ดูแข่งจักรยานยังไงให้สนุก – ตอนที่ 2: ทิศลมกำหนดกลยุทธ์

หลังจากเริ่มเข้าใจพื้นฐานของการแข่งไปแล้วในตอนที่ 1 วันนี้เราจะมาขยายความข้อ 1 ในบทความที่แล้วครับ นั่นก็คือเรื่องที่ว่าทำไมกระแสลมถึงมีผลต่อการแข่งจักรยาน

 

1. ลีดเอาท์ (leadout)

เท้าความฟิสิกส์พื้นฐานสักนิดหนึ่ง ในการปั่นจักรยานจะมีอยู่ 3-4 แรงที่ต้านไม่ให้เราเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ 1. แรงต้านอากาศ 2. ความต้านทานการหมุน (rolling resistance) และ 3. แรงเสียดทานในจุดหมุนต่างๆ เช่นชุดขับเคลื่อนและลูกปืน และถ้าทางเป็นเนินหรือเขาก็จะมีแรงที่ 4. คือแรงโน้มถ่วงครับ ในบรรดา 3-4 แรงนี้ แรงต้านอากาศมีผลสูงสุดเวลาปั่นทางราบที่ความเร็วสูง ๆ

ด้วยเหตุผลเดียวกับว่าทำไมนักจักรยานถึงต้องปั่นเป็นแถวหรือเป็นกลุ่ม (paceline/peloton) การทำความเร็วสูง ๆ ในระยะ 100–1,000 เมตรหน้าเส้นชัยนั้นเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบที่สุดในเรื่องนี้

เนื่องจากกำลังที่ต้องใช้ในการพาวัตถุหนึ่ง ๆ ผ่านของไหล (อากาศ) นั้นคิดเป็นถึงกำลังสามของความเร็ว นั่นหมายความว่าถ้าความเร็วเพิ่มขึ้น 2 เท่า กำลังที่ต้องใช้จะเพิ่มขึ้นเป็น 23 = 8 เท่าเลยทีเดียว

ถ้าที่ความเร็ว 30 กม./ชม. นักปั่นคนหนึ่งใช้กำลัง 100 วัตต์เพื่อฝ่าอากาศไปนั้น ที่ความเร็ว 60 กม./ชม. นักปั่นคนเดิมต้องใช้กำลังถึง 800 วัตต์ (เมื่อตัวแปรอื่น ๆ เหมือนเดิม)

ในการแข่งขันจักรยานที่นักปั่นจากหลาย ๆ ทีมพยายามไปถึงเส้นชัยให้ได้เป็นคนแรกนั้น แต่ละทีมจึงต้องใช้สมาชิกในทีมเพื่อค่อย ๆ พาสปรินเตอร์ในทีมไต่ระดับความเร็วไปเรื่อย ๆ เพราะการเกาะท้ายคนข้างหน้าจะช่วยประหยัดพลังงานคนข้างหลังได้มหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ความเร็วสูง ๆ เราเรียกสิ่งนี้ว่า ขบวนลีดเอาท์ (leadout)

บริษัทจักรยาน Specialized ซึ่งมีอุโมงค์ลมของตัวเอง เคยพาสปรินเตอร์และลีดเอาท์ของเขาจากทีมที่พวกเขาสนับสนุนมาทดสอบในอุโมงค์ลม โดยสปรินเตอร์คือ เฟอร์แนนโด กาวิเรีย และผู้ช่วยลีดเอาท์ของเขาคือ แมกซิมิลาโน่ ริเคเซ่ จากทีม QuickStep Floors และพวกเขาพบว่า ที่ความเร็ว 65 กม./ชม. นั้น การมีริเคเซ่ช่วยบังลมให้ จะช่วยกาวิเรียประหยัดพลังงานได้ถึง 418 วัตต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากในโลกจักรยาน

ในภาพด้านล่างได้ยกตัวอย่างการลีดเอาท์จากระยะ 400 เมตรโดยเพื่อนร่วมทีมสองคน คนแรกพาไต่ระดับความเร็วจาก 50 -> 55 กม./ชม. จากระยะ 400 -> 200 เมตร จากนั้นคนที่สองพาไต่ระดับต่อจาก 55 -> 60 กม./ชม. จากระยะ 200 -> 100 เมตร (เพราะยิ่งปั่นเร็วก็ยิ่งเปลืองแรง ดังนั้นยิ่งคนหลัง ๆ ก็ยิ่งระยะทำการสั้นลง ๆ) ก่อนจะพาสปรินเตอร์ “ไปส่ง” ที่ระยะ 100 เมตรหน้าเส้นชัย ให้เขาได้ชิงเส้นชัยกับสปรินเตอร์จากทีมอื่น ๆ ต่อไป

ความเร็วที่นักปั่นอาชีพสปรินต์ชิงเส้นชัยกันนั้นอยู่ที่ประมาณ 55–70 กม./ชม. ขึ้นกับทิศทางลม (ลมต้าน/ลมส่ง) และเส้นทาง (ทางราบ/ทางขึ้นเล็กน้อย/ทางลงเล็กน้อย) อย่างการสปรินต์ของอเล็กซานเดอร์ คริสทอฟ (UAE Team Emirates) ที่คว้าเส้นชัยที่ชอมป์-เซลิเซ่ได้เมื่อวานนั้น ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 63.6 กม./ชม.

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการแย่งตำแหน่งหัวขบวนของกลุ่ม peloton ในช่วง 1–2 กม.ก่อนเส้นชัยเป็นเรื่องสำคัญแล้ว การจับจังหวะว่าคนที่ 1 จะดีดตัวตอนไหน คนที่ 2 จะดีดตัวตอนไหน และคนสุดท้ายจะส่งสปรินเตอร์ที่กี่เมตรก่อนเส้นก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องอาศัยการซ้อมร่วมกันเป็นทีม ความสอดคล้อง และการชิงไหวพริบกันทั้งสิ้น

ข้างบนนี้เป็นวิดีโอประกอบการทำงานของขบวนลีดเอาท์ระหว่างการแข่งจักรยาน

 

2. ลมต้านและลมส่ง (headwind and tailwind)

นอกจากลมจะมีผลต่อการชิงชัยชนะหน้าเส้นชัยแล้ว มันยังมีผลต่อแทคติคการแข่งโดยรวมอีกด้วย

อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า นักปั่นที่รู้ว่าตนไม่ได้มีตีนปลายที่เร็วพอจะแย่งเส้นชัยกับเหล่าสปรินเตอร์ได้นั้น ก็ต้องอาศัยการเบรคอเวย์เพื่อสร้างระยะห่างระหว่างตนกับเหล่าสปรินเตอร์ให้ได้ เพื่อจะได้เข้าเส้นชัยก่อนที่ขบวนใหญ่ของสปรินเตอร์จะมาถึง

แต่การจะเบรคอเวย์ให้สำเร็จนั้น นอกจากเรื่องความสมัครใจของกลุ่มใหญ่ว่าจะยอมให้ใครขึ้นหน้าไปได้แล้วบ้าง ยังมีเรื่องของลมต้านและลมส่งเป็นปัจจัยกำหนดอีกด้วย

เวลามีลมต้าน คนที่หลบลมอยู่หลังคนอื่นจะได้เปรียบมาก สภาพลมเช่นนี้ไม่เอื้อต่อการเบรคอเวย์และการหนีรอดของกลุ่มเบรคอเวย์ เพราะคนที่หลบลมอยู่ในกลุ่มใหญ่จะเหลือพลังงานมาก คอยเวียนมาขึ้นหน้าเพื่อตั้งความเร็วสักพัก แล้วร่นไปอยู่หลังเพื่อฟื้นแรงได้ดีกว่า ในขณะที่กลุ่มเบรคอเวย์ซึ่งมีจำนวนน้อย วนคิวกันไม่นานก็กลับมาคนเดิมอีกแล้ว เราเรียกสถานการณ์นี้ว่า negative racing คือโจมตีกลุ่มใหญ่ไม่ได้ ออกโจมตีไปก็เปลืองแรงเปล่า ทุกคนก็เลือกปั่นกับกลุ่มใหญ่ไปเรื่อย ๆ จนจบสเตจ

สถานการณ์นี้เช่นในการแข่งขันแกรนด์ทัวร์ชื่อจิโรดิตาเลีย ปี 2017 สเตจ 5 ขึ้นเขาบล็อคเฮาส์ (Blockhaus) ซึ่งวันนั้นลมต้านเต็ม ๆ จึงแทบไม่มีใครออกหนีกลุ่มใหญ่เลย สุดท้ายเข้าเส้นเกือบพร้อมกันหมด

ในทางตรงกันข้าม หากมีลมส่งจากด้านหลัง การหลบลมอยู่ด้านหลังคนหน้าก็ยังช่วย แต่ไม่ได้มากมายเท่าตอนลมต้านอีกแล้ว ทุกคนก็ไปได้เร็วหมดไม่ว่าจะอยู่กับกลุ่มใหญ่หรือกลุ่มหนี ขึ้นกับเร็วมากหรือเร็วมาก ๆ แค่นั้น

ยกตัวอย่างเช่น ในภาวะลมต้าน การหลบหลังคนอื่นประหยัดพลังงานได้ 30% (เลขสมมุติ) ในภาวะลมส่ง อาจจะประหยัดไปเพียง 15% เพราะเคลื่อนที่เร็วมากอยู่แล้ว สถานการณ์แบบนี้เอื้อต่อการหนีกลุ่มใหญ่ ทำให้การเบรคอเวย์ทำได้ง่าย และโอกาสหนีรอดถึงเส้นชัยมีสูงกว่านั่นเอง

ในความเป็นจริง การแข่งขันจักรยานมักไม่ได้เคลื่อนที่จากทิศหนึ่งไปทิศตรงข้ามเพียงทิศเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ แต่เส้นทางอาจจะวนไปวนมาตามภูมิประเทศและถนน มีทั้งลมต้านและลมส่งสลับกันไป ดังนั้นทีมที่ตั้งใจจะหนีกลุ่ม ก็มักจะวางแผนกันตั้งแต่ตอนก่อนออกสตาร์ทว่าตั้งแต่กิโลเมตรเท่าไรถึงเท่าไรคือทำเลชัย มีลมส่งเหมาะกับการออกหนี เป็นต้น

 

3. ลมข้างและเอชเชล่อน (crosswind and echelon)

สิ่งสุดท้ายที่เข้าใจยากที่สุดและยังไม่ได้พูดถึงก็คือลมที่ไม่ได้พัดในทิศทางการเคลื่อนที่ แต่ว่ามาจากทิศตั้งฉากกับการเคลื่อนที่ เราเรียกทิศลมนี้ว่าลมข้าง

เมื่อมีลมพัดตั้งฉากกับการเคลื่อนที่ ตำแหน่งที่ประหยัดแรงที่สุดคือการอยู่ด้านหลังของคนหน้าและเฉียงไปทิศใต้ลม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าลมพัดจากด้านซ้าย ตำแหน่งที่เราควรอยู่คือด้านหลังเฉียงไปทางขวาของคนข้างหน้า จึงจะประหยัดแรงได้มากที่สุด

การปั่นเป็นแนวเฉียงตามทิศเหนือลม-ใต้ลมนี้เรียกว่า เอชเชล่อน (echelon) ซึ่งมีผลต่อการแข่งอย่างมาก เพราะมันสามารถทำให้กลุ่มขาดตอนได้

การทำให้กลุ่มขาดในช่วงลมพัดจากด้านข้างนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือกันของคนหลายคนในทีม

ทีมที่ต้องการจะโจมตีเปโลตองในสถานการณ์นี้นั้น ต้องมารวมตัวกันอยู่ที่ด้านหน้าของกลุ่มใหญ่พร้อม ๆ กัน จากนั้นก็ค่อย ๆ เร่งความเร็วขึ้นจากด้านหน้ากลุ่ม โดยให้ผู้ช่วยอยู่ทิศเหนือลม แล้วให้ผู้นำทีมอยู่ทิศใต้ลมเพื่อประหยัดแรง เกิดเป็นเส้นเฉียงขึ้นที่ด้านหน้าของกลุ่ม

ตรงข้ามกับเวลามีลมต้านที่คนข้างหลังก็แค่ต่อท้ายคนข้างหน้าไปได้เรื่อย ๆ เพราะถนนยาวไม่จำกัด การตั้งเส้นเฉียงแบบนี้กินที่ตามความกว้างของถนนด้วย และความกว้างของถนนก็มีจำกัด ดังนั้นถ้าให้เพื่อนร่วมทีมคนสุดท้ายของตนอยู่ติดขอบถนนแล้ว จะมีทีมอื่นมาต่อทแยงออกไปอีกไม่ได้ จะตกขอบถนน ใครจะเกาะไปด้วยก็ต้องไปตั้งแถวใหม่ ต่อท้ายแถวหน้าซึ่งไม่ได้ประหยัดแรง

จะเห็นว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในขบวนทแยงจะเปลืองแรงกว่ามาก เพราะรับลมข้างเต็ม ๆ และเพราะมันเปลืองแรงนี่เอง คนที่อยู่นอกขบวนทแยงที่ไม่ใช่สมาชิกทีมเดียวกัน มักเกี่ยงกันว่าใครจะบังลมให้อีกคน เพราะเราก็ย่อมไม่อยากบังลมให้คู่แข่งสบายอยู่แล้ว

ดังนั้นทีมที่ไม่ได้ระวังตัว ไม่ได้อยู่กระจุกกันใกล้ ๆ เมื่อมีลมข้างพัดผ่านเส้นทางแข่ง จึงมักตกเป็นเหยื่อของการกระชากกลุ่มให้ขาดในสถานการณ์แบบนี้ได้

โปรทีมมักเช็กทิศทางลมในวันที่แข่งขันไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ยิ่งในวันที่เส้นทางเป็นทางราบเปิดโล่ง พร้อมโดนกระแสลมทุกทิศทาง ทีมที่เชี่ยวชาญการปั่นเอชเชลอนมักหาจุดกระชากเปโลตอง โดยการส่งสมาชิกทีมขึ้นหน้ากลุ่มก่อนถึงแยกถนนที่ลมเปลี่ยนทาง เมื่อลมเปลี่ยนเป็นลมข้างแล้ว ทีมจะรีบเรียงขบวนเอเชลอน บังคับให้ทีมอื่นตกขอบถนน จนกลุ่มขาดในที่สุด

เหตุการณ์ที่โด่งดังมากของการโจมตีกลุ่มตอนลมข้างก็คือการแข่งขันตูร์เดอฟรองซ์ปี 2013 สเตจ 13 ที่เป็นสเตจทางราบแต่คริส ฟรูม (Team Sky) ซึ่งเป็นตัวเต็งรายการเสียเวลาให้กับคู่แข่งถึง 1 นาที 9 วินาที และอเลฮานโดร วาลเวอเด้ (Movistar) ตัวเต็งอีกคนเสียเวลาไปกว่า 9 นาที เพราะทีม Omega Pharma-QuickStep และ Saxo-Tinkoff ขึ้นมาทำความเร็วในช่วงลมข้างของสเตจ ทำให้กลุ่มใหญ่ถูกกระชากขาดเป็นกลุ่มเล็ก ๆ หลายกลุ่ม

อีกตัวอย่างเกิดขึ้นเมื่อสองปีที่แล้วใน Tour de France 2016 ที่ปีเตอร์ ซากานและมาซีจ์ บอดนาร์ จากทีม Tinkoff ขึ้นหน้าขบวนแล้วโจมตีกลุ่มระหว่างลมข้างพัดแรง คริส ฟรูมและเกอเรนท์ โทมัส (Sky) ไหวตัวทันเกาะหนีไปด้วย


ในตอนต่อไป เราจะมาอธิบายถึงวิธีการแข่งขันสเตจเรซ การนับแต้มในการแข่งขัน และลองฝึกอ่านเกมล่วงหน้าจากลักษณะเส้นทางในแต่ละวันกันครับ

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *