เปิดตัว: Giro Aether MIPS หมวกรุ่นเรือธงที่จะมาแทน Synthe

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้ผลิตหมวกนิรภัย Giro ได้เปิดตัวหมวกรุ่นใหม่ซึ่งอยู่ในตำแหน่งเรือธงแทนที่ Giro Synthe ชื่อว่า Aether MIPS โดยมีคุณสมบัติชูโรงคือเทคโนโลยี MIPS รุ่นล่าสุดซึ่งแทรกชั้นกันกระแทกไว้ระหว่างโฟมแทนที่จะอยู่ติดศีรษะ ทั้งยังเคลมว่าแอโร่กว่าและระบายอากาศได้ดีกว่า Synthe อีกเล็กน้อย

I. MIPS

สำหรับผู้อ่านที่ยังไม่คุ้นเคย MIPS นั้นย่อมาจาก Multidirectional Impact Protection System หรือแปลตรงตัวว่า ระบบป้องกันการกระแทกจากหลายทิศทาง ซึ่งเกิดขึ้นจากประสาทศัลยแพทย์ชาวสวีเดนคนหนึ่งที่สังเกตว่าเขาต้องผ่าตัดระบายเลือดในศีรษะผู้ป่วยอุบัติเหตุทั้ง ๆ ที่สวมหมวกนิรภัยขณะเกิดเหตุ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

นั่นก็เพราะสมองคนเรานั้นไม่ได้เป็นอวัยวะแข็ง ๆ ที่ถูกยึดแน่นฟิตเปรี้ยะอยู่ในกะโหลก แต่เป็นก้อนหยุ่น ๆ เหมือนเต้าหู้ที่ลอยอยู่ในน้ำถั่วเหลืองที่เรียกว่าน้ำไขสันหลังต่างหาก แล้วก้อนเต้าหู้ที่ว่านี้ก็ถูกขึงให้อยู่กับที่ด้วยเส้นเลือดและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่าง ๆ อีกที โดยมีพื้นที่ให้มันขยับไปมาได้นิดหน่อย

เมื่อศีรษะกระแทกอย่างรุนแรง พื้นที่ว่างในกะโหลกจะทำให้สมองเคลื่อนไปข้างหน้าก่อนจะกระแทกเข้ากับกะโหลกอีกที เหมือนเวลารถยนต์ชนแล้วคนขับพุ่งไปอัดพวงมาลัยนั่นเอง การบาดเจ็บเกิดได้สองแบบใหญ่ ๆ คือ ณ ตำแหน่งที่ศีรษะกระแทก และตำแหน่งที่อยู่ตรงข้ามกับจุดกระแทก เพราะเมื่อสมองพุ่งไปหน้า มันจะทำให้เส้นเลือดและเซลล์ประสาทที่อยู่ตรงข้ามฉีกขาดจากการโดนดึงรั้งไปด้วย (contrecoup (คอง-เทรอ-คู) injury ในภาพด้านล่าง)

By Patrick J. Lynch, medical illustrator, via Wikimedia Commons

กลับไปที่ประสาทศัลยแพทย์ชาวสวีเดน เขาและทีมวิศวกรที่ร่วมงานด้วยพบว่าการกระแทกที่มีการถากด้วยเป็นการกระแทกที่พบบ่อยมากในชีวิตจริง บ่อยกว่าการกระแทกแบบตรง ๆ ที่ 90 องศา และการกระแทก+ถากนี้จะทำให้เกิดเลือดออกในสมองได้บ่อย ถึงแม้ว่ากะโหลกจะไม่แตกก็ตาม เขาและทีมวิศวกรจึงได้พยายามหาวิธีป้องกันเลือดออกในสมองให้ได้ดีกว่าหมวกโพลีสไตรีนแบบดั้งเดิม จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า MIPS ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วเป็นแผ่นพลาสติกแผ่นหนึ่งที่อยู่ชิดกับศีรษะเรา แล้วตัวมันยึดกับโครงหมวกด้วยโพลีเมอร์หยุ่น ๆ อีกที แนวคิดคือช่วยดูดซับแรงกระแทกชนิดหมุนหรือไถลให้ดีขึ้น

และดูเหมือนว่าทางบริษัท MIPS จะทำการบ้านมาดีทีเดียว เพราะเทคโนโลยี MIPS ถูกเช่าใช้สิทธิบัตรแล้วนำไปใส่กับหมวกนิรภัยหลากหลายรุ่นจากหลากหลายผู้ผลิต และไม่จำกัดเพียงเฉพาะหมวกจักรยาน ยังมีหมวกสกีและหมวกจักรยานยนต์อีกด้วย อีกทั้งมหาวิทยาลัย Virginia Tech ก็ได้ร่วมมือกับ IIHS เพื่อทดสอบความปลอดภัยของหมวกนิรภัยแล้วพบว่าหมวกที่ใช้เทคโนโลยี MIPS หลายใบผ่านการทดสอบด้วยคะแนนสูงสุด

แต่ปัญหาของแผ่น MIPS ดั้งเดิมก็ยังมีอยู่บางประการ คือ 1. บางครั้งมันใหญ่จนไปบังช่องรับลม ทำให้ระบายอากาศได้ไม่ดี 2. การเติมชั้นพลาสติกและอีลาสโตเมอร์เข้าไปในหมวกที่ถูกผลิตมาก่อนหน้าทำให้ไซส์เปลี่ยน (ฟิตกว่าเดิม) และ 3. มันกินเส้นผมเวลาถอดออก

ในครั้งนี้ Giro จึงได้ร่วมมือกับ MIPS เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวให้ดีกว่าเดิม โดยย้ายชั้นของโพลีเมอร์หยุ่น ๆ ไปไว้กึ่งกลางระหว่างโครงโฟมโพลีสไตรีนแทน เรียกเทคโนโลยีนี้ว่า MIPS Spherical เพื่อกำจัดทั้งสามปัญหาที่กล่าวไปก่อนหน้า โดยยังคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพการกันกระแทกแบบไถลและแบบหมุนอยู่เหมือนเดิม และโครงโพลีสไตรีนชั้นนอกกับชั้นในที่ว่านี้สามารถขยับระหว่างกันได้ประมาณ 15 มม.

II. เปรียบมวยกับ Giro Synthe

ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว Giro Aether MIPS ดูละม้ายคล้าย Synthe มาก ๆ และจะบอกว่าเป็น Synthe ที่ถูกนำมาพัฒนาต่อยอดก็ได้ โดยถูกวางตำแหน่งไว้เป็นหมวกเสือหมอบที่มีฟีเจอร์แอโร่ (แต่ไม่ใช่หมวกแอโร่เพียว อันนั้นคือ Giro Vanquish) สิ่งที่เปลี่ยนไปนอกจากใช้ MIPS Spherical แล้ว ก็ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ อีกเล็กน้อย ได้แก่

  1. ใช้โครงโพลีคาร์บอเนตโปร่งแสงแทนที่พลาสติกทึบเดิม เพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับช่องระบายอากาศขนาดใหญ่ อันนี้ผมว่าดูเท่มาก
  2. โลโก้ Giro เป็นทรงนูนต่ำ เท่อีกเช่นกัน
  3. มีช่องเก็บแว่นกันแดดเป็นสัดส่วน แถมมีแผ่นยางกันแว่นลื่นหล่นให้ด้วย
  4. ระบบปรับกระชับ Roc Loc เจเนอเรชั่นที่ 5 ซึ่งบอกว่าสามารถย้ายจุดสัมผัสให้ไม่สมมาตรซ้าย-ขวาได้ เผื่อกะโหลกซ้าย-ขวาที่ไม่สมมาตรกันเป๊ะ ๆ
  5. ระบายอากาศได้ดีกว่า Synthe 2.5% ลู่ลมกว่า 2.4% และน้ำหนักเบาลง 15 กรัม เหลือ 250 กรัม
  6. ไม่มีรุ่นที่ไม่มี MIPS เหมือน Synthe ที่มีทั้ง Synthe และ Synthe MIPS เนื่องจากหมวกใบนี้ถูกสร้างขึ้นมาก็เพราะ MIPS Spherical

รีวิวเบื้องต้นจาก CyclingTips บอกว่าใส่สบาย ระบายอากาศดี แต่ต้องระวังหมวกเบี้ยว เพราะสองเลเยอร์มันขยับระหว่างกันได้นิดหน่อย ให้ส่องกระจกก่อนออกจากบ้านด้วย (ฮา)

Giro Aether MIPS จะเริ่มวางจำหน่ายเดือน ส.ค. นี้ ราคาตั้งอยู่ที่ 260 ปอนด์ / 325 ดอลลาร์สหรัฐ / 299 ยูโร ราคาไทยรอประกาศครับ และ Giro Synthe จะถูกปรับลดราคาลง 50 ดอลลาร์สหรัฐแทนเพื่อให้สอดคล้องกัน

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *