไปนี้ก็ไม่ต้องปั่น Zwift ร้อน ๆ แล้วล่ะครับ เอาพัดลมโรงงานเป่าจ่อเลย

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott